อาการแสบร้อนทรวงอก นั่นคืออาการของโรคกรดไหลย้อน ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคส่วนมากมาจากพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม ความเร่งรีบในชีวิตประจำวันที่เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรค
รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์
รศ.นพ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กรดไหลย้อน คือ ภาวะที่เกิดจากการไหลย้อนของสารคัดหลั่งในกระเพาะอาหาร ไม่ว่าจะเป็น กรด น้ำย่อย หรือ แก๊ส ย้อนเข้าสู่หลอดอาหาร จนรบกวนการใช้ชีวิต
โดยอาการดังกล่าวมีได้ทั้งในและนอกหลอดอาหารดังนี้
อาการของหลอดอาหาร
1. แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ กลางหน้าอก
2. ความรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปากและคอ
3. มีอาหารย้อนขึ้นมาในปากและคอ
อาการนอกหลอดอาหาร
1. เจ็บคอ หรือเสียงแหบเรื้อรัง
2. อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ
3. ไอเรื้อรังโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
4. อาการทางช่องปาก เช่น ฟันผุ มีกลิ่นปาก
5. โรคหืดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาสาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
รศ.นพ.สมชาย กล่าวว่า สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน อาจเกิดจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างทำหน้าที่ลดลง จะทำให้หลอดอาหารปิดไม่สนิท ก็จะเกิดกรดไหลย้อนได้ง่ายๆ สาเหตุที่ทำให้เกิดกรดไหลย้อนที่พบบ่อย มีหลายอย่าง เช่น
1. อาหารรสจัด เช่น รสเผ็ด รสเค็ม อาหารมัน อาหารทอด อาหารหมักดอง อาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ เป็นต้น
2. การกินอาหารที่อิ่มจนเกินไป
3. การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งช็อกโกแลต
4. ความอ้วน
5. การใส่เสื้อผ้าหรือเช็มขัดที่รัดเกินไป
6. ความเครียด
7. ภาวะที่ทำให้หูรูดหลอดอาหารหย่อนได้ง่ายขึ้น เช่น การตั้งครรภ์ ยาบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน ใช้อาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยผู้ที่มีอาการทางหลอดอาหารเข้าได้กับภาวะกรดไหลย้อน สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการส่องกล้อง ยกเว้น ในกรณีที่รักษาแล้วไม่ดีขึ้น หยุดยาไม่ได้ หรือมี “อาการเตือน” อันได้แก่
1. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
2. อาการของเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด
3. อาเจียนหรือปวดท้องอย่างรุนแรง
4. มีอาการกลืนติด กลืนเจ็บ ร่วมด้วย
กรณีที่ไม่มีอาการเตือนแต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์อาจทำการสืบค้นได้หลายวิธี เช่น
1. การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งหากพบแผลหรือการอักเสบบริเวณหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง ก็ยืนยันได้ว่าเป็นกรดไหลย้อน
2. การใส่สายวัดค่าความเป็นกรดด่างในหลอดอาหาร โดยสายดังกล่าวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ใส่ผ่านรูจมูกด้านหนึ่งโดยปลายสายอยู่ที่หลอดอาหารส่วนล่าง อีกด้านหนึ่งจะออกมาทางจมูกแล้วต่อกับอุปกรณ์พกพา เป็นเวลา 24 ชั่วโมง นอกจากนี้อุปกรณ์รุ่นใหม่ยังสามารถวัดได้ด้วยว่า สิ่งที่ไหลย้อนในหลอดอาหาร มีคุณสมบัติเป็น กรด ด่าง หรือ แก๊ส
3. การใส่สายเพื่อตรวจการทำงานของหลอดอาหาร วิธีการคล้ายคลึงกับการวัดค่าความเป็นกรดด่าง แต่ใช้เวลาตรวจเพียง 30-40 นาที
รศ.นพ.สมชาย กล่าวว่า การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่อ้วน งดสูบบุหรี่ การงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่กระตุ้นอาการโดยเฉพาะแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ให้นอนศีรษะสูง หรือการนอนตะแคงซ้ายในผู้ที่มีอาการตอนกลางคืน เป็นต้น
