สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทยหนึ่งใน 14 สำนักงานของสภากาชาดไทยที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2483 มีหน้าที่สรรหาฝึกอบรม และระดมอาสากาชาดที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งผู้ประสบอุทกภัยและรับใช้สังคมตามภารกิจของสภากาชาดไทย ได้แก่ การบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ การรับบริจาคโลหิต และงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส
ประวัติ
ในราวปี พ.ศ.2483 เกิดกรณีพิพาททางชายแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส คณะกรรมการสภากาชาดไทย พิจารณาแล้วเห็นว่า สภากาชาดไทยน่าจะเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ เพื่อการออกปฏิบัติงานได้ทันท่วงที จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการโดย หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นประธานอนุกรรมการได้จัดประชุมปรึกษาหารือกันหลายครั้ง ในที่สุดจึงได้มีมติให้ออกข้อบังคับสภากาชาดไทยว่าด้วยการอาสาสงเคราะห์จัดตั้งกองอาสากาชาดขึ้นเป็นกองแยกกองหนึ่งของสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2483 เพื่อรับสมัครผู้ที่มีจิตเป็นกุศล ซึ่งต่อมาเรียกว่าอาสากาชาด มาช่วยทำงานให้กับสภากาชาดไทย ทั้งในยามปกติและในเวลาที่เกิดภาวะฉุกเฉินแห่งสงคราม โดยกองอาสากาชาด มีหน้าที่ฝึกอบรมสมาชิกอาสากาชาดไว้เพื่อให้ทำการอุปการสงเคราะห์โดยทันท่วงที และมีประสิทธิภาพในเวลาฉุกเฉินแห่งสงครามหรือเหตุการณ์สาธารณภัยพินาศ และเป็นกำลังดำเนินงานของสภากาชาดไทยในเวลาปกติ
กองอาสากาชาด เปิดรับสมัครผู้มีจิตกุศลอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มาเป็นอาสากาชาดเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2483 ซึ่งต่อมาถือเป็นวันสถาปนากองอาสากาชาด
โดย หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และกรรมการสภากาชาดไทย เป็นผู้อำนวยการกองอาสากาชาด (คนแรก) หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ เป็นรองผู้อำนวยการ และหม่อมเจ้าหญิงมารยาตรกัญญา ดิศกุล ทรงเป็นเลขานุการองค์แรก
หลังจากรับสมัครอาสากาชาด และอบรมให้มีความรู้ความชำนาญแล้ว อาสากาชาดได้เข้าไปช่วยประกอบอาหาร ช่วยพยาบาลทหารเจ็บป่วยในโรงพยาบาลเสนารักษ์ พญาไท (โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โรงพยาบาลสนามที่วัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรี โรงพยาบาลสนามที่จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี
ครั้นเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา อาสากาชาดก็ได้ช่วยประกอบอาหารเลี้ยงทหารที่บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ ช่วยเขียนจดหมายติดต่อญาติ ช่วยงานด้านบรรเทาภัยทางอากาศ ช่วยเย็บเสื้อผ้า สำหรับใช้ในการรักษาพยาบาล และประดิษฐ์เครื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น
เมื่อสิ้นภาวะสงคราม มีการจัดตั้งสโมสรอาสากาชาดขึ้น เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2484 เพื่อให้สมาชิกอาสากาชาดได้พบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความรู้ และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ไม่ห่างหายไปจากกองอาสากาชาด
ในยามสงบ โดยปกติแล้วอาสากาชาดจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนไข้ของแผนกผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ดูแลเด็กอ่อนที่โรงพยาบาลหญิง ช่วยพับผ้ากอซ ม้วนสำลี ทำผ้าพันแผล ช่วยปฏิบัติงานบรรเทาทุกข์ ทั้งอุทกภัย และภัยหนาว เป็นต้น ทั้งนี้อาสากาชาดสามารถออกปฏิบัติงานได้ตามความถนัด และความสมัครใจ
กิจกรรมของอาสากาชาด แบ่งเป็น 7 แผนก คือ แผนกช่วยฝ่ายธุรการ แผนกประดิษฐ์ แผนกการเลี้ยง แผนกอนามัยสงเคราะห์ แผนกสงเคราะห์ทางบ้าน แผนกบำรุงใจคนไข้ แผนกยานพาหนะ แผนกต่างๆ ของอาสากาชาด จะมีหัวหน้าแผนก ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยองค์สภานายิกาสภากาชาดไทย อาสากาชาดที่จะสมัครเข้าทำกิจกรรมในแผนกต่างๆ จะได้รับการอบรมความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสภากาชาด การปฐมพยาบาล และวิชาเฉพาะของแผนก และฝึกงานจนชำนาญก่อนออกปฏิบัติงานจริงตามหน่วยงานต่างๆ
งานของอาสากาชาดในระยะแรก ลักษณะเป็นงานที่ให้บริการ และให้การช่วยเหลือตามสถานการณ์ของบ้านเมือง
ในราวปี พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา ได้มีการพัฒนางานของอาสากาชาดเพิ่มขึ้นอีก 4 แนวทางคือ งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมสุขภาพอนามัย บรรเทาสาธารณภัย การอนุรักษ์ศิลปกรรม และสิ่งแวดล้อม มีโครงการต่างๆ ที่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย เช่น โครงการรณรงค์ขจัดโรคขาดสารไอโอดีน โครงการต้นแบบโรงเรียนมาตรฐานระบบการต้านยาเสพติด โครงการอาสากาชาดฟื้นฟูสุขภาพถึงบ้าน ศูนย์พัฒนาทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สดใส การช่วยเหลือบรรเทาอุทกภัย โดยมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับสำนักงานอาสากาชาดเป็นอย่างมาก นับเป็นมิติใหม่ของสำนักงานอาสากาชาด (ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานอาสากาชาด เมื่อ 22 มิถุนายน 2539 โดยมติกรรมการเจ้าหน้าที่ ครั้งที่ 243/2539 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2539)
