บทความจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒน กล่าวถึงการก่อกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพของไทยในแต่ละส่วน จนกระทั่งสามารถทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้า ตอนแรกนี้ ว่าด้วยเรื่อง พัฒนาของระบบบริการสุขภาพในไทย และพัฒนาการของระบบการเงินการคลัง ตั้งแต่การก่อตั้ง รพ.ศิริราช รพ.แห่งแรกของไทย ไล่ไปจนถึงการมุ่งเป้าขยาย รพ.ให้ครอบคลุมพื้นที่ การมี รพ.ในระดับจังหวัด อำเภอ และสถานีอนามัยในระดับตำบล จนถึงการก่อกำเนิดสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่คนทำงานในภาคเอกชนจะมีสิทธิประดันสังคม และล่าสุดกับสิทธิบัตรทองที่ครอบคลุมประชาชนส่วนที่เหลือที่ไม่ใช่ข้าราชการ และไม่ใช่แรงงานในระบบ ได้มีประกันสุขภาพ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน : ตำนานบัตรทอง (1)
ต่อไปจะกล่าวถึง พัฒนาการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย โดยจะกล่าวเป็นลำดับใน 4 หัวข้อ ได้แก่
(1) พัฒนาการของระบบบริการสุขภาพ
(2) พัฒนาการของระบบการเงินการคลัง
(3) พัฒนาการของบริการในระบบบัตรทอง
(4) คำชมเชยของบุคคลสำคัญของโลก
1. พัฒนาการของระบบบริการสุขภาพ
สถานพยาบาลแห่งแรกๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นของมิชชันนารี ที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์
โรงพยาบาลของรัฐแห่งแรกที่สร้างขึ้นคือ โรงพยาบาลศิริราช จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเห็นตัวอย่างที่สิงคโปร์และอินเดีย ทรงสร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้น หลังจากที่ พระโอรส คือ เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคบิดตั้งแต่พระชนม์ยังน้อย ทรงปรารภว่า “แต่ลูกเรายังทุกข์ยากถึงเพียงนี้ แล้วลูกราษฎรเล่า” จึงโปรดฯ ให้ใช้ไม้พระเมรุไปก่อสร้างแล้วขอเงินก้นถุงของพระโอรสจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถไปเป็นทุนสร้างโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่ พ.ศ. 2429 เปิดบริการประชาชนได้ เมื่อ พ.ศ. 2431
หลังจากนั้นมีการสร้างโรงพยาบาลอื่น เช่น โรงพยาบาลสำหรับคนเสียจริต ที่ปากคลองสาน คือ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน เป็นต้น
บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ 10 ปี เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการสร้างความเข้มแข็งของชาติ จึงตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 หลังจากนั้นก็มีนโยบายสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดขึ้น โดยเริ่มจากจังหวัดชายแดนก่อน เช่น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลนครพนม โรงพยาบาลหนองคาย ทั้งนี้เพื่อ “อวดธง” ของประเทศไทย แสดงความเจริญแข่งกับประเทศรอบบ้านที่ล้วนเป็นอาณานิคม จุดหมายสำคัญเพื่อดึงความนิยมและจงรักภักดีของประชาชนตามชายแดน
ในระดับอำเภอ แต่ก่อน มีเพียงสถานีอนามัย โดยมีเพียงบางอำเภอเท่านั้นที่มีแพทย์ประจำ และแทบทั้งหมดมีแพทย์ประจำเพียงอำเภอละหนึ่งคนเท่านั้น การพัฒนาโรงพยาบาลระดับอำเภอ เริ่มในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2518 ที่ประกาศนโยบาย “ช่วงชิงประชาชน” นอกจากเรื่องเงินผัน ประกันราคาพืชผล คนยากจนขึ้นรถเมล์ฟรี รักษาฟรี แล้ว ยังประกาศให้มีโรงพยาบาลอำเภอทุกอำเภอในประเทศไทย นโยบายนี้มาสำเร็จในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีนโยบายทศวรรษพัฒนาชนบท ประกาศสร้างโรงพยาบาลชุมชนทุกอำเภอ และสร้างสถานีอนามัยทุกตำบล และทำจนสำเร็จในเวลาต่อมา
