รพ.แก่งกระจานแม้จะอยู่ในจังหวัดเพชรบุรีก็ตามแต่ยังเป็นอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่ยังอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากความเจริญขนาดที่ว่าจะไปร้านสะดวกซื้อได้ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 10 กิโลเมตร เมื่อพื้นที่ห่างไกลความเจริญเท่าใดย่อมไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้มีบุคลากรเข้ามาทำงานใน รพ.เช่นกัน
นพ.จีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ
นพ.จีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ ผู้อำนวยการ รพ.แก่งกระจาน กล่าวว่า ตลอด 10 กว่าปีของการทำงานที่ รพ.แก่งกระจาน พบว่า ที่ รพ.แก่งกระจานประสบปัญหาขาดบุคลากรในทุกๆ ด้าน ทั้งแพทย์ พยาบาล และด้านต่างๆ ปัจจุบัน รพ.แก่งกระจานเป็น รพ.ขนาด 30 เตียง มีแพทย์ทั้งหมด 4 คน พยาบาล 29 คน ให้บริการผู้ป่วยประมาณ 200 คนต่อวัน
เนื่องจากพื้นที่ตั้งของ รพ.ที่การเดินทางไม่สะดวก เมื่อเทียบกับอำเภอต่างๆในจังหวัดเพชรบุรี อีกทั้งคนที่มาทำงานที่ รพ.จะไม่มีค่าตอบแทนพิเศษใดๆ จึงทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้คนมาทำงานที่ รพ.แก่งกระจาน และยังเป็นพื้นที่ที่ยากต่อการหางานพิเศษทำอีกด้วย ปัญหาเรื่องการขาดบุคลากรจึงเป็นปัญหาค้างอยู่
นอกจากนี้ปัญหาที่พบตามมาคือ โรงพยาบาลมีพื้นที่ติดกับป่าและมีชนเผ่ากะหร่างอาศัยอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีฐานะยากจน และเป็นกลุ่มคนไทยไร้สิทธิที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ทางโรงพยาบาลไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ทำให้โรงพยาบาลมีหนี้สูญถึงปีละ 70,000-80,000 บาทต่อปี แต่เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่นๆ ตามรอยต่อจังหวัดต่างๆ แล้ว ถือว่าโรงพยาบาลแก่งกระจานมีหนี้สูญน้อยกว่าที่อื่น เนื่องจากงบประมาณที่ได้จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ได้มีการจัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางสิทธิ จึงช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนปัญหาทางด้านสาธารณสุข พบว่า การตั้งครรภ์ของแม่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีมีมากถึงร้อยละ 34 และในจำนวนนี้เป็นคนต่างด้าวถึงร้อยละ 50 และมีการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ครบ 12 สัปดาห์มีเพียงร้อยละ 50
ทั้งนี้ ทาง รพ.แก่งกระจานมีนโยบายที่จะให้ไอโอดีนเสริมให้กับหญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ทุกคนฟรี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการไอโอดีนมากกว่าคนปกติทั่วไปถึงเท่าตัว และผลของการขาดไอโอดีนอาจมีผลทำให้ทารกพิการได้ การให้ไอโอดีนเม็ดของโรงพยาบาลสามารถให้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ถึง 100% ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสนับสนุนของภาครัฐในส่วนต่างๆ รวมทั้งจังหวัด
นพ.จีรศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการขาดบุคลากรถึงจะเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ทางโรงพยาบาลมีนโยบายใช้ทรัพยากรบุคคลให้คุ้มค่า โดยเฉพาะงานด้านธุรการหรือเอกสารบุคลากรหลายท่านสามารถทำงานแทนกันได้ หรือมีการยืมตัวจากอีกฝ่ายมาทำงานอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขณะเดียวกันงานด้านการรักษาพยาบาลตนได้เปิดคิลนิกแพทย์ทางเลือกขึ้น เพื่อให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้ป่วยและเพิ่มรายได้ให้กับโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง ถึงจะไม่มากแต่ยังมีรายได้เข้าโรงพยาบาล
ผอ.รพ.แก่งกระจาน กล่าวว่า ในของการบริหารงานนั้น ได้ยึดหลักในสมัยหนึ่งที่มีท่านรอง สสจ.ท่านหนึ่งได้ให้นโยบายในการบริหารโรงพยาบาลไว้ว่า เรื่องของหลักธรรมาภิบาลต้องมาก่อน เราจะต้องดูแลคนไข้ให้ดี ส่วนรัฐบาลจะต้องมีหน้าที่ดูแลโรงพยาบาลของรัฐเอง จึงทำให้ รพ.แก่งกระจานมีปัญหาการฟ้องร้องระหว่างคนไข้กับแพทย์ไม่มีเลย เพราะทุกกรณีที่เกิดขึ้นสามารถไกล่เกลี่ยกันได้
ผอ.รพ.แก่งกระจาน เล่าว่า เป็นคนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่กำเนิด มีบ้านพักอาศัยอยู่ย่านสาทร เมื่อตอนที่เรียนจบแพทย์มาใหม่ๆ ทางครอบครัวมีความประสงค์ที่จะให้ทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งในตอนนั้นคุณแม่ท่านรู้จักผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง ท่านสามารถฝากเข้าทำงานได้เลย
แต่เมื่อต้องมาเป็นแพทย์ใช้ทุนก่อน เมื่อ10 ปีที่ผ่านมา รู้สึกผูกพัน และเมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมาได้ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีหลายคนถามว่าทำไมไม่เลือกเรียนต่อในสาขาเฉพาะทางเพื่อขยับขยายไปสู่โรงพยาบาลในเมือง ผอ.รพ.แก่งกระจาน บอกว่า ลำพังแค่ตัวโรงพยาบาลเองยังไม่มีแรงจูงใจให้คนมาทำงานเลย แล้วถ้าตนละทิ้งงานไป งานที่ทำไว้จะไม่ต่อเนื่อง ประชาชนเหมือนถูกทอดทิ้ง ตนจึงเลือกที่จะทำงานที่ รพ.แก่งกระจานต่อไป แต่ก็ไม่ลืมที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยการเรียนทางไกล โดยตนให้ความสนใจในเรื่องของการแพทย์ทางเลือก เช่น การฝังเข็ม จัดกระดูก ซึ่งความรู้ที่ได้ตนนำมาใช้และให้บริการในคิลนิกพิเศษด้วย
นอกจากนี้ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ นพ.จีรศักดิ์ ยังรักที่จะให้ความช่วยเหลือและอยู่ในโรงพยาบาลที่ห่างไกลเจริญได้ นั่นคือ คำพูดของคุณพ่อที่เคยพูดไว้ในตอนที่ นพ.จีรศักดิ์ต้องเลือกระหว่างอยู่ที่ รพ.แก่งกระจานต่อไป หรือเลือกที่จะทำงานในโรงพยาบาลเอกชนที่มีความสบาย ได้ค่าตอบแทนที่สูง คำพูดนั้นคือ
"ถ้าชอบที่ไหน ให้อยู่ที่นั่น ถ้าเราอยู่แล้วมีคุณค่า" นพ.จีรศักดิ์ จึงเลือกที่จะอยู่ รพ.แก่งกระจานต่อไป เพราะรู้ว่า หากโรงพยาบาลขาดหมอไปสักหนึ่งคนย่อมส่งผละกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน
- 222 views