ทีดีอาร์ไอ เปิดผลวิจัย “น้ำเมา” สร้างศก. 6 แสนล้านบาท รัฐได้ภาษีสูง 1.5 แสนล้าน แต่ส่งผลต่อต้นทุนสังคมไทย 1.7 แสนล้าน กระทบสุขภาพมากสุด 55% คิดเป็นมูลค่าสูง 9.4 หมื่นล้าน  ขณะที่ร้านค้าพื้นที่เมืองใหญ่ขายสุราให้เด็กต่ำกว่า 20 ปีราว 30%   แนะปรับปรุงกฎหมายคุมเหล้า และเพิ่มภารกิจ สสส.เป็นกองทุนเยียวยา

 

 

เมื่อวันที่ 9 เมษายน  ที่โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ รัชดา กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนาสาธารณะ "ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จุดสมดุลเพื่อสังคมและเศรษฐกิจ" พร้อมนำเสนอผลกาศึกษาเรื่องการทบทวนนโยบายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อการส่งเสริมสมดุลด้านการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

 

ทีดีอาร์ไอแนะปรับปรุงกฎหมายคุมเหล้า หลังดื่มไม่ลด

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องนี้เป็นงานที่อ่อนไหวมาก แต่เราควรมาพูดกันในหลักฐานเชิงประจักษ์ มีเสรีภาพที่พูดได้ทุกฝ่าย จึงอยากมารับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจเกือบ 6 แสนล้านบาท ภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่ก็ได้สร้างต้นทุนทางสังคมไม่ต่ำกว่า 1.7 แสนล้านบาท รัฐบาลอกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดผลกระทบทางสังคม โดยใช้มาตรการทางด้านราคาและไม่ใช่ราคา แต่ยังแก้ไม่ตรงจุดเนื่องจาก 1.สัดส่วนการดื่มของกลุ่มเด็กเยาวชน 15-19 ปี เข้าถึงสุราไม่ได้ลดลง และ 2.จำนวนผู้เสียชีวิตจาก "เมาแล้วขับ" ยังมีแนวโน้มสูง ยกเว้นช่วงโควิด จึงควรมีการปรับปรุงกฎหมายและกำกับควบคุมให้มีประสิทธิผลและธรรมาภิบาล

เสนอ 3 ข้อคุมโฆษณาเหล้าเบียร์

ผลวิจัยครั้งนี้ งานวิจัยในต่างประเทศ และงานวิจัยในประเทศให้ข้อสรุปตรงกันใน เรื่องลำดับความสำคัญของการควบคุมการเข้าถึงสุราของเด็กและเยาวชน และการลดความเสี่ยง/สูญเสีย/เสียหายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา โดยมาตรการแทรกแซงที่มีประสิทธิผลสูงสุดในการลดการบริโภคและความเสี่ยงจากโรค NCDs ที่เกี่ยวข้องกับสุรา คือ ภาษี มาตรการจิตวิทยา การควบคุมการเข้าถึงสุรา ส่วนการคุมการโฆษณาได้ผลต่ำสุด จึงมีข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.มุ่งเน้นการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  2.ลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด และ 3.มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม

น้ำเมา กระทบสุขภาพมากสุด 55%  

น.ส.ธารทิพย์ ศรีสุวรรณเกศ นักวิจัยอาวุโส ด้านนโยบายการกำกับดูแลที่ดี ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อต้นทุนแก่สังคมไทย 1.7 แสนล้านบาท พบว่า เป็นผลกระทบด้านสุขภาพมากที่สุด 55% คิดเป็น 9.4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ อุบัติเหตุทางถนน 31% กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ปัญหาการบาดเจ็บต่างๆ 10 % คิดเป็น 1.7 หมื่นล้านบาท และอาชญากรรม 4% คิดเป็น 7 พันล้านบาท

 

สำรวจร้านค้า 30% ขายน้ำเมาให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าและผู้บริโภคใน กรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งเมืองใหญ่อย่างขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต พบว่า มีร้านค้าถึง 30% ที่ขายเหล้า-เบียร์ ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี  ขายใกล้สถานศึกษากว่า 23%  เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านของชำมากที่สุด  36% ร้านสะดวกซื้อ 35% ร้านอาหาร 26% และออนไลน์ 3% การดื่มครั้งแรกมาจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิด 62% คอนเทนต์ในสื่อต่างๆ 7.23% และโฆษณาในสื่อออนไลน์ 4.82% แรงจูใจเฉลี่ยของสื่อที่มีผลต่อการจูงใจให้ดื่มจาก 5 คะแนน พบว่า คอนเทนต์ในรายการ/โซเชียลมีเดียต่างๆ อยู่ที่  2.53 คะแนน โฆษณาจากโซเชียลมีเดีย 2.43 คะแนน

