นพ.วันชัย ผู้ตรวจเขตสุขภาพที่ 4 เปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อเริ่มต้นทำงานวิจัยโดยนำผลงานวิชาการ COP และ R2R 15 เรื่อง เข้าสู่กระบวนการทำงานจริง ร่วมกับ สปสช.เขต 4 สระบุรี เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพประชาชนให้เข้าถึงบริการ นำงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา ด้าน นพ.ชูวิทย์ ประธาน อปสข.เขต 4 สระบุรี ย้ำ “วิจัยเพื่อประชาชน ไม่ใช่แข่งกัน”
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุมโรงแรมริเวอร์วิวเพลส จ.พระนครศรีอยุธยา โดยศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ มศว. นครนายก ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากระบวนการการทำงาน COP R2R ในภาพรวมเขตสุขภาพที่ 4 โดยมี นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 เป็นประธานเปิดการประชุม นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธานคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 4 สระบุรี (อปสข.) กล่าวต้อนรับ มีแกนนำเครือข่ายนักวิจัยจากหน่วยบริการรัฐและเอกชน สถานบันการศึกษา เครือข่ายภาคประชาชน อสม. ผู้สูงอายุ เข้าร่วมกระบวนการเริ่มต้นทำงานวิจัยในพื้นที่ จำนวน 15 เรื่อง เกือบ 100 คนในครั้งนี้
นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 กล่าวว่า ยินดีในการสนับสนุน CoPs (เครื่องมือจัดการความรู้สร้างเครือข่ายทางสังคม) 15 เรื่องคิดว่ามากพอ แต่ที่สำคัญคือเมื่อทำเสร็จแล้วเราต้องสรุปว่าประเด็นปัญหา อะไรสำคัญที่สุด ที่เราต้องรีบแก้ไข ปัจจุบันเห็นว่ามีประเด็น 4 เรื่องหลักๆ มะเร็ง หัวใจ ตาต้อกระจก และกลุ่มปัญหาทารกแรกเกิด เป็นสาเหตุการเจ็บป่วย การตาย ปัญหาเรื่องมะเร็ง การฉายรังสียาวนาน คิวรอผ่าตัด บางรายรอเป็นเดือนเป็นปี เป็นประเด็นปัญหาไม่มีเตียง ICU องค์กรเอกชนอาจเข้ามาช่วยได้หรือไม่ ผู้ป่วยกลุ่มเหล่านี้ไม่ได้รับการดูแล เช่น ตาบอดหรือใกล้บอด การวางแผนกระบวนการทำงานผ่านการประชุมก็จะทำให้เราได้มาพูดคุยวางแผน มองเห็นว่าอะไรเป็นความสำคัญอันดับแรกๆที่ต้องทำ ในเขตสุขภาพที่ 4 นับว่ามีโอกาสที่ดี ที่ได้อาจารย์จากสถาบันวิชาการในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ฉะนั้นในสองวันนี้ก็คิดว่าคงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อกระทรวงสาธารณสุข และเป็นเวทีที่สร้างความสมบูรณ์ และเห็นการทำงานร่วมของเครือข่ายจับมือกันให้แก่กระทรวงสาธารณสุข อย่างเหนียวแน่น
นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธาน อปสข.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า กระบวนการทำงาน COP และ R2R นั้น COP หรือ community of practice คือกลุ่มคนที่มาร่วมกันทำบางสิ่ง ให้บรรลุเป้าหมาย ส่วน R2R หรือ Routine or Research เป็นคำที่คุ้นกันอยู่แล้ว R ตัวไหนจะมาก่อนมาหลัง ระหว่าง Routine กับ Research ใครจะมาก่อนกันก็ได้ของ R2R ดูก่อนว่าใครจะมาก่อนกันก็ได้ แต่สุดท้ายแล้วถึงมือประชาชนโดยตรงให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น วิจัยเพื่อประชาชน ไม่ใช่วิจัยเพื่อวิจัย ไม่ใช่แข่งกัน เช่น ปัญหาผู้ป่วยบัตรทองออกจาก รพ. แล้วเสียชีวิต เข้าใจผิดคิดว่าได้รับการบริการคุณภาพต่ำกว่า เขาคิดว่าฐานต่างกัน คนยืนบนพื้นกับคนยืนบนโต๊ะฐานการมองจะต่างกัน การเข้าใจผิดว่ารักมากกว่า หรือรู้สึกกลัวก็เอนเอียง หรือหลงก็จะอคติหลักการแนวคิด การประชุมนี้จึงผสานกันได้ระหว่าง Cop ร่วมกับ KM ร่วมกับ R2R ให้เกิดประโยชน์ ถ้าป่วยก็รักษา มีกล่อง มีเกลียว สามอย่างคือ เป็นสะพานเชื่อมระหว่างวิชาการสู่บริการและที่สำคัญR2R ทำคนเดียวเก่งเรื่องตัวเองคนเดียวหรือทำเฉพาะองค์กรก็ไม่สนุก จึงต้องมาแชร์กันแบบเครือข่ายมีข้อเสนอต่อยอดไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่ คุณภาพก็เพิ่มขึ้น ประชาชนก็ได้ประโยชน์มากขึ้น Boater ไปเรื่อยๆ สู่ R2R ชั้นนำระดับประเทศ ต่อยอด นำองค์กร นำคุณภาพคน นำสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม หาเครื่องมือที่ดีมาช่วย
นพ.ชูวิทย์ กล่าวต่อว่า วิธีการนี้เหมือนเป็นสะพานเชื่อม และช่วยเสริมคุณภาพทั้ง 2 งานคือ งานบริการ งานวิชาการ ทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ผู้ปฏิบัติงานทั้ง 2 ด้าน มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน สถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 โดยการนำของคณะแพทยศาสตร์ มศว. ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านวิชาการ หน่วยบริการสุขภาพในเขตสุขภาพที่ 4 โดยการนำของผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 4 เป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน COP R2R นอกจากทำให้หน่วยบริการสามารถให้บริการแก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้นแล้ว สถาบันการศึกษาต่างๆยังได้รับทราบสถานการณ์ แนวโน้มทิศทางการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ฯ สามารถจัดการเรียนการสอนผลิตบัณฑิตออกไปทำงานได้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันอีกด้วย