การรักษาด้วยการใช้ยา มียาหลักๆ อยู่ 2 กลุ่มได้แก่ ยาลดการหลั่งกรด ได้แก่ ยากลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) และกลุ่ม H2 receptor antagonist (H2RA) ถือเป็นยามาตรฐาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือมีอาการเป็นประจำ ยาที่ใช้ระงับอาการ เช่น alum milk หรือยากลุ่ม alginate เช่น Alginic acid เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่บ่อยนัก สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวได้ หรือใช้เป็นยาเสริมกรณีที่ใช้ยากลุ่มแรกแล้วยังมีอาการอยู่ เนื่องจากออกฤทธิเร็ว ระงับอาการได้ทันที ส่วนการรักษาด้วยการส่องกล้องหรือการผ่าตัด ใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา ส่วนการให้ยารักษาโรคกรดไหลย้อน เป็นการทำให้ระดับความเป็นกรดในกระเพาะเปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลให้แบคทีเรียบางชนิดในกระเพาะเพิ่ม หรือลดจำนวนลงได้ อันอาจส่งผลให้เกิดผลเสียในระยะยาวได้ ซึ่งข้อมูลในทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังมีไม่มากพอ ดังนั้นผู้ป่วย ควรรีบรักษาและปฏิบัติตัวให้
ทั้งนี้ การรักษาในปัจจุบันใช้ควบคู่กันทั้งการรักษาโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการรับประทานยาลดกรด ซึ่งรายละเอียดเรื่องยาและการรักษา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
“โรคกรดไหลย้อนสามารถกลายเป็นมะเร็งได้ แต่น้อยมากโดยเฉพาะคนไทยและชาวเอเชีย มีการอักเสบของหลอดอาหารที่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งหากระดับความรุนแรงของการอักเสบของหลอดอาหารยิ่งมาก จะมีโอกาสเกิดความผิดปกติของเยื่อบุหลอดอาหาร ที่เรียกว่า intestinal metaplasia ซึ่งดูได้โดยการตัดชิ้นเนื้อและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นภาวะที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้ ในประชากรไทย พบได้น้อยกว่า 1% ในผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ทำให้โอกาสเกิดมะเร็งหลอดอาหารจากการเป็นโรคกรดไหลย้อนเกิดได้น้อยมาก”
โรคกรดไหลย้อน มักจะเป็นๆ หายๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและพฤติกรรมการกินของผู้ป่วยร่วมด้วย ส่วนมากมักจะดีขึ้นแล้วผู้ป่วยมักกลับไปกินอาหารแสลงแบบเดิม แล้วอาการก็มักจะกลับมาอีก เนื่องจากอาการของโรคกรดไหลย้อนจะทำให้เจ็บ แสบ หรือแน่นที่หน้าอก ซึ่งคล้ายกับโรคหัวใจขาดเลือด ดังนั้นในบางกรณี ผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ เช่น
1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงผิดปกติ เพราะผู้ป่วยเหล่านี้มีโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดสูงกว่าคนปกติ
2. มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ใจหวิว ใจสั่น เหงื่อแตก เจ็บแน่นๆ ที่บริเวณท้องแขนซ้ายร้าวไปกรามซ้าย หรือทะลุไปหลัง เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคหัวใจขาดเลือด แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการ ควรรีบมาพบแพทย์ เช่น
1. ถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด
2. ถ่ายท้องผูก สลับกับท้องเสีย
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
4. คลำได้ก้อนที่บริเวณยอดอก หรือก้อนที่ท้อง
5. อาเจียนบ่อย หรืออาเจียนมีเลือดปน
6. กลืนติด หรือกลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ
7. ซีด อ่อนเพลีย
8. ทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังพบว่า คนอ้วนมีโอกาสเกิดโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าคนผอม เพราะคนอ้วน มักมีไขมันสะสมในช่องท้อง และสะสมในตับได้มากกว่าคนปกติ ส่งผลให้ตับเบียดกระเพาะอาหารได้มากขึ้นหรือเพิ่มความดันในช่องท้องมากขึ้น กระเพาะก็จะอยู่ผิดรูป หรือถูกเบียดจากตับที่โตขึ้น ทำให้หูรูดของกระเพาะอาหารหย่อนและหลวมได้มากกว่าคนปกติ
การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน เพื่อบรรเทาอาการของโรค ผู้ป่วยควรปฏิบัติ ดังนี้
การกินอาหาร ควรหลีกเลี่ยง อาหารทอด รสเผ็ด หรือเปรี้ยวจัด หรือผลไม้ที่เปรี้ยวจัด เช่น ส้ม มะนาว มะขาม มะยม เป็นต้น ของดองทุกชนิด ขนมจีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมทั้งช็อกโกแลต งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่อิ่มจนเกินไป ออกกำลังกาย ไม่ให้เครียดหรือกังวล ถ้าอ้วนควรออกกำลังกายลดน้ำหนัก หลังรับประทานอาหารไม่ควรเข้านอนหรือเอนกายทันที ควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมง เสียก่อน ควรนอนยกศีรษะให้สูง โดยการเสริมยกขาเตียงให้สูง จะช่วยให้อาการดีขึ้น และควรสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม สบาย เวลานอน
- 5104 views