ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เขียนถึงสถานการณ์ระบบสุขภาพในประเทศแอฟริกาใต้ ที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจ รพ.เอกชนพสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อดูสถิติการให้บริการกลับพบว่า ให้บริการประชาชนแอฟริกาใต้เป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่เน้นชาวต่างชาติ และยิ่งไปกว่าธุรกิจของ รพ.เอกชนที่นี่ ตกอยู่ในมือของเจ้าของ 3 เครือเท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของไทย ที่ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้แก้ไขค่ารักษา รพ.เอกชนพุ่งขึ้นสูง แต่มาวันนี้กลับดูเหมือนว่าจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย
เหลียวโลก แลเรา ‘ธุรกิจ รพ.เอกชนในแอฟริกาใต้’
ข้อมูลการติดตามศึกษาระบบสุขภาพของประเทศแอฟริกาใต้ โดย Health Systems Trust นั้นมีหลายเรื่องน่าสนใจ www.hst.org.za
งานวิจัยหนึ่งบรรยายให้เห็นภาพของระบบสุขภาพของแอฟริกาใต้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะไปรับการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลเอกชน
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ อัตราการเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนของประเทศเค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมผลประกอบการที่ได้กำไรโดยตลอด ไม่เคยขาดทุน โดยตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอกชน ทั้งที่รวมยา หรือไม่รวมยา ล้วนสูงขึ้นกว่า 2.5 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และไม่มีกลไกใดๆ ที่จะหยุดยั้งได้
ทั้งนี้หากดูสถิติคนไข้ที่ไปรับบริการในภาคเอกชนของแอฟริกาใต้ พบว่าบริการประชากรตัวเองเพียงส่วนน้อย เน้นแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะได้รายได้เข้าประเทศ แต่การประกอบกิจการนั้นมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพโดยรวม เช่น การดึงหมอ พยาบาลจากภาครัฐออกไปจากระบบ เป็นต้น
ที่น่าสนใจสุดๆ คือ จำนวนโรงพยาบาลเอกชนมากมายในประเทศ รวมแล้วกว่า 30,000 เตียงนั้น อยู่ในมือเจ้าของเพียง 3 เครือเท่านั้น...
อ่านถึงตรงนี้ ก็ทำให้ผมแอบคิดถึงประเทศสารขันธ์ ในทางช้างเผือก ที่เมื่อสองเดือนก่อน มีข่าวคราวเคลื่อนไหวกันคึกคักผ่านทางสื่อมวลชน เรื่องค่ายา และค่ารักษาในเอกชนแพง แถมเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน คนไข้ก็โดนเอกชนเกี่ยงการรักษา โดยบังคับให้ลงนามรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก่อน ทั้งๆ ที่มีนโยบายระดับชาติว่า ฉุกเฉินสามารถเข้าได้ทุกที่เพื่อรักษาชีวิตก่อน
เขียนถึงตรงนี้ ก็ทำให้แอบคิดถึงกลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาค่ายา และค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ที่รัฐมนตรีออกข่าวว่าตั้งขึ้นมา และประกาศนโยบายระยะสั้นมา 3-4 ข้อ จากนั้นยังไม่ได้ข่าวคราวความคืบหน้า
ประเทศแอฟริกาใต้นั้น ทาง Health Systems Trust เขียนวิเคราะห์ไว้ว่า สถานการณ์เอกชนของเค้าจำเป็นต้องมีมาตรการระดับชาติ ที่จะจัดการปัญหาราคาแพงที่ไม่มีกลไกใดควบคุมเลย รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานในการดูแลรักษา และการเรียกร้องให้เอกชนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสุขภาพของประชาชน
เราอ่านกันมาถึงตรงนี้แล้ว "ชอบไหม ที่จะสนับสนุนให้เกิดนโยบาย privatization ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน ?"
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 16 views