บริการระดับอำเภอ และตำบล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารทรงอภิเษกสมรส รัฐบาลสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียรได้เชิญชวนประชาชนบริจาคสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งเดิมที่มีเป้าหมายเพียงแห่งเดียว แต่ประชาชนมีศรัทธาอย่างล้นหลาม สร้างได้ถึง 21 แห่ง และต่อมารัฐบาลยังมีโครงการสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ยกฐานะสถานีอนามัยให้เป็นอาคารขนาดใหญ่ สามารถบริการประชาชนในท้องที่ชนบท ได้มากขึ้น
บริการระดับตำบล ได้มีการพัฒนาอีกครั้ง ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกฐานะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพิ่มบุคลากรให้มีจำนวนและขอบขีดความสามารถมากขึ้น
ระบบบริการสุขภาพของรัฐที่กระจายอยู่อย่างทั่วถึงทุกระดับทั่วประเทศ คือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ (Accessible) ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างทั่วถึง ทั่วประเทศ การพัฒนาถนนหนทาง ระบบสื่อสาร การคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา ก็มีส่วนสำคัญในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และการพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชน
2. พัฒนาการของระบบการเงินการคลัง
แต่เดิมรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดมาก ระบบที่ทำให้โรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขต่างๆ สามารถให้บริการประชาชนได้โดยไม่ต้องพึ่งแต่งบประมาณจากรัฐบาล คือ การมีระบบเงินบำรุงโรงพยาบาล
ผู้ที่บุกเบิกเรื่องนี้ คือ ศ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ซึ่งรับนโยบายไปสร้างโรงพยาบาลจังหวัดเชียงรายโดยรัฐบาลไม่มีงบประมาณให้ไปเลย ศ.นพ.เสม ใช้วิธีขอบริจาคจากชาวบ้านคนละบาท นำมาสร้างโรงพยาบาล ซื้อเครื่องมือและเวชภัณฑ์บริการประชาชน เมื่อประชาชนมารับการรักษาก็เก็บเงินแต่พอสมควร เพื่อนำมาใช้เป็นทุนซื้อยาและเวชภัณฑ์มาบริการประชาชนต่อไป การกระทำดังกล่าวผิดระเบียบราชการ เพราะเงินที่เก็บจากประชาชนเป็นค่ารักษา ระเบียบกำหนดให้ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ถ้าทำตามระเบียบประชาชนก็ต้องรองบประมาณจากรัฐบาล ย่อมไม่มียาไปใช้รักษาทันเวลา
โชคดี รัฐมนตรีคลังสมัยนั้น คือ พระยาไชยยศสมบัติ ฟังเหตุผลของ ศ.นพ.เสม แล้ว แทนที่จะถือเป็นความผิด กลับออกระเบียบรองรับให้การกระทำดังกล่าวถูกต้อง และต่อมาก็มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 กำหนดให้สถานพยาบาล และสถานศึกษาสามารถเก็บเงินที่หามาได้ไว้เป็นเงินบำรุง ไม่ต้องส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้โรงพยาบาลใช้เงินได้ตามระเบียบที่กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณให้ความเห็นชอบ
ระบบดังกล่าว ช่วยแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนที่มีความสามารถจ่ายได้ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาอีก 2 ปัญหา คือ (1) ปัญหาประชาชนยากจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล แม้เพียงไม่กี่บาทก็ตาม เพราะสมัยที่ผมเริ่มรับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2516 พบชาวบ้านในชนบทจำนวนมาก ไม่มีเงินติดบ้านแม้สักบาทเดียว (2) ปัญหาประชาชนที่มีเงินอยู่บ้าง แต่เมื่อต้องจ่ายค่ารักษาราคาแพงก็เกินกำลังที่จะจ่ายได้
ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ในอดีตรัฐบาลมีเงินน้อย สมัยที่ผมเริ่มรับข้าราชการ รัฐบาลมีเงินงบประมาณค่ายาและเวชภัณให้โรงพยาบาลระดับอำเภอเพียงปีละ 1 หมื่นบาท สำหรับประชาชนทั้งอำเภอราว 8 หมื่นคน ! ทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้อง “รีดเลือดเอาจากปู” ผลคือ มีประชาชนจำนวนมากไม่กล้าไปโรงพยาบาล เมื่อเจ็บหนักจำเป็นต้องไปก็มี จำนวนมากที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ขายไร่ ขายนา ขายวัวขายควาย หรือถึงขั้นขายลูกสาว เพื่อมารักษาตัว เป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
ในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งประเทศไทยกำลังถูกภัยคุกคามอย่างหนัก จากการพ่ายแพ้ของสหรัฐฯ ในสงครามอินโดจีน ความกลัวว่าประเทศไทยจะเป็น “โดมิโน” ตัวต่อไป ทำให้เกิดสงครามช่วงชิงประชาชน ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คือ โครงการรักษาฟรี โดยการจัดงบประมาณ “ก้อนใหญ่” ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ โดยจัดสรรผ่านกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลระดับอำเภอจึงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีละ 1 หมื่นบาท สูงขึ้นราว 10-20 เท่า แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเฉลี่ยต่อหัวประชากรแล้วก็ได้เพียง คนละ 1-2 บาท เท่านั้น ปัญหาประชาชนสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีความเสี่ยงต่อการสิ้นเนื้อประดาตัวเพราะเจ็บป่วย มีบุคคลกลุ่มเล็กๆ ที่รอดพ้นจากภาวะดังกล่าว กลุ่มแรก คือ ข้าราชการ – พ่อแม่ – บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เพราะจะได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาล
ประชาชนจำนวนมากสมัยนั้น นิยมรับราชการ แม้เงินเดือนไม่มาก ส่วนหนึ่งเพราะต้องการ “หลักประกันสุขภาพ” จากสวัสดิการรักษาพยาบาลนี้เอง
บุคคลกลุ่มที่สองที่มี “หลักประกันสุขภาพ” คือ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
ระบบประกันสังคม ริเริ่มดำเนินการในประเทศไทย มาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 โดยมีกฎหมายออกมาแล้ว แต่กำหนดว่า จะเริ่มใช้ในท้องที่ใด “ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง” ซึ่งรัฐบาลไม่เคยประกาศกำหนดท้องที่บังคับใช้เลย โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร และเริ่มยุคพัฒนาอุตสาหกรรม โดยนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการยอมให้แรงงานราคาถูกและไม่ต้องมีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งยอมให้ทำลายสิ่งแวดล้อม ประกันสังคมจึงไม่เกิดขึ้น และต้องใช้เวลาถึง “34 ปีแห่งการรอคอย” จึงเกิด พ.ร.บ. ประกันสังคม ในปี 2533 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534
ประกันสังคมไทยเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป จากโรงงานที่มีคนงาน 20 คนขึ้นไป ระยะแรกจึงครอบคลุมแรงงานราว 2 ล้านคนเท่านั้น และ “หลักประกันสุขภาพ” ก็จำกัดเฉพาะตัวของผู้ประกันตนเท่านั้น ไม่ครอบคลุม พ่อ-แม่-ลูก เหมือนสวัสดิการข้าราชการ
