ผู้ต้องโทษ ไม่ว่าโทษที่เกิดขึ้นจากผิดพลาด หรือเจตนาให้เกิดขึ้น เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ เชื่อว่า  สภาพจิตใจจะเต็มไปด้วยความเครียด หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ คนเหล่านี้อาจมีสภาพจิตใจที่ผิดปกติติดตัวไปเมื่อพ้นโทษ สนใจ แสงสวัสดิ์ ที่ทำงานเป็นนักจิตวิทยาชำนาญการ เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา กว่า 10 ปี ทำหน้านี้โดยยึกหลักสำคัญคือการมองผู้ต้องขังในฐานะของเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง และช่วยเหลือทางจิตใจเพื่อให้สามารถมีความสุขกับสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

สนใจ แสงสวัสดิ์

สนใจ แสงสวัสดิ์ นักจิตวิทยาชำนาญการ เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา  กล่าวว่า ในเรือนจำกลางจังหวัดฉะเชิงเทรามีผู้ต้องขังทั้งหมด 3,789 คน แบ่งเป็นนักโทษหญิง 271 คน นักโทษชาย 3,518 คน ทางเรือนจำจะมีจิตแพทย์ทำหน้าที่คัดกรองผู้ต้องขังที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต หรือกลุ่มเสี่ยง ซึ่งตลอดระยะการทำงาน 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ต้องขังหญิงจะมีอาการเครียดหรืออาการทางจิตมากกว่าชาย แต่จะสังเกตได้ง่ายกว่าผู้ต้องขังชาย เนื่องจากธรรมชาติของผู้หญิงจะช่างพูดช่างคุย และอาจมีบางกรณีที่ผู้ต้องขังทำเป็นแกล้งป่วยทางจิต เพื่อหลีกเลี่ยงการทำงานตามที่เรือนจำวางกฎระเบียบไว้ แต่กลุ่มคนประเภทหลังนี้เจ้าหน้าที่จะให้เขาทำงานเหมือนผู้ต้องขังทั่วไปเช่นกัน

เมื่อทางเรือนจำคัดกรองผู้ป่วย และกลุ่มเสี่ยงแล้ว กลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ยา จิตแพทย์จากโรงพยาบาลพุทธโสธร จะเป็นผู้จ่ายยาให้ ส่วนกลุ่มเสี่ยงจะได้รับทำการบำบัด ด้วยกิจกรรมบำบัด เช่น ศิลปะบำบัด อาชีวะบำบัด นอกจากนี้ในเรือนจำยังมีห้องให้คำปรึกษา ที่ผู้ต้องขังสามารถขอรับบริการคำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สนใจ กล่าวว่า กิจกรรมบำบัดที่จัดขึ้นให้กับผู้ต้องขังนั้น จะเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นผ่านโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เช่น การศึกษาอาชีพสอนทำเบเกอร์รี่ เพ้นท์เล็บ วาดภาพ ซึ่งผู้ต้องขังสามารถเลือกเรียนได้ตามความชอบ ซึ่งการจัดกิจกรรมดังกล่าว ช่วยทำให้ผู้ต้องขังผ่อนคลายความตึงเครียดได้บ้าง และสามารถสร้างเป็นอาชีพให้กับผู้ต้องขังได้ในยามที่พ้นโทษออกไป

นอกจากนี้ สนใจ ยังบอกว่า ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ต้องขังกลับตัวเป็นคนดีได้หรือไม่ บางครั้งพบว่า ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปแล้วต้องกลับมาติดคุกนี้ ส่วนหนึ่งมาจากครอบครัวที่ไม่ยอมรับว่าผู้ต้องขังจะสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ รวมทั้งการที่เข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ผู้ต้องขังเข้าสู่วงจรชีวิตเดิมๆ อีก

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยของครอบครัวยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าครอบครัวมีความรัก ความเข้าใจให้กับผู้ต้องขัง ก็จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้ต้องขังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เขายังต้องโทษอยู่นั้น พบว่า ผู้ต้องขังที่มีญาติ พี่น้อง ครอบครัวมาเยี่ยมประจำ พฤติกรรมที่แสดงออกมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ต่างกับผู้ต้องขังที่ไม่มีญาติหรือครอบครัวมาเยี่ยม

ส่วนผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิต ที่จำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพ้นโทษไปแล้ว ทางเรือนจำจะแจ้งให้ญาติทราบเพื่อนำผู้ต้องขังที่ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาล โดยจะมีใบส่งต่อจากเรือนจำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย

สนใจ กล่าวว่า ทางเรือนจำยังต้องทำกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนที่อยู่ใกล้เรือนจำ และสถานศึกษา ให้มีความรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้ต้องขังให้เป็นบวก เพื่อเป็นการเปิดโอกาสทางสังคมให้กับผู้ต้องขังได้อีกทางหนึ่ง ให้เขาได้มีที่ยืนในสังคม ด้วยการนำเสนอเรื่องดีที่ผู้ต้องขังทำให้นำออกสู่สายตาสังคมภายนอกได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนดังที่กล่าวมาข้างต้น

ซึ่งในปี 2557 ได้มีการจัดอบรมด้านสุขภาพจิต และกิจกรรมบำบัดในรูปแบบต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนในปี 2558 นี้ จะมีการจัดกิจกรรม “เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ต้องขัง” รวมทั้งยังจะมีการเพิ่มบุคลากรทางด้านจิตวิทยาในเรือนจำอีก โดยจะมีการดึงกลุ่มพยาบาล หัวหน้างานชุมชนบำบัด สถานศึกษา และครอบครัว เข้ามาช่วยกันทำกิจกรรมต่างๆ ของเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา

เมื่อถามถึงการทำงานที่ต้องทำงานกับผู้ต้องขัง มีความแตกต่างกับการทำงานกับคนทั่วไปหรือไม่ สนใจบอกว่า ผู้ต้องขังก็เหมือนกับคนทั่วไป แต่เขาอาจจะมีความเครียดเนื่องจากการลงโทษที่มาจากการกระทำของเขาทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เราในฐานะผู้ควบคุมดูแลผู้ต้องขังเหล่านี้ จะต้องยึดหลักของความเมตตา มองว่าเขาเป็นคนๆ หนึ่ง ไม่ใช่ผู้ต้องขัง ต้องพยายามทำให้ผู้ต้องขังอยู่อย่างมีความสุขกับสถานะที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ การให้ความเมตตา ไม่มีการบางแยก ให้โอกาส

“การทำงานเราอาจจะเหนื่อย แต่เมื่อเราเห็นรอยยิ้มของผู้ต้องขัง มันเป็นรอยยิ้มที่มีความสุข สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย”

ส่วนวิธีสร้างสุขในการทำงานของนักจิตวิทยาคนนี้คือ การนำความรัก ความเมตตาในใส่ลงไปกับงานที่ทำ