ในพื้นที่ห่างไกลจากเมือง การเข้าถึงบริการสุขภาพ การรักษาพยาบาล ยากลำบาก ยิ่งเป็นผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ไปไหนมาไหนไม่ได้ด้วยตนเองนั้น อย่าว่าแต่จะไปโรงพยาบาลเลย แม้แต่จะลุกเดินออกจากบ้านก็ยังยาก
มีหลายพื้นที่พยายามที่จะทำให้ผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ได้รับบริการที่ เฉกเช่นเดียวกับ “ศูนย์โฮมสุข” เทศบาลตำบลนาจารย์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นจัดศูนย์บริการร่วมสวัสดิการสังคมในตำบล ที่บูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม เน้นการให้บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่ติดบ้านติดเตียงเป็นหลักด้วยกลไกครอบครัวและคนในชุมชน
“ศูนย์โฮมสุข” แห่งนี้ ตั้งขึ้นมาด้วยแนวคิดการบูรณาการความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน 6 บริการ ไว้ในที่เดียว คือ ด้านสาธารณสุข ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ด้านอาชีพ ด้านสังคม และด้านนันทนาการ ซึ่งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์นั้นมีศูนย์โฮมสุขของ เทศบาลนาจารย์เพียงที่เดียวที่ตั้งอยู่ในเทศบาล ในขณะที่อีก 40 กว่า ศูนย์ตั้งอยู่ในสุขศาลา
นายสมนึก คำรัศมี นายกเทศมนตรีตำบลนาจารย์ กล่าวว่า งบประมาณที่นำมาใช้ศูนย์โฮมสุขนั้น บูรณาการมาจากหลายส่วนงานกัน คือ จากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกองทุนร่วมระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับ อบจ.กาฬสินธุ์ งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เทศบาลตำบลนาจารย์ ที่เป็นกองทุนลงขันของ สปสช. กับ เทศบาลตำบลนาจารย์ งบประมาณจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (พมจ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมทั้งภาคเอกชนในพื้นที่
นายเจนศักดิ์ อาญารัตน์
นายเจนศักดิ์ อาญารัตน์ ปลัดเทศบาลตำบลนาจารย์ เล่าว่า เดิมแต่ละหน่วยงานจะต่างคนต่างทำงาน ทำให้การทำงานซ้ำซ้อนกัน เช่น การแจกกายอุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยคนพิการ บางครั้งทาง พมจ. และ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต่างก็จัดหาอุปกรณ์ให้ผู้พิการ ทำให้ผู้พิการบางคนได้รับอุปกรณ์ช่วยชนิดเดียวกัน 2-3 ชิ้น บางครั้งความช่วยเหลือไปไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ได้เครื่องช่วยไปก็กลายเป็นภาระ บางทีกลายเป็นขยะ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่การทำงานร่วมกันทำให้ช่วยเหลือผู้พิการได้ตรงจุด ผู้พิการได้รับการช่วยเหลือตรงใจมากกว่า
เมื่อมีเงินก็มีคน ... บุคลากรที่เข้ามาช่วยงานนั้น มาจากหลายส่วน เช่น จากงานกายภาพบำบัด โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่เทศบาล และทีมงานอาสาสมัครศูนย์โฮมสุขที่คัดเลือกมาจากประชาชนที่มีจิตอาสาในพื้นที่ ตอนนี้มีจิตอาสาที่ผ่านการฝึกอบรมกับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และขึ้นทะเบียนอาสาสมัครกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ จ.กาฬสินธุ์ แล้ว จำนวน 10 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ตำบลนาจารย์ เพื่อเป็นหูเป็นตา คอยสอดส่องว่ามีผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนคนใดที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ แล้วให้การดูแลต่อเนื่อง
