“หมอสุรโชค” เผย รพ.สระบุรีผู้ป่วยนอกล้น 3,000 รายต่อวัน ผู้ป่วยในเต็ม เตียงเสริมเตียงแทรกเพียบทะลุ 780 เตียง เกินศักยภาพบริการ มีไม่พอรองรับความต้องการของประชาชน แถมพยาบาลขาด 70 คน กระทบรักษาผู้ป่วย ล่าสุดปิดบริการ 1 ห้องผ่าตัด เหตุไม่มีพยาบาลประจำ ห่วงปี 2560 หลังอาคารผู้ปวยใหม่แล้วเสร็จ จะเปิดผ่าตัดไม่ได้ หากสถานการณ์พยาบาลยังเป็นปัญหา พร้อมขอ ปชช.-ผู้ป่วยเข้าใจ รพ.อยากให้บริการดีที่สุด ปรับปรุงแก้ไขบริการต่อเนื่อง แต่บางปัญหาต้องดูภาพรวมและแก้ไขระดับประเทศ
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่แล้ว รพ.สระบุรีมีผู้ป่วยนอกเข้ารับบริการอยู่ที่ 1,500 -1,800 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 2,800-3,000 คนต่อวัน และเพิ่มสูงสุดถึง 3,200 คนต่อวัน ทำให้ขณะนี้ รพ.สระบุรีมีปัญหาผู้ป่วยแออัดคับแคบมาก แม้แต่ที่ยืนยังไม่ค่อยมี เนื่องจาก รพ.สระบุรีถูกออกแบบรองรับดูแลผู้ป่วยนอกเพียงวันละ 1,000 คนต่อวันเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยในแต่เดิมรองรับเพียงแค่ 600 คน ปรับเพิ่มเป็น 700 คน และที่ผ่านมาได้แจ้งจำนวนเตียงผู้ป่วยในไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 740 คน แต่ปัจจุบันต้องมีการจัดเตียงเสริมที่แทรกไปตามระเบียง ทางเดิน ทำให้ผู้ป่วยในเพิ่มเป็น 780 เตียงแล้ว ขณะที่จำนวนเจ้าหน้าที่ รพ.ไม่เพียงพอ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถจัดหาได้เร็วกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าอย่างรวดเร็วนี้ได้ การดูแลผู้ป่วยจึงทำได้ไม่ทั่วถึง
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการยัง รพ.สระบุรี มีทั้งผู้ป่วยที่เป็นโรคทั่วไปและผู้ป่วยที่ต้องรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่ง รพ.สระบุรีเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิที่เน้นการรักษาโรคที่มีความสลับซับซ้อน แต่ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคทั่วไปเข้ารับบริการด้วย และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ต้องรักษาพบแพทย์เฉพาะ จึงส่งผลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องดูผู้ป่วยโรคทั่วไปและรักษาโรคพื้นๆ ประกอบกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีการเปิดให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการยัง รพ.ใดก็ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งข้ามขั้นตอนและเลือกที่จะเข้ารักษายัง รพ.ใหญ่ พบแพทย์เฉพาะทาง จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รพ.สระบุรี ได้มีแผนในการลดความแออัด โดยมีการเปิดศูนย์สุขภาพชุมชน 3 แห่ง เพื่อสกัดผู้ป่วยโรคทั่วไปไม่ต้องเดินทางมารับบริการที่ รพ.สระบุรี ดำเนินการมา 3 ปีแล้ว ทั้ง 3 แห่งมีผู้ป่วยโรคทั่วไปเข้ารับบริการประมาณวันละ 200-300 ราย แม้ว่าจะลดผู้ป่วยนอกได้บ้างแต่ก็ไม่มากอยากที่คาดการณ์ไว้ แต่หากไม่มีศูนย์สุขภาพชุมชนนี้จำนวนผู้ป่วยนอกที่ รพ.สระบุรีก็จะเพิ่มเป็นกว่า 3,000 คนต่อวัน และที่ผ่านมาแม้ว่า รพ.จะมีการจัดระบบนัดผู้ป่วย แต่ก็จะมีบางส่วนที่ผิดนัดและมาในวันถัดมาทำให้ผู้ป่วยล้น แพทย์ตรวจรักษาไม่ทัน บางวันผู้ป่วยมาตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่กว่าจะได้รับการตรวจก็รอถึง 4-5 โมงเย็น เลยเวลาราชการไปแล้ว
ขณะที่ในส่วนของผู้ป่วยในนั้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ล้น ทำให้บางครั้ง รพ.สระบุรี ไม่สามารถรับผู้ป่วยหนักที่ส่งต่อจาก รพช.โดยรอบได้ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างญาติและเจ้าหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประสานไปยัง รพ.พระพุทธบาทเพื่อแก้ไขปัญหาและรับส่งต่อผู้ป่วย แต่เนื่องจาก รพ.พระพุทธบาทเองก็มีปัญหาผู้ป่วยล้นเช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องส่งรักษาข้ามจังหวัดไปยัง รพ.ลพบุรี นอกจากนี้ยังพยายามเสริมศักยภาพให้กับ รพช.ในการรักษาโรคยากมากขึ้นเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระผู้ป่วย ส่วนการส่งต่อไปยังโรงเรียนแพทย์นั้น ปกติก็มีการส่งผู้ป่วยอยู่แล้วในกรณีที่เกินศักยภาพการรักษาของ รพ. และกรณีผู้ป่วยโรคง่ายๆ แต่เนื่องด้วยที่โรงเรียนแพทย์มีผู้ป่วยเต็มเช่นกัน จึงจะรับส่งต่อเฉพาะผู้ป่วยซับซ้อนเท่านั้น
