บทความโดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข เผยแพร่ใน นสพ.มติชน เขียนเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังเสี่ยงเสีชีวิต ซึ่ง พญ.ชัญวลี สรุปว่า โรคเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายที่สูงในผู้สูงอายุ มีปัจจัยเสี่ยงที่มีงานวิจัยรองรับมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง สิทธิการรักษาพยาบาลเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น เท่านั้น

นสพ.มติชน : คนเราอายุยืนขึ้น ทุกประเทศทั่วโลกจึงมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น หากเกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้สูงอายุมีคำจำกัดความว่า อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ความสูงอายุทำให้เกิดโรคเรื้อรังซึ่งเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนโดยตรงกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเกิดความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่หวนคืนกลับมา

งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้สูงอายุร้อยละ 80 มีโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค ร้อยละ 50 มีโรคเรื้อรังอย่างน้อย 2 โรค โรคเรื้อรังที่ฮิตติดอันดับ ได้แก่ โรคหัวใจ, หลอดเลือดในสมอง (แตก, อุดตัน, ตีบ), มะเร็ง เบาหวาน, ข้ออักเสบ ฯลฯ โรคเรื้อรังบางโรคอาจป้องกันได้ เช่น มะเร็งปอด ป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ แต่ส่วนใหญ่ป้องกันไม่ได้ เพราะอาจจะแก้ปัจจัยเสี่ยงไม่ได้ และบางโรคเรื้อรังก็ไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล แม้ผู้สูงอายุไม่ได้เสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังทุกคน แต่เกินครึ่งหนึ่ง เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ มะเร็ง และหลอดเลือดในสมอง

งานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เก็บข้อมูลในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่เข้ารับการรักษาในปี พ.ศ.2550-2554 พบว่าอัตราตายของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง ในโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง สูงกว่าสิทธิข้าราชการถึงร้อยละ 70 เสียชีวิตมากกว่าสิทธิข้าราชการถึง 7 หมื่นกว่าคน และผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง จะตายมากผิดปกติต่างจากโรคอื่น 3 หมื่นกว่าคน

นอกเหนือจากสิทธิการรักษาพยาบาล งานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา พบปัจจัยที่มีนัยสำคัญทางสถิติที่พบบ่อย ทำให้คนที่เป็นโรคเรื้อรัง เสี่ยงเสียชีวิต ดังต่อไปนี้

1. เรื่องของโรค โรคที่เป็นรุนแรง พบเจอในระยะหลัง ไม่สามารถควบคุมให้ใกล้เคียงปกติ ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ไม่ได้รับการ รักษาต่อเนื่อง ก็ย่อมส่งผลให้เสียชีวิตเร็วกว่าคนที่เป็นโรคไม่รุนแรง พบระยะแรก ควบคุมโรคได้ พบแพทย์ตามนัด ดูแลรักษาตนเองได้ดี

2. เรื่องของแพทย์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่รักษากับแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญ มีประสบการณ์เอาใจใส่ มีเวลาให้ผู้ป่วย ย่อมอายุยืนยาวกว่ารักษากับแพทย์ที่มีคุณสมบัติตรงกันข้าม

3. จำนวนโรค ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีจำนวนโรคมาก อายุย่อมสั้นกว่าผู้ป่วยที่มีจำนวนโรคน้อย

4. สุขภาพพื้นฐาน ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีสุขภาพพื้นฐานมาดี อายุย่อมยาวกว่าผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่ดีมาก่อน

5. ประชากรศาสตร์ (Demographic factors) ได้แก่ เพศ เชื้อชาติ และอายุ

เพศ โรคเรื้อรังเกือบทุกโรคเพศหญิงอายุยืนกว่าเพศชาย

เชื้อชาติ บางเชื้อชาติเสียชีวิตสูงกว่าบางเชื้อชาติด้วยโรคเรื้อรังโรคเดียวกัน

อายุ ยิ่งอายุมากยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น

อายุ 70-74 ปี ผู้หญิงมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 39 ผู้ชายร้อยละ 50

อายุ 75-84 ปี ผู้หญิงมีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรัง ร้อยละ 64 ผู้ชายร้อยละ 75

อายุ 85 ปีขึ้นไป ผู้หญิงผู้ชาย มีโอกาสเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังพอๆ กัน คือ ร้อยละ 93

6. ประวัติครอบครัว หากในครอบครัวผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีบรรพบุรุษ พ่อ แม่ พี่ น้อง ญาติๆ อายุยืนยาว จะมีอายุยืนยาวกว่าครอบครัวที่มีบรรพบุรุษ พ่อ แม่ พี่ น้อง และญาติๆ อายุสั้น

7. ปัจจัยทางครอบครัว เช่น โสด มีคู่ หย่าร้าง มีคนดูแล ไม่มีคนดูแล ฯลฯ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีคู่ครอง หรือมีคนดูแลดี มักจะมีอายุยืนกว่าคนโสด หย่าร้าง หรือคนที่ไม่มีคนดูแล

8. ปัจจัยทางสังคม เช่น การเข้าสังคม การมีเพื่อน มีชมรม ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เข้าสังคม ไม่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว มีเพื่อนเป็นคู่คิด หรือคอยให้กำลังใจ คอยดูแล มักจะมีอายุยืนกว่าคนที่ไม่มีเพื่อน ไม่เข้าสังคม

9. นิสัยส่วนตัว เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เที่ยวกลางคืนเป็นนิจ ไม่ได้พักผ่อน ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็ย่อมอายุยืนน้อยกว่าผู้ป่วยที่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เที่ยวกลาง คืนเป็นนิจ พักผ่อนเพียงพอ ไม่ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และออกกำลังกายเป็นประจำ

10. ดัชนีมวลกาย (Body mass index= น้ำหนักหารส่วนสูงยกกำลังสอง) ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนมาก (> 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) ผอมมาก (< 18.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) อายุยืนน้อยกว่าผู้ป่วยที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ

11. พันธุกรรม บางครอบครัวอายุสั้นเมื่อเป็นโรคเรื้อรังกว่าครอบครัวอื่นๆ จากเหตุผลทางพันธุกรรม

12. อารมณ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ปล่อยวาง อายุย่อมสั้นกว่า ผู้ป่วยที่อารมณ์ปกติ ควบคุมความเครียดได้

13. การศึกษา ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีการศึกษาสูง มีความรู้ทางการแพทย์ เข้าใจธรรมชาติของโรครู้จักการดูแลสุขภาพตนเอง อายุย่อมยาวกว่าผู้ป่วยที่มีการศึกษาน้อยไม่ มีความรู้ทางการแพทย์ ไม่รู้จักการดูแลสุขภาพตนเอง

14. รายได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีรายได้สูง สามารถเลือกแพทย์ เลือกบริการทางการแพทย์ เลือกยา เลือกการรักษาเสริม เลือกอาหารที่บำรุงสุขภาพ เลือกสถานที่อยู่อาศัย อายุย่อมยาวกว่าผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ไม่มีทางเลือก

15. ภูมิภาคของประเทศ พบว่าแต่ละภาคของประเทศ อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังต่างกัน

16. การปรับตัว ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่สามารถแก้ไขปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หยุดสูบบุหรี่ เข้าสังคม มีเพื่อนฝูง เรียนรู้เข้าใจธรรมชาติของโรค เปลี่ยนแปลงการดูแลตนเอง มีคู่ครองมาดูแล อายุย่อมยาวกว่าผู้ป่วยที่ไม่อาจแก้ไขปัจจัยเสี่ยงได้

สรุป โรคเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายที่สูงในผู้สูงอายุ มีปัจจัยเสี่ยงที่มีงานวิจัยรองรับมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง สิทธิการรักษาพยาบาลเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น เท่านั้น

ผู้เขียน : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข email : chanwalee@srisukho.com

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน 30 มิถุนายน 2558