ข้อเสนอปกป้องคุ้มครองเด็กจากน้ำเมา

สำหรับข้อเสนอการปกป้องและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ 1.แก้ไขมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยให้โฆษณาได้ แต่ต้องไม่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี เช่น ห้ามมีป้ายโฆษณาใกล้สถานศึกษาระยะ 1 กิโลเมตร ห้ามโฆษณาผ่านสื่อกระแสหลักตามช่วงเวลาที่ กสทช.กำหนด ห้ามโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต้องมีหน้าที่ในการจำกัดเนื้อหาการโฆษณาที่เจาะจงกับเด็ก, ห้ามโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณ โดยกำหนดขอบเขตเนื้อหาที่สามารถใช้โฆษณาให้ชัด เช่น ห้ามโฆษณาที่เชื่อมโยงกับการดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงาน หรือประสบความสำเร็จทางสังคม หรือเกี่ยวโยงกับสมรรถภาพทางเพศ, ห้ามโฆษณาที่บอกสรรพคุณว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติในการรักษาโรค หรือทำให้สดชื่น สงบ หรือเป็นหนทางไปสู่การยุติความขัดแย้ง หรือห้ามโฆษณาที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น โฆษณาที่เชื่อมโยงการดื่มกับการขับขี่ โฆษณาที่สื่อถึงพฤติกรรมการดื่มของวัยรุ่นหรือเยาวชน

 

2.เพิ่มบทลงโทษกรณีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งปัจจุบันโทษอยู่ที่จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ขณะที่โทษโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท ปรับอีกวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งต่างประเทศโทษเรื่องของจำหน่ายให้เด็กและเยาวชนสูงมากโดยอาจเพิ่มมาตรการระงับกิจการชั่วคราวกี่วัน ตามระดับความหนักเบาหรือระดับความเสียหาย แต่หากพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำควรพิจารณายกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการ และ 3.เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มช่องทางการรับแจ้งออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน

 

เสนอลดปัญหาบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด

ส่วนข้อเสนอเรื่องลดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในทางที่ผิด มีข้อเสนอให้ยกเลิกสินบนรางวัล เนื่องจากการดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2561-2565 ส่วนมากเป็นการฝ่าฝืนโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้มีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่จะได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด นอกจากนี้ แม้ว่าสินบนรางวัลอาจสร้างแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด แต่อาจมีการใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด 

น.ส.ณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัยอาวุโสด้านนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ข้อเสนอมุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบทางสังคมนั้น เราพบว่า การบริโภคแอลกอฮอล์ทำให้เกิดภาระต่อสังคมในรูปแบบ คือ ความสูญเสียความสามารถในการผลิต ผู้รับผลกระทบขาดรายได้ 1.3 แสนล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากการดื่มสุราและอุบัติเหตุทางถนน 1.8 หมื่นล้านบาท สูญเสียคุณภาพชีวิตและจิตใจผู้ประสบอุบัติเหตุและครอบครัว 1.5 หมื่นล้านบาท สูญเสียทรัพย์สินจาอุบัติเหตุ 6.2 พันล้านบาท และต้นทุนการดำเนินคดี 1.8 พันล้านบาท

เสนอ สสส.ใช้จ่ายงบเพิ่ม เน้นบำบัดฟื้นฟู ช่วยเหลือ เยียวยา 

ข้อเสนอคือเพิ่มภารกิจให้กองทุน สสส. ใช้จ่ายเงินกองทุนจากการ Earmark tax (กองทุนเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ) สำหรับเป็นงบประมาณเพิ่มเติมในการทำงานเพื่อลดปัญหาผลกระทบเชิงลบทางสังคมที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราเรื้อรัง ช่วยเหลือและเยียวยา ผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และครอบครัว จากอุบัติเหตุดื่มขับ รวมไปถึงสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อตั้งจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  นอกจากนี้ ในระยะยาวควรมีปรับแนวทางการกำหนดค่าเสียหายในทางแพ่งเพื่อชดเชยแก่ผู้เสียหายอย่างเป็นธรรมและสะท้อนมูลค่าทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในกรณีอุบัติเหตุ “เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”

 

ส่วนการป้องปรามการ “ดื่มขับ” ควรต้องปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่เพื่อคัดกรองผู้ที่ดื่มขับออกจากถนนให้เร็วขึ้น โดยควรปรับเกณฑ์การตัดแต้มใบขับขี่เป็นขั้นบันไดตามปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด และตัดแต้มเพิ่มขึ้นหากกระผิดซ้ำ, ควรเก็บข้อมูลระดับแอลกอฮอล์กับการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อศึกษาเพิ่มเติมในการกำหนดแนวทางการตัดแต้มตามระดับแอลกอฮอล์, ปรับแนวทางการตั้งด่านจุดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม และทบทวนมาตรการเปิดผับถึงตี 4 เพื่อลดผลกระทบจากอุบัติเหตุดื่มขับ ซึ่งหลังจากมีการขยายเวลาปิดให้บริการผับถึงตี 4 ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2566 มีข้อมูลจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ที่ได้ติดตามข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดื่มขับ พบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น 21% อัตราผู้ขับขี่ที่ดื่มขับแล้วเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะในช่วงตี 4-5 เพิ่มขึ้นถึง 16% และยังพบว่าเกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อประชาชนทั่วไปที่เริ่มทำกิจกรรมทางสังคมในช่วงเวลาตี 4-5 จึงควรมีการทบทวนมาตรการดังกล่าว