ในกระทรวงสาธารณสุข มีความพยายามจะขยายระบบหลักประกันสุขภาพให้แก่ประชาชน โดยระบบสมัครใจ คือ โครงการบัตรสุขภาพ แต่ได้ผลน้อย เพราะเป็นกองทุนขนาดเล็ก สิทธิประโยชน์จำกัด และประชาชก็มีกำลังซื้อจำกัด
กำเนิดระบบบัตรทอง
นักวิชาการ และนักบริหารที่มีบทบาทสำคัญในการให้กำเนิดระบบบัตรทอง คือ (1) นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ทุ่มเทอุทิศชีวิต เพื่อสร้างระบบนี้ขึ้น และ (2) นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จาก มหาวิทยาลัยลอนดอน นพ.สงวน ได้รับการชักชวนจาก ศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ให้ไป “ช่วยวางระบบการรักษาพยาบาล” ของประกันสังคม นพ.สงวน มีทีมงานสำคัญ คือ นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นผลผลิตที่เป็น “เพชรน้ำหนึ่ง” จากโครงการพัฒนางานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขขึ้นในกระทรวงสาธาณสุข เริ่มจากการมีที่ปรึกษาคนสำคัญคือ ศาสตราจารย์ แอนน์ มิลล์ จากวิทยาลัยสาธารณสุขและเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และจากการ มองการณ์ไกลของปูชนียบุคคลในวงการสาธารณสุข เช่น นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ ศ.นพ.ประเวศ วะสี นพ.ยุทธนา ศุขสมิติ นพ.ดำรง บุญยืน เป็นต้น ได้เริ่มโครงการฝึกอบรมวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ร่วมกับ ดร.สมคิด แก้วสนธิ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการส่งบุคลากรสาธารณสุขไปศึกษาวิชานี้ในระดับปริญญาเอกในต่างประเทศ นพ.วิโรจน์ เป็นหนึ่งในผลผลิตจากโครงการดังกล่าว
ก่อน พ.ร.บ. ประกันสังคมจะออกมา ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ได้คำนวณแล้วว่า การเก็บเงินสมทบโดยหักเงินค่าจ้างจากผู้ประกันตนร้อยละ 1.5 นายจ้างและรัฐบาลจ่ายสมทบฝ่ายละ 1.5 นำมาใช้ประโยชน์ 4 อย่างคือ กรณี (1) ตาย (2) เจ็บป่วย (3) คลอด และ (4) ทุพพลภาพ โดยหักส่วนค่ารักษาพยาบาล ร้อยละราว 0.8 จะสามารถใช้ได้เฉพาะค่ารักษาพยาบาลกรณีคนไข้ในที่โรงพยาบาลรับไว้รักษา (In Patient) เท่านั้น ไม่พอสำหรับกรณีเป็นคนไข้นอก (Out Patient) ด้วย
นพ.วิโรจน์ เรียนจบกลับมาเดือนธันวาคม 2533 พอมกราคม 2534 ก็ได้ไปพบ คุณอำพล สิงหโกวินท์ เลขาธิการประกันสังคมคนแรก เสนอให้ “ปฏิรูป” ครั้งใหญ่ ไม่ใช้ระบบ “จ่ายตามการให้บริการ” (Fee-For-Service) อย่างที่ระบบสวัสดิการราชการทำอยู่ คือ เมื่อเจ็บป่วยก็ให้ไปรับการรักษา ถ้าเป็น คนไข้นอกก็จ่ายเงินไปก่อน แล้วมาเบิกคืน ถ้าเป็นคนไข้ใน ก็ให้โรงพยาบาลเรียกเก็บจากต้นสังกัด นพ.วิโรจน์ เสนอให้ใช้ระบบ “เหมาจ่ายรายหัว” (Capitation) แทน โดยชี้ให้เห็นข้อดีหลายประการ ได้แก่ (1) ใช้เงินเท่าเดิม แต่สามารถครอบคลุมค่ารักษาได้หมด ทั้งคนไข้ในและคนไข้นอก (2) สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ โดยเสนอให้ตั้งอัตราเหมาจ่ายคนละ 750 บาทต่อปี ระยะยาวกองทุนนอกจากจะไม่ล้มละลายแล้ว จะมีเงินเหลือพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ด้วย (3) ไม่ต้องสร้างระบบการตรวจสอบ การเบิกจ่าย เพราะเป็นระบบเหมาจ่าย สำนักงานประกันสังคม จึงทำหน้าที่หลักเพียงคำนวณจากจำนวนผู้ประกันตนที่เลือกโรงพยาบาลแต่ละแห่ง แล้วทยอยจ่ายให้เป็นรายเดือนเท่านั้น สามารถประหยัดงบประมาณด้านบริหารลงได้มากมาย (4) ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลล่วงหน้าเหมือนข้าราชการ กรณีเป็นคนไข้นอก และกรณีเป็นคนไข้ในก็ไม่ต้องเสียเวลาไปทำหนังสือเพื่อให้โรงพยาบาลเรียกเก็บจากกองทุน (5) โรงพยาบาลพอใจที่ได้เงินไปล่วงหน้า ไม่ต้องรอการเบิกจ่าย
