รมว.สธ.เผย มติบอร์ด สปสช.รับทราบผลการตรวจสอบจาก คตร.และยินดีกระบวนการตั้งคณะกรรมการตีความข้อกฎหมายเพื่อให้การทำงานมีความชัดเจน แต่กังวลว่าประเด็นที่ทักท้วง หากตีความใหม่แล้วยกเลิก จะทำให้ แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการ และ รพ. ได้รับผลกระทบ และส่งผลต่อการให้บริการผู้ป่วยได้ จึงมีมติให้ทำหนังสือชี้แจงเบื้องต้นถึงเหตุผล ความจำเป็น ประโยชน์ และกรอบของกฎหมายที่บอร์ด สปสช.ดำเนินการให้ คตร.และรองนายกฯ รับทราบ
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้หารือเรื่องที่ คตร.ได้ตรวจสอบผลการดำเนินงานของ สปสช. และมีข้อทักท้วงเรื่องการใช้อำนาจของบอร์ด สปสช.ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการดำเนินการของ สปสช.ว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 1 เดือน และตั้งคณะกรรมการตีความกฎหมายฯ ซึ่งบอร์ด สปสช.รับทราบผลการตรวจสอบตามที่ คตร.ระบุว่า เป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่ไม่ใช่การทุจริต และยินดีกับกระบวนการตั้งคณะกรรมการตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติต่อไป
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในประเด็นที่ คตร.ทักท้วง โดยมีความกังวลว่า หากมีการตีความใหม่ แล้วยกเลิกแนวทางที่เป็นประโยชน์ จะส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการ ผู้ให้บริการ และมีผลสะเทือนถึงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้ ดังนั้นมติบอร์ด สปสช.จึงเห็นชอบให้ทำหนังสือชี้แจงเบื้องต้นถึงประธาน คตร. และ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม เพื่อชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น กรอบวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย และประโยชน์ที่ได้รับจากการมีมติดังกล่าว ที่ คตร.ทักท้วงมา รวมถึงหากไม่ดำเนินการจะมีผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขอย่างไร ซึ่งประเด็นที่มีความกังวล ดังนี้
1.การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองแพทย์ พยาบาล ผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข ให้มีขวัญ กำลังใจ ในการปฏิบัติงาน รู้สึกว่ามีความมั่นคง และมีการรับประกันว่า เมื่อเกิดความเสียหายโดยไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็น ติดเชื้อโรคจากผู้ป่วย หรือรถพยาบาลประสบอุบัติเหตุ จะได้รับการเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชนนั่นเอง
2.รพ.นำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำในกิจการของ รพ. เช่น ค่าจ้างลูกจ้าง ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ โดย คตร.ระบุว่า บอร์ดฯ ไม่มีการกำหนดระเบียบว่าด้วยการงบประมาณไว้นั้น โดยเป็นประเด็นที่ สตง.เคยตรวจสอบและแนะนำให้บอร์ดฯ ออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งบอร์ดฯ ได้ออกระเบียบว่าด้วยการงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2558 ลงวันที่ 22 ม.ค. 58 แล้ว
บอร์ด สปสช.ยืนยันว่า การที่ รพ.นำเงินเหมาจ่ายรายหัวไปจ่ายในเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ซึ่งงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น สปสช.จ่ายให้ รพ.ในหมวดเงินบำรุงเงินบัญชีรายรับ และ รพ.ใช้จ่ายตามระเบียบภายในของหน่วยงานนั้น ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงการคลัง การใช้จ่ายดังกล่าวก็มีเป้าหมายเพื่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนนั่นเอง
3.รพ.นำเงินค่าเสื่อมไปใช้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักเจ้าหน้าที่ ก็เพื่อให้แพทย์ พยาบาล สามารถปฏิบัติงานให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องอยู่ไกล รพ.เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน จะกลับมารักษาผู้ป่วยไม่ทัน
4.การนำเงินเหมาจ่ายรายหัวส่วนส่งเสริมป้องกันโรคไปสนับสนุนหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ รพ.นั้น ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ รวมทั้งการพัฒนาระบบบริการและบุคลากรสาธารณสุขด้วย เช่น การอบรมบุคลากรเพื่อการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่ทั่วประเทศ
5.การไล่เบี้ยเอาผิดกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายนั้น เป็นประเด็นเดียวกับที่ สตง.เคยแนะนำให้บอร์ดฯ ดำเนินการ ซึ่งบอร์ดฯ ก็มีมติเห็นชอบให้ สปสช.ไล่เบี้ยผู้กระทำผิดได้ และยังคงหลักการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 โดยไม่รอการพิสูจน์ถูกผิด เพื่อให้กระบวนการพิจารณารวดเร็วและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้รับบริการ ซึ่งบอร์ดฯ ยังกังวลว่าจะกระทบต่อขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุข
6.การจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการล้างไตช่องท้องนั้น ก็เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบ ให้ รพ.ได้จัดบริการต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการมีมาตรฐาน เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องนั้น เป็นเรื่องใหม่ในไทย แต่เป็นวิธีการที่เหมาะกับประเทศไทย การที่บอร์ดฯ มีมติให้สามารถจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานได้ ก็เป็นแนวทางการสนับสนุนให้เกิดการจัดบริการให้ผู้ป่วยนั่นเอง
7.การจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์นั้น บอร์ด สปสช.ยืนยันว่า ไม่ได้ผูกขาดการจัดซื้อ และไม่ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนจากการจัดหาแต่ประการใด สปสช.จัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อสนับสนุนหน่วยบริการตามความจำเป็นจริงๆ ช่วยลดต้นทุนและประหยัดงบประมาณภาครัฐลงได้ โดยมีระบบให้ผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมตั้งแต่ กำหนดปัญหา ความต้องการ การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของยาและเวชภัณฑ์ เมื่อได้ข้อยุติแล้วก็จัดซื้อผ่าน อภ. ช่วยลดราคาลงได้ 50-80 % ทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึง และให้บริการผู้ป่วยได้มากขึ้น
“ขอเรียนย้ำว่า บอร์ด สปสช.ยอมรับผลการตรวจสอบของ คตร.และยินดีแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ปฏิบัติงานสาธารณสุขไม่เดือดร้อน แต่การที่ต้องมีการชี้แจงเบื้องต้นตามหนังสือดังกล่าว ก็เพื่อให้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ และ คตร.ได้เข้าใจถึงเหตุผล ความจำเป็น ประโยชน์ และที่มาของการดำเนินการดังกล่าวนั่นเอง” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
- 6 views