 

ขณะที่เวทีเสวนา “มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์...ประเทศไทยไปต่ออย่างไร?”   ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า หัวข้อที่ตั้งคือ เน้นเรื่องสมดุล มิติสังคมและเศรษฐศาสตร์ จริงๆ ควรคำนึงถึงมิติประชากรด้วย อย่างทางเศรษฐศาสตร์ใครได้ประโยชน์จากธุรกิจนี้ แต่ผู้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์คือทุกคน ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลกระทบต่อคนอื่นมากกว่าสิ่งเสพติดอื่น จึงอยากให้นำมิตินี้นำมาคำนวณด้วย ส่วนประเด็นหลักงานวิจัยนำเสนอมุ่งเป้าไปที่การโฆษณา เหมือนระบุว่าการโฆษณาไม่มีผล แต่งานวิจัยทั่วโลกวิจัยว่ามีผล WHO กำหนดเป็นนโยบายว่า ลงทุนน้อยได้ผลมาก ถ้าโฆษณาไม่ได้ผล ธุรกิจจะลงทุนมหาศาลทำไมกับการโฆษณา ยิ่งเยาวชนอายุน้อยยิ่งมีโอกาสไปเป็นเหยื่อการตลาดมากที่สุด เพราะฉะนั้น การโฆษณาไม่ให้มีผลต่อเยาวชน บริบทสื่อทุกวันนี้เป็นไปไม่ได้

 

"ไม่ว่าสื่อไหนก็เข้าออนไลน์ ก็เข้าถึงทุกคนอยู่แล้ว เรื่องโฆษณา ถ้าแก้ต้องแก้ให้ดีขึ้น ทุกวันนี้ยังมีจุดอ่อน ถ้าทำให้ดีคือไม่มีจุดอ่อน ทำเหมือนบุหรี่ที่ควบคุมการโฆษณาคือโทเทิลแบน ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่มองว่ารายย่อยจะได้เปรียบ เพราะถ้าเปิดโฆษณา รายใหญ่จะได้เปรียบเพราะมีทุนมหาศาล โฆษณาลงทุนได้เต็มที่ แบบนี้แก้ไขลดความเหลื่อมล้ำหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำ รายย่อยจะเอาทุนที่ไหนมาสู้" ภก.สงกรานต์กล่าว

 

พ.ต.อ.เอกกมนต์ พรชูเกียรติ รอง ผบก.ผอ.สยศ.ตร. กล่าวว่า เรื่องการโฆษณา ที่ประชุมอนุกรรมการเร่งรัดการกระทำความผิดเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเรื่องการโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย เราพบว่าไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างรวดเร็วจากหลายสาเหตุ ทั้งคนติดตามเฝ้าระวัง มีเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคและประชาชนร้องเรียนเข้าไป ก็จะส่งเรื่องร้องเรียนให้กรมควบคุมโรค ที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะมาแจ้งความร้องทุกข์ตามที่ตั้งของกระทวงสาธารณสุข คือ สภ.เมืองนนทบุรีทั้งหมด ซึ่งมีคดีค้างจำนวนมาก ขณะที่โซเชียลมีเดียมีหลายแพลตฟอร์ม ทั้ง TIKTOK เฟซบุ๊ก ไอจี ก็ต้องประสานตำรวจไซเบอร์หาแหล่งที่มา หากพบผู้กระทำผิดได้ก็จะดำเนินการจับกุมดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 32 แต่หลายแพลตฟอร์มไม่ได้ตั้งในไทย เช่น อยู่สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อาจยากในการสืบสวน การตั้งให้เด็กต่ำกว่า 20 ปีห้ามดูโฆษณาคงลำบาก

 

ส่วนที่สังคมเรียกร้องทำไมไม่ปิดกั้นแพลตฟอร์ม ตามกฎหมายที่ปิดกั้นมีฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2551 โดยเจ้าหน้าที่ต้องส่งเรื่องสำนวนให้กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อตั้งรูปสำนวนยื่นศาลปิดกั้น ถึงจะส่งให้แพลตฟอร์มปิดกั้นได้ ต่างจากสิงคโปร์หรือฮ่องกงที่ใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐปกติเข้าปิดกั้นแพลตฟอร์มเหล่านี้ทันที ทำให้ต้องใช้ระยะเวลา แต่พอปิดกั้นเสร็จไม่กี่นาทีก็มีเข้ามาใหม่ในอีก IP หนึ่ง