ข้อดีมากมายเช่นนี้ คุณอำพลรับข้อเสนอทันที และลดค่าเหมาจ่ายรายหัวลงเหลือคนละ 700 บาทต่อปี เพราะ “ผู้ประกันตนส่วนใหญ่อายุไม่มาก ไม่ใคร่เจ็บป่วย และหากเจ็บป่วยจากการทำงานก็สามารถไปเบิกจากกองทุนทดแทนแรงงานได้”
อัตราคนละ 700 บาทต่อปีนี้ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนสมัยนั้น พยายามมา “วิ่งเต้น” กับ นพ.สงวน ขอเพิ่มเป็น 1,200 บาท โดย “ขู่” ว่าถ้าไม่ได้อัตรา 1,200 บาท โรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะไม่เข้าร่วม ทีมงานของเรายืนยัน และ “แก้เกม” โดยเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติให้โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งต้องเข้าร่วม ผมเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้นำทีมไปชี้แจงกับ ครม. กลั่นกรองเอง จนเรียบร้อย ผลคือโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน พากัน “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมโครงการ
อัตราคนละ 700 บาทต่อปีนี้ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน บ่นว่าถูกไป โดยดูแต่ตัวเลขว่าถ้าผ่าตัดรายหนึ่งก็ต้องใช้จ่ายนับพันนับหมื่น หรือนับแสน จะขาดทุน แต่ความจริงมีน้อยรายที่ต้องเสียค่ารักษาแพงๆ ปรากฏว่าทุกโรงพยาบาลที่เข้าร่วมในปีแรก ต่างก็กำไรอู้ฟู่ ผมเป็นประธานอนุกรรมการข้อมูลข่าวสาร ในคณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคมดูตัวเลขแล้วชัดเจน โรงพยาบาลแห่งหนึ่งแถวบางนา มีผู้ประกันตนเกือบ 5 หมื่นคน ในช่วงปีแรก ซึ่งมีเวลาเพียง 7 เดือน จากมิถุนายน-ธันวาคม 2534 ได้รับเงินไปราว 19 ล้านบาท ใช้จ่ายไปไม่ถึง 3 ล้าน กำไร “เหนาะๆ” ถึง 16 ล้าน โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลย
อัตราเหมาจ่ายรายหัวนี้จึงยืนอยู่ที่ 700 บาท ติดต่อกัน 4 ปี ตอนปลายปีที่ 4 มีกลุ่มคนพยายามจะขอเพิ่ม ถึงขนาดแอบไปจัดประชุมคณะกรรมการการแพทย์กันแบบลับๆ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยหาวิธีทำให้หนังสือเชิญประชุมที่มีไปถึงผมในฐานะกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการการแพทย์ ไม่ถึงมือผม แต่มีเจ้าหน้าที่ประกันสังคมแจ้งผม ผมตามไปร่วมประชุมในฐานะกรรมการการแพทย์จนได้ และได้ขัดขวางมิให้เพิ่มอัตราเหมาจ่าย เพราะปรากฏชัดเจนว่าอัตราดังกล่าวโรงพยาบาลแทบทุกแห่งมีกำไรมากมาย มีบางแห่งเท่านั้นที่มีปัญหา เพราะเปิดรับผู้ประกันตนจำนวนน้อย
ผลจากการตัดสินใจที่ถูกต้อง เลือกใช้ระบบการเงินการคลังแบบ “เหมาจ่ายรายหัว” และใช้ความสุจริต แข็งใจยืนตัวเลขเริ่มต้นที่คนละ 700 บาท ทำให้กองทุนเฉพาะส่วนนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการ ฉ้อฉลเกิดขึ้นในเวลาต่อมา เงินกองทุนส่วนนี้ก็ยังเหลือกว่าแสนล้าน
จากการ “ติดกระดุมเม็ดแรก” อย่างถูกต้อง นพ.สงวน และคณะได้ศึกษาเพิ่มเติม โดยขอเงินสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) ได้เงินมาราว 50 ล้านบาท ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม อีกหลายเรื่อง เมื่อ “หน้าต่างแห่งโอกาส” เปิดขึ้น จึงสามารถสถาปนาระบบบัตรทองขึ้นได้ จนงอกงามเติบโต สามารถช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้อย่างอเนกอนันต์ เป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก
ตอนต่อไป ติดตาม ตำนานบัตรทอง ตอนที่ 2
- 210 views