รองนายกรัฐมนตรี ชื่นชมการดำเนินงานทีมหมอครอบครัว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ “นำสุขภาพดี ส่งตรงถึงบ้าน”ดูแลสุขภาพความเป็นอยู่ เตรียมขยายผลดูแลประชาชนทุกกลุ่มวัย ชี้ความร่วมมือของหน่วยราชการ ท้องถิ่น และภาคประชาชนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เตรียมประสานมหาดไทยสนับสนุน “ทีมหมอครอบครัว”
วันนี้(12 กรกฎาคม 2558) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ติดตามการดำเนินงานทีมหมอครอบครัว เยี่ยมผู้ป่วย ผู้พิการ ที่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โดย จ.ชัยภูมิ มีทีมหมอครอบครัวระดับอำเภอ 99 ทีม ตำบล 186 ทีม และชุมชน 913 ทีม
ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทีมหมอครอบครัวเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการ เป็นข้อต่อที่นำชาวบ้านสู่ระบบรักษาพยาบาล ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่งแล้ว และพัฒนาจนเป็นระบบทั่วประเทศ ดูแลสุขภาพประชาชนตลอดช่วงวัยชีวิต ปีแรกเน้นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ดูแลทุกมิติ ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค
การดำเนินงานทีมหมอครอบครัวจะประสบผลสำเร็จ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยราชการอื่น ท้องถิ่น และประชาชน ร่วมมือจัดบริการพื้นฐานด้านสังคม ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)และนักบริบาลชุมชน ที่ผ่านการอบรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ต้องการภาวะพึ่งพิงในชุมชน นับเป็นทีมที่ “นำสุขภาพดีส่งตรงถึงบ้าน” ความร่วมมือของหน่วยราชการ ท้องถิ่น และภาคประชาชนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่น เช่น การปรับปรุงที่พักอาศัย การจ่ายค่าตอบแทนนักบริบาลชุมชน เตรียมประสานกระทรวงมหาดไทย สนับสนุน “ทีมหมอครอบครัว”
ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้เป็นที่พึ่งประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ได้จัดทำโครงการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยนโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” ซึ่งมีลักษณะสำคัญในการดำเนินงาน ดังนี้ 1.เป็นบริการเชิงรุกในชุมชน 2.ดูแลทุกมิติ 3.ดูแลทุกกลุ่มวัย 4.ทำงานร่วมกันเป็นทีม ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด 5.บริการแบบไร้รอยต่อ และ 6. สร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการจัดบริการ
โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ทำหน้าที่ให้บริการสุขภาพ ให้คำปรึกษา ประสานการเยี่ยมให้บริการสุขภาพที่บ้านร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขและนักบริบาลชุมชน และเครือข่ายองค์กรอื่นๆ เช่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งประสานการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล ส่วนแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน/ โรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นที่ปรึกษา และเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ขณะนี้มีทีมหมอครอบครัวทั่วประเทศ 6 หมื่นกว่าทีม เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ ไม่ได้มุ่งเพียงการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล แต่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกคนเพื่อการดูแลประชาชน ในครอบครัวที่ตนเองรับผิดชอบ
- 7 views