นสพ.คมชัดลึก : บราซิลเริ่มใช้กฎใหม่มุ่งลดการผ่าทำคลอด ที่ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขของชาติ กลายเป็นผู้นำด้านการผ่าตัดทำคลอดของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการคลอดบุตร บังคับบริษัทประกันแจ้งความเสี่ยงให้ว่าที่คุณแม่ ขณะที่หมอ และ รพ.ต้องเปิดข้อมูลสถิติการผ่าคลอดให้รัฐทราบ
เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น บราซิลเริ่มใช้กฎใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่ นายอาทูร์ ชิโอโร รัฐมนตรีสาธารณสุข เรียกว่า การผ่าท้องทำคลอดระบาด จนทำให้บราซิลกลายเป็นผู้นำด้านการผ่าตัดทำคลอดของโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการคลอดบุตร
ว่าที่คุณแม่บราซิลคลอดบุตรที่โรงพยาบาลเอกชนด้วยวิธีการผ่าท้องถึง 84% โดยไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าความสะดวกในการเลือกวัน ส่วนโรงพยาบาลของรัฐ สัดส่วนอยู่ที่ราว 40% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ย 32% ในสหรัฐ และสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรมีสัดส่วนอยู่ที่ 10-15% กฎใหม่กำหนดให้บริษัทประกันสุขภาพจะต้องให้ข้อมูลความเสี่ยงแก่ว่าที่คุณแม่ โดยเฉพาะจำนวนการผ่าคลอดที่หมอและโรงพยาบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลใช้สอดส่องอัตราการผ่าท้องทำคลอด หากฝ่าฝืนจะถูกปรับสูงสุดไม่เกิน 8,000 ดอลลาร์ ทั้งนี้ การให้ข้อมูลความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการผ่าตัดที่ไม่มีความจำเป็น อาจลดความต้องการผ่าคลอด และให้คนไข้ได้เลือกวิธีคลอดดีที่สุดต่อสุขภาพของตัวเองและลูกน้อย
กุมารแพทย์ลูเซียนา เอร์เรโร ซึ่งเพิ่งเขียนหนังสือคู่มือคลอดบุตรในบราซิล กล่าวว่า ความไม่รู้และคำนึงแต่ความสะดวกสบาย ทำให้ว่าที่คุณแม่ชาวบราซิลใช้วิธีผ่าคลอด แต่การยุยงส่งเสริมของหมอและโรงพยาบาลก็ควรตำหนิเช่นกัน
ค่าธรรมเนียมการผ่าคลอดกับคลอดธรรมชาติในบราซิลไม่ต่างกันมาก แต่การผ่าตัดทำกำไรแก่โรงพยาบาลมากกว่า เพราะสามารถจัดวางตารางและคาดการณ์ได้
โรซานา ไคลน์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดวัย 37 ปี ในนครริโอ เล่าว่า เธอคลอดลูกชายเมื่อสามเดือนก่อน แม้ยืนยันว่าจะคลอดปกติ แต่ขณะเจ็บท้องใกล้คลอด เธอรู้สึกได้ถึงแรงกดดัน การหาหมอในบราซิลเพื่อทำคลอดปกติไม่ใช่เรื่องง่ายเลย พวกเขาพยายามโน้มน้าวว่าการคลอดธรรมชาติจะทรมานมาก ดีที่สุดคือผ่าคลอด ที่สุดเธอคลอด "ทอม" บุตรชาย ด้วยการผ่า
พญ.เอร์เรโร กล่าวว่า การผ่าท้องทำคลอดอาจสะดวกสบาย แต่อาจเป็นอันตรายแก่มารดา และทารกเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพในอนาคต เช่น โรคอ้วนจนถึงโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งนี้ ผู้หญิงบราซิล 7 ใน 10 แรกเริ่มตั้งใจคลอดปกติ แต่ไม่ถึงครึ่งที่จะทำเช่นนั้นได้ จึงเกิดคำถามว่า เหตุใดพวกเธอจึงเปลี่ยนใจระหว่างการตั้งครรภ์ จึงชื่นชมรัฐบาลที่บังคับให้โรงพยาบาลต้องให้ข้อมูลแก่คนไข้ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 กรกฎาคม 2558
- 37 views