นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้คือโรคไข้เลือดออก ถึงแม้จะเกิดภาวะภัยแล้งมาก่อนหน้านี้ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ประชาชนมีการพฤติกรรมการเก็บสำรองน้ำใส่ภาชนะเพิ่มขึ้น และหากปิดภาชนะหรือแหล่งน้ำสำรองไม่มิดชิด จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้เช่นกัน และเมื่อมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ก็จะเกิดยุงลายได้ง่ายจากที่ยุงลายรุ่นเก่าได้ไข่ทิ้งไว้ตามเศษภาชนะที่ทิ้งเป็นขยะไว้ ไม่ว่าจะเป็นกล่องโฟมใส่อาหาร แก้วน้ำ/กล่องพลาสติก ไข่ยุงลายเหล่านี้แห้งติดโดยไม่เน่าเสียเป็นปี เมื่อได้รับน้ำไข่ก็จะแตกตัวเป็นตัวอ่อนของยุงลายหรือลูกน้ำภายในครึ่งชั่วโมง ก่อนจะกลายเป็นตัวยุงได้ใน 7 วัน ทำให้เรารู้สึกว่าเมื่อฝนตกยุงจึงเยอะขึ้นเร็วมาก
อีกทั้งน้ำฝนที่ตกมายังก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมากมายตามเศษวัสดุ ภาชนะต่างๆ จานรองกระถางต้นไม้ยางรถยนต์เก่าที่ทิ้งไว้ ภาชนะเก็บน้ำกินน้ำใช้โดยทั่วไป โดยยุงตัวเมียเท่านั้นที่กัดกินเลือดเพื่อนำโปรตีนในเลือดไปเลี้ยงรังไข่ซึ่งส่วนใหญ่ยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน เว้นแต่กลางวันไม่มีเหยื่อให้กิน ในที่ที่มีแสงไฟกลางคืนก็จะออกกินเลือดได้เช่นกันยุงตัวเมียมีอายุไขเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 วัน ไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง 4-6 ครั้ง ตลอดช่วงที่มีชีวิตของยุงลายตัวเมียตัวหนึ่งจึงสามารถผลิตยุงลายรุ่นลูกได้ราว 500 ตัว ส่วนยุงตัวผู้ซึ่งกินเกสรและน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหาร มีอายุไขเพียง 7-10 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้วก็ตายไป ยุงลายตัวเมียจะกัดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะดูดเอาเลือดปนไปพร้อมกับเชื้อไวรัสเด็งกี และเชื้อไวรัสนี้จะฟักตัวในยุงอีก 8-10 วัน แล้วเมื่อยุงตัวนั้นไปกัดคนอื่นอีกครั้งเชื้อไวรัสที่ปนอยู่กับน้ำลายยุงก็เข้าสู่ร่างกายคนๆนั้น แล้วฟักตัวอีก 5-8 วันจึงจะทำให้คนๆ นั้นมีอาการของโรคไข้เลือดออก จึงอยากจะชวนเชิญให้ทุกบ้านฝึกพฤติกรรมการเก็บจนเป็นนิสัย “เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย” อันได้แก่ เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก เก็บปิดน้ำให้มิดชิดไม่ให้ยุงลายวางไข่ และเสริมด้วยการขัดล้างไข่ยุงลายตามขอบภาชนะใส่น้ำด้วย ก็จะป้องกันการเกิดยุงลายและไข้เลือดออกได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 21 กรกฎาคม 2558 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 35,591 ราย เสียชีวิต 26 ราย จากปัจจัยเอื้อข้างต้นทำให้ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอัตราการเกิดโรคสูงมาก เฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 3,000 ราย อายุที่พบมากที่สุดคือ 10-14 ปี รองลงมา 5-9 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนถึง 46.04%โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ คือ ตาก ระยอง ตราด จันทบุรี และเพชรบุรี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ปีนี้มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากกว่าปีที่แล้ว ถึง 2.06 เท่า นอกจากนี้กรมควบคุมโรคคาดการณ์ว่าปี 2558 จะพบผู้ป่วยทั้งปี 60,000-70,000 ราย
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการรองรับการระบาดของโรคไข้เลือดออก 5 มาตรการ ดังนี้ 1.จัดทำ MOU เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกร่วมกับหน่วยงาน 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกรุงเทพมหานคร โดยมุ่งเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง 2.มีการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์การระบาดโรคไข้เลือดออกในชุมชน วิธีการป้องกันตนเอง และการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านและชุมชน รวมถึงการปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก 3.การควบคุมการระบาด ของโรคในพื้นที่ โดยทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ในระดับตำบล ใช้วิธีการพ่นเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัยในบ้านผู้ป่วยและรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร รวมถึงกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านผู้ป่วยและรอบบ้านผู้ป่วยในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร 4.เปิดวอร์รูม (Warroom) ในพื้นที่ระบาดที่มีสถานการณ์การพบผู้ป่วยต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์พิจารณาสั่งการโดยนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาการระบาด และ 5.เตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยและป้องกันการเสียชีวิต
สำหรับโรคไข้เลือดออก ยังไม่มีวัคซีนที่สำเร็จรูป และยังไม่มียารักษาเฉพาะ จะเป็นการรักษาตามอาการ คือ มีการให้ยาลดไข้ เช็ดตัว และการป้องกันภาวะหากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนัง เจ็บชายโครงด้านขวา มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลงกินดื่มไม่ได้ มือเท้าเย็น เหงื่อออก ชีพจรเต้นเร็ว ปวดท้อง คือสัญญาณอันตรายของโรคนี้ ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะผู้ป่วยอาจมีอาการช็อกและเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 12 views