นพ.สุรโชค กล่าวว่า แผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหา ในส่วนผู้ป่วยนอกได้มีการหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ภายหลังจากที่มีการย้ายศูนย์ราชการแล้ว จะยกศาลากลางจังหวัดเดิมให้กับ รพ.สระบุรีได้ใช้ประโยชน์ โดยจะจัดตั้งเป็นศูนย์สุขภาพคนเมือง เพื่อดูแลผู้ป่วยในเขตเมือง คาดว่าจะรองรับผู้ป่วยได้ 500-1,000 คนต่อวัน โดยในช่วงแรกจะเป็นการดูแลเน้นผู้ป่วยนอกก่อนและในระยะยาวจะขยายเพิ่มเติมในส่วนผู้ป่วยในต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้ รพ.สระบุรี เป็น รพ.ตติยภูมิจริงๆ
ขณะที่ในส่วนของ รพ.สระบุรี ได้อยู่ระหว่างการสร้างอาคารเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงแค่อาคารเดียว โดยจะแล้วเสร็จในปี 2560 ซึ่งอาคารใหม่นี้จะเน้นดูแลผู้ป่วยหนัก ทั้งไอซียูเด็กและผู้ใหญ่ ไอซียูผู้ป่วยหัวใจ จะทำให้รับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการเปิดอาคารใหม่ ยังกังวลว่าจะไม่สามารถรับดูแลผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากยังมีปัญหาบุคลากรขาดแคลน โดยเฉพาะในส่วนของพยาบาล เพราะอาคารเดิมในปัจจุบันมีห้องผ่าตัด 12 ห้อง แต่ต้องปิดไป 1 ห้องเนื่องจากไม่มีพยาบาลห้องผ่าตัด ซึ่งอาคารใหม่จะมีห้องผ่าตัดถึง 16 ห้อง จึงกังวลว่า แม้แต่ห้องผ่าตัดอาคารเดิมยังเปิดใช้งานไม่ได้หมด และหากสถานการณ์พยาบาลยังคงเป็นแบบนี้ ในอีก 2 ปีข้างหน้า ไม่สามารถหาพยาบาลเพิ่มเติม หลังอาคารใหม่แล้วเสร็จ รพ.ก็ยังอาจไม่สามารถให้บริการประชาชนเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ รพ.สระบุรี มีพยาบาลอยู่ประมาณ 500 คน แต่ยังต้องการเพิ่มเติมอีก 70 คน
“ที่ผ่านมาเรามีการส่งพยาบาลเรียน ปีที่แล้วประมาณ 10 คน แต่ก็ไม่สามารถทดแทนกับพยาบาลที่ลาออกและเกษียณได้ที่มีถึง 17 คน และแม้ว่า รพ.จะให้ทุนพยาบาลมากกว่านี้ เพื่อที่จะกลับมาทำงานใน รพ. แต่เนื่องจาก รพ.รัฐทุกแห่งก็ขาดหมด และทุกที่ก็ต้องการพยาบาล ทำให้มีการจำกัดโค้วต้าได้เพียงแค่ 10 คนเท่านั้น และแม้ว่าวิทยาลัยพยาบาลจะพยายามขยายการผลิตก็ติดอาจารย์ที่สอนที่มีจำนวนจำกัด ดังนั้นทางออกหนึ่งคือ การฝึกผู้ช่วยพยาบาล โดยขอให้วิทยาลัยพยาบาลเปิดอมรมหลักสูตรสั้นๆ เพื่อให้มีคนทำงานช่วยแบ่งเบาภาระพยาบาลในพื้นที่ก่อน” ผอ.รพ.สระบุรี กล่าวและว่า ทั้งนี้ปัญหาขาดแคลนพยาบาลต้องแก้ไขภาพรวมทั้งระบบ เนื่องจากทุกที่ประสบปัญหาหมด โดยเฉพาะปัญหาการไหลออกนอกระบบ ซึ่งการบรรจุข้าราชการเป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้พยาบาลอยู่ในระบบ
นพ.สุรโชค กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ รพ.ที่เกิดขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และคิดว่าเมื่อขาดหมอ ขาดพยาบาล ทำไมไม่เพิ่ม ซึ่งต้องบอกว่าวิชาชีพนี้ไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนได้ หมอผ่าตัดขาดจะนำหมอกระดูกมาผ่าตัดแทนคงไม่ได้ ขณะที่พยาบาลแต่ละแผนกก็จะมีความเชี่ยวชาญต่างกัน อย่างพยาบาลประจำห้องผ่าตัด ไอซียู ซึ่งต้องผ่านการอบรม และด้วยปัญหาการขาดบุคลากรนี้ ทำให้บุคลากรที่มีอยู่ต้องรับภาระงานเพิ่ม บางครั้งเกินกำลัง ขณะที่จำนวนผู้ป่วยและการใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพ ซึ่งอยากบอกว่าในฐานะคนให้บริการก็อยากให้บริการที่ดี ไม่อยากให้ผู้ป่วยรอนาน และที่ผ่านมา รพ.ก็พยายามปรับปรุงแก้ไข แต่ปัญหาบางอย่างต้องดูภาพรวมและแก้ไขระดับประเทศด้วย
- 240 views