เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : "ยงยุทธ" ยันไม่นำข้อกำหนดให้เปิดเผยโครงสร้างต้นทุนราคายาไปบรรจุใน พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ตามที่ภาคประชาชนเสนอ ชี้อาจขัดหลักสากลที่กำหนดเรื่องยาแค่ 2 เรื่อง คือ ประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่อาจนำไปพิจารณาใน คกก.ชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาเพื่อควบคุมยาทั้งระบบแทน
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติว่า ที่ประชุมได้รับรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการควบคุมค่ารักษาพยาบาล ได้แก่ การให้ผู้ผลิตยาติดราคาขายปลีกยาจากโรงงาน การให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแยกบรรทัดค่ายาจากราคาขายปลีก รวมถึงการจัดระบบบริการสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะรับไปทำต่อไป ซึ่งคาดว่ากระทรวงพาณิชย์ และ สธ. จะหารือกันต่อเนื่องหลังจากนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปว่า จะไม่นำเอาข้อกำหนดเรื่องให้เปิดเผยโครงสร้างต้นทุนราคายา ไปบรรจุใน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ตามที่ภาคประชาชนเสนอ เนื่องจากอาจขัดหลักสากล ทั้งนี้ หลักสากลที่กำหนดในเรื่องยานั้น มีเพียง 1.มีประสิทธิภาพ และ 2.ปลอดภัย ส่วนโครงสร้างต้นทุนนั้น อาจนำไปพิจารณาในคณะกรรมการชุดอื่นต่อไป เพราะได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า อาจมีปัญหาในเรื่องการค้าและทางอุตสาหกรรม รวมถึงหลักสากลก็ไม่ได้มีการกำหนดดังกล่าว
ขณะที่ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ได้หารือกันตั้งแต่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ว่าจะไม่นำข้อเสนอไปอยู่ใน พ.ร.บ.ยา แต่จะใช้กลไกของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นใหม่ที่จะควบคุมราคายาทั้งระบบ โดยการควบคุมราคาจะใช้หลักการเดียวกับการกำหนดราคากลางยาของรัฐ ใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.พิจารณาเรื่องต้นทุน 2.เปรียบเทียบราคากับประเทศอื่น 3.พิจารณากำไรสูงสุด 4.พิจารณาราคายาที่ใกล้เคียงกัน และ 5.การเจรจาต่อรองราคายา โดยหลังจากนี้ จะนำไปทำความเข้าใจกับเอกชนถึงนโยบายดังกล่าว
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามกับรองนายกรัฐมนตรีว่า ที่ปฏิเสธการนำข้อเสนอไปบรรจุในร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ว่าพูดในฐานะส่วนตัวหรือไม่ เพราะ คณะกรรมการพัฒนาระบยาแห่งชาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ พ.ร.บ.ยา ซึ่งสะท้อนชัดว่า ทัศนคติส่วนตัวของรองนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และไม่ได้ต้องการให้ประชาชนใช้ยาในราคาที่สมเหตุสมผลจริง ทั้งนี้ จุดยืนของภาคประชาชนยืนยันว่า ต้องนำเรื่องโครงสร้างต้นทุนราคายาไปบรรจุใน ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหายาแพงตั้งแต่ต้นทาง
ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า ยังไม่มั่นใจในคณะกรรมการชุดใหม่ ที่จะตั้งขึ้นภายใต้คณะกรรมการชุดปัจจุบัน และระบุให้ทำเรื่องเทคนิค เนื่องจาก ที่ผ่านมาคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ไม่เคยสนใจที่จะศึกษาต้นทุนราคาอย่างแท้จริง รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมราคาก็อยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการศึกษาเรื่องราคายา ทั้งที่เป็นสินค้าที่ต้องควบคุมตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ของกระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ไม่คิดว่ากระทรวงพาณิชย์จะปล่อยให้คณะกรรมการชุดใหม่ เข้ามามีบทบาท จึงต้องฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนด้วย
- 4 views