บมจ.รพ.บำรุงราษฎร์ แถลงข่าวยืนยันไม่มีผู้ป่วยเมอร์สและไม่มีผู้ต้องสงสัยอยู่ใน รพ.แล้ว แจง ผู้ป่วยเมอร์สรายนี้มารักษาตัวที่ รพ.จริง ด้วยตนเอง เมื่อคืนวันที่ 15 มิ.ย.ด้วยอาการค่อนข้างหนัก แพทย์ส่งตรวจ 4 ครั้ง วินิจฉัยเสี่ยงติดเชื้อเมอร์ส และอาจเป็นปอดอักเสบและโรคหัวใจร่วมด้วย ประสาน สธ.มารับตัวเช้ามืดวันที่ 18 มิ.ย. พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่สัมผัสผู้ป่วย 58 ราย หยุดงานชั่วคราว 14 วัน พร้อมติดตามอาการใกล้ชิด

เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) ศ.นพ.ชาญวิทย์ ตันติ์พิพัฒน์ รองประธานกรรมการ บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์(BH) แถลงยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสเมอร์สและไม่มีผู้อยู่ในข่ายต้องสงสัยติดเชื้อดังกล่าวอยู่ในโรงพยาบาลแล้ว หลังจากส่งตัวผู้ป่วยไวรัสเมอร์สรายแรก ซึ่งเป็นชาวต่างชาติต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูรแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.) และไม่พบผู้ต้องสงสัยรายอื่นอีก

ทั้งนี้ผู้ป่วยชาวต่างชาติรายดังกล่าวได้เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จริง โดยเข้ามาเมื่อเวลา 21.45 น. ของวันที่ 15 มิถุนายน 2558 จากอาการที่ค่อนข้างหนัก เนื่องจากมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ไอ หอบ ไม่ใช่การติดต่อมาล่วงหน้า โรงพยาบาลฯ จึงให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากทางการแพทย์โดยเฉพาะ และส่งตรวจห้องปฎิบัติการทางการแพทย์ถึงสี่ครั้ง จึงได้วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคเมอร์ส และอาจเป็นโรคปอดอักเสบและโรคหัวใจร่วมด้วย จึงได้ต่อรองกับผู้ป่วยอยู่ช่วงหนึ่งให้ผู้ป่วยย้ายไปยังห้องแยกความดันลบ สำหรับผู้ติดเชื้อรุนแรง ซึ่งช่วงแรกผู้ป่วยไม่ยินยอม จากนั้นโรงพยาบาลจึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่แพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขก่อนที่จะมารับตัวผู้ป่วยไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน

ทั้งนี้ในวันแรกที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ ยังไม่มีไข้ แต่ต่อมา มีไข้เมื่อประมาณวันที่ 16-17 มิถุนายน ด้วยอุณหภูมิ 38 องศา ยืนยันว่าช่วงที่ผู้ป่วยเดินทางมาไม่ได้สัมผัสใกล้กับผู้ป่วยอื่น มีสัมผัสกับเจ้าหน้าที่ พยาบาลและแพทย์เท่านั้น ซี่งขณะนี้โรงพยาบาลได้สั่งให้หยุดงานชั่วคราวสำหรับเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสกับผู้ป่วยทั้งหมดประมาณ 58 คนเป็นเวลา 14 วันและได้ติดตามอาการใกล้ชิด เบื้องต้นไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่หรือแพทย์คนใดมีอาการป่วย

ขณะที่เว็บไซต์ของ รพ.บำรุงราษฎร์ รายงานถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า

โรงพยาบาลฯ ขอแจ้งว่า ทางโรงพยาบาลฯ มีระบบติดตามเฝ้าระวังและมีมาตรการรองรับสถานการณ์โรคเมอร์สตั้งแต่ปี 2555 มาโดยตลอด สำหรับกรณีที่มีการพบผู้ป่วยโรคเมอร์สรายแรกในประเทศไทยตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงข่าวเมื่อวานนี้ (18 มิถุนายน 2558) ทางโรงพยาบาลฯ ขอเรียนว่าผู้ป่วยชายชาวตะวันออกกลางวัย 75 ปี เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาด้วยตนเอง (Walk in) ซึ่งมาด้วยอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย  ทางโรงพยาบาลฯ ได้คัดกรองและซักประวัติตรวจร่างกายตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัดแล้วพบว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จึงได้มีการแยกผู้ป่วยรายดังกล่าวไปที่ห้องแยกโรคความดันลบ ( Airborne Infection Isolation Room ) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขให้เข้ามาร่วมตรวจสอบด้วยตั้งแต่ต้น ทางโรงพยาบาลฯ ได้มีการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์รวม 4 ครั้ง โดยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจนั้น ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข, World Health Organization (WHO) และหน่วยควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) และเมื่อทางห้องปฏิบัติการแจ้งกลับมาว่าพบเชื้อไวรัสเมอร์ส  กระทรวงสาธารณสุขจึงได้รับตัวไปรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี ตั้งแต่เมื่อเช้ามืดวันที่ 18 มิถุนายน 2558

ทางโรงพยาบาลฯ ขอยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยโรคเมอร์สในโรงพยาบาลฯ แล้ว และไม่พบผู้ป่วยต้องสงสัยรายอื่นอีก โดยมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้ให้การดูแลกับผู้ป่วยรายแรกนั้น ทางโรงพยาบาลฯ ได้ให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นหยุดงานชั่วคราวและให้อยู่ในพื้นที่แยกเฉพาะเพื่อสังเกตการณ์และให้การดูแลอย่างใกล้ชิดตามมาตรฐาน ทุกท่านยังอาการปกติดี ไม่มีใครป่วยเป็นโรคเมอร์ส และเจ้าหน้าที่ทุกท่านสมัครใจที่จะอยู่ให้ทางโรงพยาบาลฯ เพื่อเฝ้าระวังอาการ

ท้ายนี้แม้ว่าทางโรงพยาบาลฯ จะสามารถควบคุมยับยั้งไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในโรงพยาบาลฯ ได้สำเร็จ แต่ทางโรงพยาบาลก็มิได้นิ่งนอนใจเมื่อทราบว่าโรคเมอร์สได้เข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว โดยโรงพยาบาลยังคงมาตรการเฝ้าระวัง การคัดกรอง การวินิจฉัยดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงขั้นสูงสุดตามที่เคยปฏิบัติมา โดยการ

1.ติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังโรคระบาดมาโดยตลอด

2.มาตรการคัดกรองและรับย้ายผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่แรกเข้า

3.แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ได้รับการอบรมให้ความรู้และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับโรคระบาดอย่างสม่ำเสมอ

4.มีแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, WHO และ CDC

5.มาตรการทำความสะอาดโดยการฆ่าเชื้อภายในโรงพยาบาล

6.โรงพยาบาลประสานกับหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการควบคุมอย่างใกล้ชิด

7.มีความพร้อมในกระบวนการดูแลตรวจวินิจฉัยอย่างครบถ้วนและรวดเร็ว

ทางโรงพยาบาลฯ ยังคงประสานงานในด้านการเฝ้าระวังโรคและดูแลเพื่อความปลอดภัยของบุคคลากรอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ประชุมของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขยังได้ชื่นชมในมาตรการของโรงพยาบาลฯ ที่กำลังปฎิบัติอยู่ด้วย จึงขอให้ทุกคนมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยของโรงพยาบาลฯ