เวที สช. เจาะประเด็นหนุนสิทธิผู้ป่วยตายตามธรรมชาติ ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รับมือสังคมผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นักกฎหมายชี้คำพิพากษาศาลปกครองช่วยคุ้มครองแพทย์ ขณะที่ รพ.จุฬาฯ ตั้งทีมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง พร้อมให้สิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้าย
วันที่ 1 กรกฏาคม 2558 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ จังหวัดนนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวที สช. เจาะประเด็นครั้งที่ 3/2558 เรื่อง "ผ่าทางตัน...สิทธิการตายตามธรรมชาติ"
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติสิทธิของบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย ซึ่งในต่างประเทศเรียกว่า Living Will คือ ให้มีการแสดงความจำนงไว้ล่วงหน้าได้ หรือบางครั้งเรียกว่า Advance Directives คือการระบุแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ไว้ล่วงหน้า โดยในหลายประเทศมีกฎหมายรับรองในเรื่องนี้
"การทำหนังสือแสดงเจตนา เป็นการแสดงสิทธิในชีวิตและร่างกายโดยการยื่นความประสงค์ไว้ล่วงหน้า หนังสือแสดงเจตนามีความหมายมากกว่าใบแสดงความยินยอมรับการผ่าตัด หรือยินยอมรับการรักษาพยาบาล เพราะจะเป็นเครื่องมือและช่องทางที่ผู้ป่วยจะได้ทำความเข้าใจกับญาติและแพทย์ผู้ดูแลไว้ล่วงหน้าถึงเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตตน ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผู้ป่วย และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยที่พึงจะได้รับตามหลักแห่งจริยธรรมของวิชาชีพด้านสุขภาพไปพร้อมๆ กัน"
ในวรรคสองของมาตรา 12 กำหนดให้การทำหนังสือแสดงเจตนาเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่ง ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ว่ากฎกระทรวงชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในกฎกระทรวงไม่ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ให้การรักษา หรือใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อยุติชีวิต แต่ยังให้การดูแลแบบประคับประคองจนผู้ป่วยเสียชีวิตตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีกระบวนการร่างกฎกระทรวงที่ผ่านความเห็นชอบจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
นายสมผล ตระกูลรุ่ง
นายสมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ กล่าวว่า บทบัญญัติตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นการกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจสิทธิที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น แม้ว่าปกติก็สามารถทำได้อยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต และเมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมา ถือเป็นเครื่องตอกย้ำว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และยืนยันว่าไม่ขัดต่อหลักการกฎหมาย
“ผมคิดว่ากฎหมายนี้ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ว่า หากกระทำตามหนังสือแสดงเจตนาที่จะปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว ถ้ามีการเสียชีวิตขึ้นมา จะไม่สามารถฟ้องร้องแพทย์ได้เลย"
นายสมผล กล่าวอีกว่า เนื้อหาของมาตรา 12 คือการปฏิเสธการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบตามธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ลักษณะ "การุณยฆาต" หรือการกระทำให้ผู้ป่วยวาระสุดท้ายเสียชีวิตลงโดยเร็ว รวมถึงไม่ใช่การฆ่าตัวตายด้วย แต่การตีความว่าอาการป่วยวาระสุดท้ายจะเป็นอย่างไรนั้น มองว่าแพทย์ผู้รักษา คือผู้ที่จะตีความหรือตัดสินใจเรื่องนี้และบอกกับคนไข้ได้ดีที่สุด
ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว
ผศ.นพ.พรเลิศ ฉัตรแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันวงการแพทย์และพยาบาล รวมถึงผู้ป่วยและญาติ ต่างรับรู้และตื่นตัวในการแสดงเจตนาไม่รับการรักษาในวาระสุดท้ายมากขึ้น มีกระบวนการหารือระหว่างแพทย์ พยาบาล คนไข้และญาติ และการทำบันทึกที่โรงพยาบาล
"ขณะนี้โรงพยาบาลจุฬาฯ มีแบบฟอร์มหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้าย และแบบฟอร์มที่ให้ผู้ป่วยเขียนรองรับตนเองได้ เพื่อเป็นทางเลือกไว้ด้วย โดยใช้พื้นฐานเดียวกับการทำหนังสือแสดงความยินยอมรับการรักษา ตรงนี้ถือเป็นการแสดงข้อมูลอย่างรอบด้านและเปิดให้ผู้ป่วยลงนามได้อย่างอิสระ"
นอกจากนั้น โรงพยาบาลจุฬาฯ ยังนำระบบ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) มาใช้ควบคู่ไปด้วย และมีการเยี่ยมบ้านคนไข้ การพัฒนาทีมขึ้นมาดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เปลี่ยนกระบวนทัศน์จากในอดีตที่มุ่งเน้นการรักษาทางกายมาเป็นการนำมิติอื่นๆ มาพิจารณาด้วย ทั้งเรื่องของจิตใจและสังคม โดยการแบ่งปันความรู้สึกกับผู้ป่วยมากขึ้น
“การรักษาอย่างเต็มที่ อาจไม่ได้ตรงกับความต้องการของคนไข้เสมอไป เราต้องพูดคุยถึงความต้องการของเขาให้มากขึ้น เช่น เขาอาจต้องการพบใครสักคนที่ต้องการอโหสิกรรม เป็นต้น"
นางอรสม สุทธิสาคร
นางอรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีอิสระ-ครูพิเศษในเรือนจำ กล่าวว่า หนังสือแสดงเจตนาฯ ช่วยให้เกิดความชัดเจน ทำให้การรักษาเป็นไปตามความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง แต่การทำหนังสือแสดงเจตนาฯ เป็นกลิ่นอายของตะวันตก ทำให้ไม่ค่อยได้เห็นมากนักในประเทศไทย ซึ่งมีวัฒนธรรมการปรึกษาหารือระหว่างคนในครอบครัว หรือการฝากฝังของพ่อแม่มากกว่า
นางอรสม เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ดูแลแม่ซึ่งป่วยในระยะสุดท้ายเมื่อกว่า 20 ปีก่อนว่า ใช้วิธีการรักษาอย่างเต็มที่ จนตัวเองไม่ได้พักกว่า 1 เดือน ทำให้มีหลากหลายอารมณ์ปะปน ทั้งความปิติ ความเครียด ความขัดแย้ง ประกอบกับไม่มีความรู้ว่าคนป่วยระยะสุดท้ายซึ่งไม่ได้สตินั้น ประสาทหูยังได้ยินสิ่งต่างๆ ทำให้มีความรู้สึกผิด ติดค้างอยู่ในใจกับเรื่องแม่ที่ไม่ได้จากไปอย่างสงบมาโดยตลอด
"ส่วนพ่อซึ่งเพิ่งเสียได้ไม่กี่ปีมานี้ ได้ศึกษาแนวทางการตายตามธรรมชาติ เพราะไม่ต้องการให้พ่อจากไปเหมือนแม่ โดยได้เปิดเทปธรรมะและสวดมนต์ให้พ่อได้ฟัง ทำให้พ่อจากไปอย่างสงบ"
ประเด็นที่ต้องพูดคุยให้สังคมไทยตระหนักมากขึ้น อาจไม่ใช่เพียงการทำหนังสือแสดงเจตนา แต่ต้องรวมถึงการเสริมสร้างความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อเรื่องของความตาย การพัฒนาและจัดระบบการบริการแบบประคับประคอง รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ร่วมกัน
- 121 views