ผอ.รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์ เผย ประสาน สปสช. สพฉ. และ บ.ประกันอุบัติเหตุ พร้อมเปิดบัญชีเยียวยาช่วยเหลือครอบครัว เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์เสียชีวิตจากอุบัติหตุระหว่างนำส่งผู้ป่วย ยัน รพ.ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการปฏิบัตงานเจ้าหน้าที่ ด้าน ผอ.สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ระบุ รอบอร์ด สปสช.เคาะที่มางบเพื่อช่วยเหลือ 3 ส.ค. นี้ หลังถูกท้วงติงใช้งบผิดวัตถุประสงค์ เชี่อไม่มีใครคัดค้าน
พญ.ฉัตรวรุณ มณีราชกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) บ้านใหม่ไชยพจน์ จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงการช่วยเหลือ น.ส.น้ำฝน แมลงทับ เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งได้เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ระหว่างประจำรถฉุกเฉิน รพ.บ้านใหม่ไชยพจน์ ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนระหว่างการนำส่งผู้ป่วยว่า รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังทราบเหตุการณ์ได้ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ โดยประสานไปยังสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ที่มีการประกันภัยให้กับเจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เนื่องจากกรณีนี้ผู้ป่วยนำส่งเป็นสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นทาง สปสช.จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย แม้ว่า จะมีการทักท้วงว่า สปสช.ไม่สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาจ่ายได้ แต่ได้รับแจ้งว่า บอร์ด สปสช.กำลังหางบประมาณจากแหล่งอื่นเพื่อมาจ่ายช่วยเหลือตรงนี้ให้
ทั้งนี้ในส่วนของโรงพยาบาล นอกจากการเยียวยาความเสียหายที่ได้รับจากการประกันอุบัติเหตุชั้นหนึ่ง รถพยาบาลฉุกเฉินแล้ว ขณะนี้ยังได้มีการเปิดบัญชีเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว
“ที่ผ่านมา รพ.ได้ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำรถพยาบาลฉุกเฉินที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง จึงมีการจัดระบบมาตรฐานเพื่อความปลอดภัย โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วยส่งต่อ รวมถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันพนักงานขับรถมีการกำหนดเวลาปฏิบัติหน้าที่ชัดเจน ต้องพักผ่อนเพียงพอและจะไม่มีการควงเวร ซึ่งกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้คงต้องรอการวิเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน” พญ.ฉัตรวรุณ กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 9 นครราชสีมา กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลไม่เป็นทางการสุดท้าย ทราบว่ารถฉุกเฉินดังกล่าวเป็นการส่งผู้ป่วยสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งในกรณีนี้ตั้งแต่ปี 2547 สปสช.จะใช้งบเหมาจ่ายรายหัวในส่วนการช่วยเหลือผู้ให้บริการในการช่วยเหลือ โดยจะมีคณะกรรมการระดับเขตพิจารณาและดำเนินการช่วยเหลือให้กับผู้เสียหาย แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากมีข้อทักท้วง สปสช. ในประเด็นการใช้งบเหมาจ่ายรายหัวที่ผิดวัตถุประสงค์จึงทำให้ติดขัดไปบ้าง ซึ่งคงต้องรอการพิจารณาที่เป็นมติจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในวันที่ 3 สิงหาคม นี้ เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะตามหลักการและเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะต้องให้การดูแลทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการด้วย
“ในกรณีที่ผู้ให้บริการเสียชีวิตหรือพิการรุนแรง ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือจะอยู่ที่ 400,000 บาท ซึ่งเชื่อว่าในเรื่องนี้คงไม่มีใครคัดค้าน เพราะเป็นหลักมนุษยธรรมที่ต้องดูแล ซึ่งแต่ละปีเงินช่วยเหลือส่วนนี้ไม่มากเพียงปีละ 5 ล้านบาทเท่านั้นในการดูแลบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการในระบบสาธารณสุขทั้งประเทศ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว และว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมายังมีบุคลากรสาธารณสุขได้รับการช่วยเหลือ อาทิ การติดเชื้อวัณโรคที่เท้า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือแม้แต่ผู้ป่วยเมาอาละวาดทำให้เจ้าหน้าที่พยาบาลได้รับบาดเจ็บ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ระบบควรดูแล
- 76 views