แนะประชาชนหากเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้า รพ.รัฐก่อน หลังปัญหา รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วยยังไม่สามารถแก้ได้ เผยบางรายถูกเรียกค่ารักษา 1.4 ล้านบาท แต่เบิกจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ 7.7 หมื่นบาท ทั้งที่เมื่อเทียบกับการจ่ายของกรมบัญชีกลาง ตามรายโรคก็พบว่าใกล้เคียง แต่ รพ.เอกชนกลับเรียกเก็บราคาสูงกว่า 20 เท่า
นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) กล่าวว่า ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลแพงเมื่อไปรับบริการฉุกเฉินที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการประจำ ประกอบกับเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้มีประชาชนกว่า 33,000 รายชื่อได้ร้องเรียนให้รัฐบาลแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชนนั้น
คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาข้อมูลจากเรื่องที่ได้รับร้องเรียนจากผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจำนวนมาก ในส่วนที่ร้องเรียนเกี่ยวกับค่ารักษาแพง พบว่ามีใบเสร็จที่เรียกเก็บเงินในจำนวนที่สูงจริง เช่น ผู้ป่วยบัตรทอง กรณีล้มหมดสติได้รับการส่งตัวโดยรถฉุกเฉิน1669วินิจฉัยว่าเป็นสมองขาดเลือด รักษา 9 วันได้รับใบเสร็จ 1,400,000 บาท ต้องขอออกโรงพยาบาลก่อนเพราะไม่มีเงินพอ ต้องจ่าย 6แสนแล้วเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลรัฐ แล้วกลับมาจ่ายหนี้อีก 8 แสน ปัจจุบันยังนอนให้อาหารทางสายยางและช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ส่วนอีกรายแน่นหน้าอก หมดสติ ญาตินำส่งโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่หน่วยบริการในระบบบัตรทองใกล้บ้าน วินิจฉัยว่าเป็นหอบหืด รักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ อยู่โรงพยาบาล 12 วัน ใบเสร็จเรียกเก็บ 330,000 บาท และอีกราย อาการเช่นกันคือ ล้ม หมดสติ ส่งโรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่หน่วยบริการของบัตรทอง วินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจแบบมีน้ำคั่ง และสมองขาดออกซิเจน ใช้เครื่องช่วยหายใจ รักษา 7 วัน ใบเสร็จเรียกเก็บ 140,000 บาท ทั้งหมดทางโรงพยาบาลได้มีการส่งเรื่องขอเบิกค่ารักษาจาก สปสช. ซึ่งได้รับการจ่ายคืนเพียง 5-10 เปอร์เซนต์ของใบเสร็จที่เรียกเก็บ กรณี 1,400,000 บาท เคลมจาก สปสช.ได้ 77,000 บาท กรณี 330,000 บาท ได้รับเคลม 18,000 บาท เป็นต้น
นส.สุรีรัตน์ กล่าวต่อว่า ทำให้ต้องศึกษาว่าทำไมจึงได้รับการเคลมต่ำมาก เมื่อศึกษาจากเอกสารใบเสร็จที่ผู้ป่วยได้รับมา พบข้อสังเกตคือ มีการแจ้งรายการแบบรวมๆ เช่น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจวินิจฉัย ค่าแพทย์ ค่าบริการพยาบาล ค่าห้อง รายที่จ่าย 1,400,000 บาท มีเรียกเก็บค่ายาสูงมาก แต่ไม่แจกแจงว่าเป็นยาตัวใด ราคาเท่าไร รักษา 9 วันค่ายา 460,000 บาท ค่าวัสดุการแพทย์อีก 150,000 บาท แล้วยังมีค่าวิชาชีพแพทย์อีก 200,000 บาท นับเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อศึกษาพบว่าทาง สปสช. จ่ายเคลมโดยพิจารณาจากโรคและกลุ่มอาการที่วินิจฉัย รวมจำนวนวันพักในโรงพยาบาล ประกอบกับลักษณะเพศ วัย เมื่อเทียบกับการจ่ายของกรมบัญชีกลาง ตามรายโรคก็พบว่าใกล้เคียงกับ สปสช. จ่าย ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนจะอ้างว่าต้องลงทุนสูง แล้วเรียกเก็บเงินมากกว่าราคาโดยทั่วไปถึง 20 เท่าจึงเป็นราคาที่แพงเกินไป
นส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาของรัฐบาลเมื่อมีประชาชนเข้าชื่อร้องเรียน หลังจากจัดประชุมคณะกรรมการ คณะทำงานไปสองสามครั้ง ก็ทำได้เพียงให้โรงพยาบาลติดราคาค่ารักษา กับให้ติดราคายาหน้ากล่องบรรจุไว้ แต่จะมีประโยชน์อันใดในเมื่อเป็นราคาแบบรวมๆ เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ต้อหิน ริดสีดวง ไส้เลื่อน คลอด เปลี่ยนข้อเข่า สะโพก ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ไม่ใช่ฉุกเฉิน สามารถนัดหมายและเลือกได้ว่าจะรอคิวนานเท่าใด ใครรอคิวไม่ได้ก็ไปจ่ายให้โรงพยาบาลเอกชนเองตามความสมัครใจ ซึ่งราคาที่ประกาศก็สูงมากเมื่อเทียบกับการให้เบิกได้ของข้าราชการ ดูได้ในหน้าเวบไซต์ของ กรมสนับสนุนบริการ สธ. แนวทางแก้ปัญหาไม่สามารถแก้ได้จริง ประชาชนยังต้องทนรับค่ารักษาพยาบาลแพงต่อไป แม้จะมีนโยบายฉุกเฉิน ใช้สิทธิได้ทุกที่ ไม่เสียเงินก็ตาม
“สิ่งที่อนุกรรมการฯ แนะนำให้ประชาชนได้ในตอนนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค คือเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ ฉุกเฉิน ให้ญาติ หรือ รถฉุกเฉิน 1669 นำส่งโรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไปโรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องแจ้งสิทธิไปยังบัตรต้นสังกัดของตนทันที และไม่ต้องยอมจ่ายเงินล่วงหน้าให้โรงพยาบาล หากมีการข่มขู่ หรือกักตัว ไว้ให้ไปแจ้งความได้เพราะผิดกฎหมายอาญา และผิดจริยธรรมแพทย์ในการรักษาด้วย” นส.สุรีรัตน์ กล่าว
ด้านนายสุชาติ สุกันต์ ตัวแทนศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค กรุงเทพฯ ก็ยืนยันว่า กรณีอุบัติเหตุทางรถ อุบัติเหตุอื่นๆ และป่วยฉุกเฉิน ให้แจ้งหน่วยรับเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินเบอร์ 1669 ทันที และขอให้รถของโรงพยาบาล ของมูลนิธิต่างๆ ที่ร่วมให้บริการฉุกเฉิน นำส่งผู้ป่วยยังโรงพยาบาลของรัฐไว้ก่อนดีกว่า เพราะแม้จะเข้าไปแบบมีคิวบ้าง แต่ก็สบายใจเมื่อจะต้องออกจากโรงพยาบาล เพราะกองทุนบัตรทอง หรือสิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ตามจ่ายให้ได้ ไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะป่วยมากขึ้นเมื่อเห็นบิลค่ารักษา
- 965 views