พยาบาลอีสานเตรียมถกแนวทางขับเคลื่อนแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ-เงินเดือนตัน-ไม่มีสวัสดิการ ในการประชุมประจำปี 7-8 ส.ค.นี้ เผยหารือแนวทางขับเคลื่อนให้สังคมรับรู้ว่ามีความเหลื่อมล้ำ มีข้อเสนอให้ลองฟ้อง รพ.เรื่องเงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่นบาท เพื่อดูว่าผลจะเป็นอย่างไร และ สธ.จะว่าอย่างไร แต่ทั้งหมดยังไม่มีข้อสรุป
รศ.ดร.สมจิต แดนสีแก้ว นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมจัดประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 (ดูรายละเอียด ที่นี่) เรื่องการขับเคลื่อนวิชาชีพในยุคเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการจัดการดูแลเชิงบูรณาการ ระหว่างวันที่ 7-8 ส.ค. 2558 ซึ่งในงานนี้นอกจากการจัดเวทีสัมมนาวิชาการต่างๆ แล้ว จะมีเซคชั่นที่เปิดให้พยาบาลได้เข้ามาบอกเล่าถึงปัญหาด้านต่างๆ ในวิชาชีพ และแนวทางการขับเคลื่อนหลังจากนี้
รศ.ดร.สมจิต กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ๆที่พยาบาลกำลังประสบอยู่ในขณะนี้มี 3 ประเด็น คือ 1.ความไม่เท่าเทียมในการจ้างงาน เพราะเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรีคือ 15,000 บาท แต่พบว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งที่จ้างพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว โดยให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000-13,000 บาท แล้วมีเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ให้อีก 1,500-2,000 บาท เงินค่าหอพักอีกประมาณ 1,500 บาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียม เพราะเงิน พ.ต.ส. และค่าหอพักไม่ควรนำมานับรวมอยู่ในเงินเดือน
ประเด็นที่ 2.เรื่องเงินเดือนตันอยู่แค่ซี 7 พยาบาลบางคนอยู่ซี 7 มาเป็นสิบปี แต่เงินเดือนก็ตันอยู่แค่นั้น ไม่สามารถเลื่อนไหลได้ ทั้งๆ ที่เงินเดือนและตำแหน่งควรขยับเพิ่มขึ้นตามภาระงานและผลงาน และประเด็นที่ 3.เรื่องสวัสดิการ เพราะการทำงานของพยาบาลมีความเสี่ยง แต่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ตัวอย่างเช่น การส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการส่งตัวจนเกิดการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต ก็ไม่มีสวัสดิการรองรับ
“เราก็อยากให้สังคมได้ยินว่ามันมีความเหลื่อมล้ำมาก พยาบาลเหมือนทำงานราคาถูก ส่วนจะขับเคลื่อนกันอย่างไรต่อไป ก็คงต้องคุยกันอยู่เรื่อยๆ อย่างเรื่องเงินเดือนไม่ถึง 15,000 ก็มีคุยกันว่าจะลองฟ้องสักโรงพยาบาลดูไหมว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร หรือเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการ หลายคนก็บอกว่าถ้ายังไม่บรรจุจะแต่งชุดขาวไปชุมนุมที่ทำเนียบหรือลานพระรูปฯ เลยไหม เป็นต้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ และส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยกับการไปชุมนุม เพราะสามารถแสดงออกอย่างอื่นได้หลายทาง เช่น ติดโบว์ดำ ขึ้นแผ่นป้ายแสดงจุดยืน หรือรวมตัวที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องไปที่ทำเนียบก็ได้ เป็นต้น” รศ.ดร.สมจิต กล่าว
- 17 views