“อาสาสมัครศูนย์โฮมสุข” แต่ละคนมาด้วยใจ ไม่มีสินจ้างรางวัล และจะได้รับมอบหลายให้รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพ การทำการกายภาพบำบัด และอื่นๆ จากนั้นนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้ประเมินว่าการฟื้นฟูที่ผ่านมานั้น ผ่านการประเมินตามมาตรฐานกลางบัญชีสากลเพื่อการจำแนกการทำงาน ความพิการ และสุขภาพ (International Classification of Functioning Disability and Health : ICF) หรือไม่
นายหวด คำสวัสดิ์
นายหวด คำสวัสดิ์ ผู้ป่วยวัณโรคปอด โรคไต และต่อมลูกหมากโต อายุ 62 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูจากศูนย์โฮมสุข เล่าว่า ตอนที่ป่วยหนักมากๆ ต้องนอนอยู่กับบ้าน ไปไหนก็ไม่ได้ แม้แต่จะกระดิกนิ้วมือยังลำบาก อาสาสมัครศูนย์โฮมสุข ได้เข้ามาดูแล และประสานการส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เมื่อรักษาหายแล้วก็กลับมาที่บ้าน นักกายภาพบำบัด และอาสาสมัครยังตามมาช่วยทำกายภาพบำบัดให้ที่บ้านทุกวันพุธ จนตอนนี้สามารถเดินได้บ้างแล้ว ยังความดีใจให้กับครอบครัวยิ่งนัก
นายประดิษฐ์ พันธุ์เรือง
นายประดิษฐ์ พันธุ์เรือง วัย 36 ปี ซึ่งเป็นอัมพาตหลังได้รับอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยายนต์ที่จังหวัดชลบุรี และถูกส่งกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านด้วยสายยางและเครื่องช่วยชีวิตระโยงระยาง ที่แม้แต่ผู้เป็นแม่ คือนางแพงสี พันธุ์เรือง เองก็ยังคิดว่าลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคงไม่รอดแน่
แต่ด้วยการช่วยดูแลจากศูนย์โฮมสุข ที่มีนักกายภาพบำบัดเข้ามาช่วยทำกายภาพบำบัดให้ทุกวันพุธ และมีอาสาสมัครมาช่วยดูแลในบ้าน ผู้เป็นแม่เองก็ฝึกลูกชายด้วยการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยที่ทำขึ้นเองจากคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด จากที่นอนนิ่งลูกชายก็สามารถขยับตัวได้บ้าง
“กว่า 2 ปีแล้วที่เราดูแลกันมา แรกๆ ก็คิดว่าลูกคงไม่รอด แต่เมื่อมีศูนย์โฮมสุขมาช่วย นักกายภาพ อาสาสมัคร มาช่วยเราขนาดฝนตก แดดออก ก็ยังมาหาที่บ้านทุกวันพุธ ไม่มีเหน็ดเหนื่อย ทั้งที่เป็นคนอื่น เราเองที่เป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องคอยดูแลลูกเราให้เดินให้ได้” นางแพงสีเล่าอย่างมีความหวังว่า จากการดูแลอย่างต่อเนื่องวันหนึ่งลูกชายจะลุกขึ้นไปเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทยที่สนามกีฬาตามความฝันของลูกได้
“ผมยืนยันได้ว่าตำบลนี้ไม่มีผู้พิการที่ตกหล่น ไม่ได้รับการดูแลอย่างแน่นอน เพราะทุกคนในชุมชน และอาสาสมัครจะช่วยกันดู หากมีใครต้องได้รับการฟื้นฟูก็จะแจ้งมาที่ศูนย์โฮมสุข จากนั้นจะมีนักกายภาพบำบัดลงประเมินว่าผู้พิการนั้นจะต้องได้รับการฟื้นฟูด้านใดบ้าง และบางครั้งหากแพทย์ไม่สะดวกที่จะลงประเมินความพิการก็จะใช้วิธีการถ่ายวิดีโอไปให้แพทย์ช่วยดู เมื่อแพทย์ลงความเห็นแล้วก็จะให้อาสมัครศูนย์โฮมสุขไปช่วยดูแลเรื่องการลงทะเบียนเป็นผู้พิการกับ พมจ. ซึ่งก็จะทำให้ผู้พิการได้รับเบี้ยยังชีพ และยังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น ด้วยการใช้งบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ฯ หากจำเป็นจะต้องปรับปรุงบ้านก็จะใช้งบประมาณของเทศบาลลงมาช่วย ถือว่าครบวงจรในการช่วยเหลือ” ปลัดเทศบาลตำบลนาจารย์ระบุ และว่าหากคิดจะพัฒนางาน สร้างสุขภาพถ้วนหน้าในคนในพื้นที่นั้น ขอให้มีใจที่จะทำก่อน จากนั้นงบประมาณจะตามมาเอง
การบูรณาการวางแผนการทำงานสร้างสุขให้คนในพื้นที่นั้น สามารถบอกได้เต็มปากว่า จ.กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดแรกๆ ที่ทำได้ และ“ศูนย์โฮมสุข” เป็น “ศูนย์รวมแห่งความสุข” ของคนตำบลนาจารย์ อย่างเต็มภาคภูมิ.
- 687 views