ผอ.รพ.พุทธชินราช แจงผู้ป่วยแออัดใน รพ.ยังแก้ไม่สำเร็จ แม้จะเพิ่มเวลาให้บริการ ชี้มีหลายสาเหตุ ทั้งการเป็น รพ.รับคนไข้ที่ถูกส่งต่อจากที่อื่น จากเดิมให้บริการ 2.5 ล้านคน เพิ่มเป็น 5 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ให้บริการไม่เพียงพอ คาดตึกใหม่ที่กำลังก่อสร้างจะแล้วเสร็จ พ.ย.นี้ จะมีห้องฉุกเฉิน และห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกเพิ่มอีก 20 ห้อง พร้อมวางแผนขยายหน่วยปฐมภูมิออกนอก รพ.อีก 2 แห่ง แต่ยังไม่มั่นใจจะทำได้หรือไม่ เหตุข้อจำกัดต้นทุน และบุคลากรไม่พอ พ้อมีพยาบาลแค่ 60%
นพ.ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์
นพ.ศิวฤทธิ์ รัศมีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก กล่าวว่า ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนานนั้น เกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุหลักคือ พื้นที่ให้บริการของโรงพยาบาลไม่เพียงพอกับปริมาณคนไข้ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากโรงพยาบาลต้องรับคนไข้ที่ถูกส่งต่อมาจากจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน จากเดิมที่ให้บริการประชากรประมาณ 2.5 ล้านคน ก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 5 ล้านคน ทั้งนี้เนื่องจากตามนโยบายเขตสุขภาพ โรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาลจะถูกพัฒนาทั้งด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และมีผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา จะต้องรับการส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลอื่น ทำให้โรงพยาบาลในพื้นที่ส่งต่อคนไข้โรคที่มีความซับซ้อนในการรักษา เช่น โรคมะเร็ง การผ่าตัดหัวใจ โรคเรื้อรัง มารักษาที่นี่มากขึ้น
นพ.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่าอีกสาเหตุหนึ่งคือมีการขยายเวลาการก่อสร้างตึกใหม่ ทำให้การส่งมอบพื้นที่ล่าช้ากว่าเดิมมากกว่า 150 วัน คาดการณ์ว่าในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ผู้รับเหมาจึงจะส่งมอบตึกใหม่ให้ได้ หลังจากการส่งมอบพื้นที่โรงพยาบาลจะขยายห้องฉุกเฉิน และห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกได้เพิ่มอีก 20 ห้อง ซึ่งจะช่วยลดความแออัดลงได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามเพื่อการลดความแออัดในโรงพยาบาล จะมีการย้ายหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่เดิมอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลออกไปข้างนอก ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่เพิ่มเพื่อให้บริการกับผู้ป่วยโนโรงพยาบาลได้อีก โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ ตั้งใจว่าจะขยายหน่วยบริการปฐมภูมิออกนอกโรงพยาบาล 2 แห่ง แต่ก็ไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านต้นทุน และเจ้าหน้าที่ พยาบาล ผู้ให้บริการอาจจะไม่เพียงพอ
“บุคลากรในสายงานพยาบาลของโรงพยาบาลมีเพียง 60% ของที่ควรจะเป็นเท่านั้น โรงพยาบาลควรมีพยาบาลประมาณ 1,500 คน แต่ขณะนี้มีเพียง 900 คน ถือว่ายังขาดพยาบาลที่จะมาให้บริการอีกมาก และการแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็ทำได้ลำบาก ทางโรงพยาบาลได้ขอให้พยาบาลที่เกษียณไปแล้ว และเอานักเรียนพยาบาลมาช่วย แต่ไม่ตอบโจทย์ความขาดแคลนอยู่ดี” นพ.ศิวฤทธิ์ กล่าว
นพ.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า และเพื่อแก้ไขปัญหา ทางโรงพยาบาลเองก็ได้ปรับตัวด้วยการปรับเวลาการให้บริการ บางแผนกแพทย์ พยาบาลจะเริ่มตรวจรักษาตั้งแต่ 06.00 น. และในช่วงเย็น บางแผนกก็ขยายเวลาบริการออกไปเป็น 18.00 น. หรือจนกว่าคนไข้จะหมด และให้บริการแบบไม่หยุดพักกลางวัน เพิ่มคลินิกพิเศษนอกเวลาช่วงหลังเวลาราชการ และให้บริการแบบไม่หยุดวันเสาร์ – อาทิตย์ เพราะไม่อยากให้คนไข้มานั่งรอ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าผู้ป่วยบางรายต้องส่งต่อตรวจวินิจฉัยหลายแผนกก็ต้องใช้เวลา
นพ.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่าสิ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลได้ส่วนหนึ่งคือ การบริหารจัดการระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ ต้องมีการแยกผู้ป่วยว่าใครควรส่งต่อมารักษา และควรมาเมื่อไหร่ อย่างไรก็ตามการที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ระบบเขตสุขภาพ (Service Plan) เพื่อพัฒนา และเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลแต่ละระดับนั้น จะทำให้ศักยภาพของโรงพยาบาลต้นทางเพิ่มมากขึ้น และแยกบทบาทการทำงานระหว่างโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และ โรงพยาบาลชุมชนได้ชัดเจนขึ้น.
- 220 views