เปิดร่างแรกข้อเสนอ กฎหมายใหม่คุมบริหาร 3 กองทุนสุขภาพ ของทีดีอาร์ไอ ภายใต้ คกก.ประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพ ที่ “อัมมาร” เป็นประธาน เพื่อพัฒนากลไกกลางลดเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ให้จัดตั้งสภาประกันสุขภาพ กำหนดชุดสิทธิประโยชน์กลาง ระบบบริการ การสนับสนุนทางการเงิน ระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ และ ระบบกำกับคุณภาพบริการ เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยความเห็นชอบของ ครม. พร้อมกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองและโทษทางอาญา และตั้งสำนักงานสภาประกันสุขภาพ ทำหน้าที่เลขานุการ จัดสรรงบ 0.5 % จากงบประมาณประกันสุขภาพรวมทั้งปี ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น เพื่อปรับแก้ต่อไป
19 ก.ค. 58 ได้มีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ.เพื่อคุมการบริหาร 3 กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะชื่อร่าง พ.ร.บ.ใด โดยมีตัวเลือกได้แก่ ก.กำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ข.เพื่อสร้างความกลมกลืนในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ค.จัดระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ง.อภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ โดยระบุว่า เป็นร่างของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอจากคณะกรรมการประสานงาน 3 กองทุนสุขภาพ ซึ่งมี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน สำหรับการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพภาครัฐ
ซึ่งข้อเสนอกลไกกลางนั้น ให้มีการจัดตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Council on Health Insurance) โดยมีสำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขา เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ หรือเป็นองค์การมหาชน อยู่ภายใต้กฎหมายกำกับระบบประกันสุขภาพภาครัฐ
คณะกรรมการจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะใช้ชื่อใด องค์ประกอบของคณะกรรมการ มี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมต.จาก ก.คลัง ก.สาธารณสุข และ ก.แรงงาน ผู้แทนหน่วยงานผู้รับประกันจำนวน 3 คน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
ผู้แทนผู้ให้บริการจำนวน 3 คน แบ่งเป็น ผู้แทน ก.สาธารณสุข 1 คน ผู้แทนกระทรวงอื่น 1 คน และผู้แทนภาคเอกชน 1 คน ผู้แทนผู้รับบริการจำนวน 3 คน แบ่งเป็น ผู้แทนข้าราชการ 1 คน ผู้แทนผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม 1 คน และประชาชนผู้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1 คน
ขณะเดียวกันยังมี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ครม.แต่งตั้งอีก 3 คน มาจากสาขาการแพทย์และสาธารณสุข สาขาการเงินการคลังและการประกันสุขภาพ และสาขาสังคมศาสตร์และการคุ้มครองผู้บริโภค สาขาละ 1 คน เป็นกรรมการ
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ที่สำคัญเช่น กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และแนวทางที่จะนำไปสู่ความกลมกลืนของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นในด้าน ชุดสิทธิประโยชน์กลาง ระบบบริการ การสนับสนุนทางการเงิน ระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ และ ระบบกำกับคุณภาพบริการ เพื่อนำไปสู่ความเป็นธรรม คุณภาพ และประสิทธิภาพ โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี กำหนดวงเงินงบประมาณของระบบประกันสุขภาพภาครัฐทั้งหมดในภารพรวมเป็นประจำทุกปี และเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ กำกับติดตามและการประเมินผลการดำเนินงานที่นำไปสู่ความกลมกลืนของระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ พร้อมทั้งจัดทำรายงานเสนอ ครม.เป็นครั้งคราว อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้รับรู้
กำหนดมาตรฐานกลางในการลงโทษหน่วยงานผู้ให้บริการ โดยให้อำนาจในการลงโทษเป็นของหน่วยงานผู้รับประกันแต่ละหน่วยงานตาม พ.ร.บ.นี้ กำกับติดตาม และดูแลการปฏิบัติงานของหน่วยงานผู้รับประกันในการดำเนินงานตามนโยบาย หลักเกณฑ์ แนวทางที่คณะกรรมการกำหนด
ขณะที่มาตรการบังคับทางปกครองและโทษทางอาญานั้น มาตรการบังคับทางปกครองต่อสถานพยาบาลเอกชน ได้แก่ เตือน คำสั่งระงับใบอนุญาต และคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนมาตรการบังคับทางปกครองต่อสถานพยาบาลรัฐ/มหาวิทยาลัยรัฐ มีโทษทางวินัย/ความรับผิดของเจ้าหน้าที่
ให้จัดตั้งสำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานะของสำนักงานมีตัวเลือก 3 ข้อ คือ ก.ในสังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ข.เป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ค.องค์การมหาชน โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณ 0.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้านการประกันสุขภาพทั้งหมดของปีนั้น อยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
สำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่ดำเนินการตามมติของกรรมการ อำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ให้บริการ และผู้ซื้อบริการในการคัดเลือกผู้แทน และการปฏิบัติงาน (เจรจา) ร่วมกับสำนักงาน จัดให้มีการเจรจาเพื่อที่จะจัดตั้งและพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ร่วมกัน จัดให้มีการเจรจาเพื่อจะจัดตั้งและพัฒนาวิธีการชำระค่าบริการและการปรับปรุงระบบบริการสุขภาพของรัฐ ร่วมดำเนินงานกับ สถาบันมาตรฐานข้อมูลสวัสดิการสุขภาพ (สมสส.) ในการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของประชาชน การตรวจสอบการปฏิบัติตามมติคณะกรรมการประกันสุขภาพ และการประเมินผลระบบประกันสุขภาพ
วิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการประกันสุขภาพ เปิดเผยรายงานการประชุมของคระกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการประกันสุขภาพ ภายในเวลาที่กำหนด
รายละเอียดอื่นๆ ในกฎหมาย ประกอบด้วย การวินัจฉัยชี้ขาด การกำหนดการเจรจา การคัดเลือกผู้บริหาร บทกำหนดโทษ การประเมินผลการทำงานของสำนักงาน การอุทธรณ์ ร้องเรียน ส่วนงบประมาณของสำนักงาน 0.5% ของงบประมาณประกันสุขภาพทั้งหมด
เหตุผลในการประกาศ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ เนื่องจากระบบบริการสุขภาพของไทยในปัจจุบันนั้นมีแนวทางและวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพและระบบประกันสุขภาพของรัฐ ความแตกต่างของระบบหลักประกันสุขภาพที่มีอยู่ อันได้แก่ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีส่วนทำให้ปัญหาดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอยู่ภายใต้การบริหารจัดการหลายหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ รูปแบบกลไกการบริหารจัดการ และแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทำให้ขาดความเป็นเอกภาพ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีหน่วยงานกลางที่อยู่ในความกำกับดูแลของภาครัฐ เพื่อให้การบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของรัฐ อยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน อันจะทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน การได้รับบริการสุขภาพ และระบบประกันสุขภาพของรัฐ ทำให้เกิดประสิทธิภาพต่อการบริการจัดการระบบประกันสุขภาพของรัฐดังกล่าว ในการนี้สมควรจัดตั้งสำนักงานสภาประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้นเป็นส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบประกันสุขภาพของรัฐทั้ง 3 ระบบอย่างกลมกลืน และดำเนินการอย่างสอดคล้องกันตามนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบบริการสุขภาพ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
สำหรับความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ระหว่างการส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกความเห็น
- 4 views