ภารกิจสำนักงานอาสากาชาด ในปัจจุบัน
โดยเน้นที่ งานพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ประกอบด้วย
งานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่เสี่ยงต่อสิ่งเสพติด มีโรงเรียนในโครงการทั่ว
ประเทศ 90 แห่ง โดยสำนักงานอาสากาชาด ได้จัดทำมาตรฐานระบบต้านสิ่งเสพติดซึ่งเป็นมาตรฐานการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนในการสร้างกิจกรรมคุณภาพโดยเสริมแรงจูงใจทางบวกให้เด็กเห็นคุณค่า ความสามารถในตนเองเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันสิ่งเสพติดโดยยึดหลัก PDCA (Plan, Do, Check, Act) ในการทำงาน และการให้ความหมายครอบคลุมสิ่งเสพติด ได้แก่ การเสพยาเสพติดทุกประเภท การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การเล่นเกมที่รุนแรงและการบริโภคผิดหลักโภชนาการ
งานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่
เศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนแบบพึ่งตนเองตามแนวพระราชดำริ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา จังหวัดลำพูน และเด็กนักเรียนหูหนวกและมีความต้องการเป็นพิเศษที่โรงเรียนนครสวรรค์ปัญญา
นุกูล จังหวัดนครสวรรค์ และงานเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับผู้ติดเชื้อHIV
งานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนด้านการเรียนรู้ การพัฒนาด้านการเรียนรู้ของเด็กในถิ่น
ทุรกันดาร และขาดโอกาสทางการศึกษา ได้มีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการคิดสำหรับเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจังหวัดบุรีรัมย์ ราชบุรี และอุตรดิตถ์ รวมทั้งมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สดใสธนบุรี สำหรับเด็กเร่ร่อนที่ขาดโอกาสในการศึกษาภาคปกติ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม และศูนย์ค้นหาสมรรถนะการคิดเด็กสำนักงานอาสากาชาด (TRC.VB Igniting Center) เพื่อมุ่งให้เด็กได้หาวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเองเกิดความสุข ความเชื่อมั่นในการที่ได้เรียนรู้ตามความถนัดจากสื่ออุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
งานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยมีการให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง การป้องกันโรคต่างๆ
จัดกิจกรรมออกกำลังกายและสันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ
งานพัฒนาคุณภาพชีวิตพระภิกษุสูงอายุรอบด้านตามเกณฑ์สภากาชาดไทย โดยการให้ความรู้ในการ
ดูแลตนเองด้านโภชนาการ การฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย การตรวจสายตา เป็นต้น
โครงการอาสารักษ์โลกรักสุขภาพ ซึ่งเน้นการห่วงใยใส่ใจสุขภาพด้วยการลดใช้โฟม ถุงพลาสติก รณรงค์การใช้แก้วน้ำและช้อนส้อมส่วนตัว เพื่อลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรค
นอกจากนี้ สำนักงานอาสากาชาดยังสนับสนุนภารกิจต่างๆ ประกอบด้วย การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุทกภัย โดยสนับสนุนและร่วมมือกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการช่วยเหลือด้านการยังชีพด้วยถุงยังชีพ การจัดตั้งคลังอาหารเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) เตรียมน้ำดื่มปลอดภัยสำหรับผู้ประสบอุทกภัย การช่วยเหลือด้วยการฟื้นฟูทางด้านอาชีพโดยการจัดตลาดนัดธารน้ำใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาชีพแก่ชุมชนที่เสี่ยงอุทกภัย ตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างที่อยู่อาศัย โดยจัดสร้างบ้านพักชั่วคราวหรือบ้านน็อคดาวน์ และบ้านถาวรแบบต่างๆ รวมทั้งการช่วยเหลืออื่นๆ
การบริการทางการแพทย์และสุขภาพอนามัย การให้การบริการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ป่วยและประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และผู้ด้อยโอกาส ได้แก่ งานเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน (Home health Care) โดยอาสากาชาดและทีมพยาบาลโรคหลอดเลือดสมองตีบ ผู้ป่วยผ่าตัดหลอดเลือดแดงหัวใจ ผู้ป่วยผ่าตัดมะเร็งเต้านม และผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก งานเยี่ยมผู้ติดเชื้อ HIV ในชื่อโครงการอาสากาชาดฟื้นฟูสุขภาพกายและจิตผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตจากโรคเอดส์โดยอาสากาชาด
นอกจากนี้ยังมีงานเยี่ยมผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้าย งานสนับสนุนจิตเวช งานช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้มารับบริการในสถานบริการ โรงพยาบาล และงานจัดทำสำลีและพับผ้าก๊อซให้โรงพยาบาล
การรับบริการโลหิต ดวงตา และอวัยวะ อาสากาชาดปฏิบัติงานร่วมจัดหาดวงตา อวัยวะเชิงรุก และงานร่วมออกหน่วยรับบริจาคดวงตา อวัยวะ เพื่อนำมาเก็บไว้เป็นคลังสำรองเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยยามฉุกเฉินและขาดแคลน
ด้วยพลังแห่งจิตอาสาที่เต็มเปี่ยม อาสากาชาดจึงมุ่งปฏิบัติภารกิจอย่างสุดกำลังให้สมกับคำว่าอาสาด้วยใจบริสุทธิ์ ตามปณิธานที่ว่าเราจะตั้งมั่นช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเมตตา กรุณา ด้วยความเสียสละและมีจิตบริการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชน
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย
- 169 views