เปิดต้นแบบ รพ.ด่านซ้าย จ.เลย รพ.กระบี่ ทำประกันภัยชั้น 1 ให้รถพยาบาลฉุกเฉิน คุ้มครองบุคลากร ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย ระบุระเบียบกระทรวงสาธารณสุขเปิดช่องให้ทำได้ ด้าน เลขาธิการ สพฉ. วอนทุกโรงพยาบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นรูปธรรม เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่อยู่บนรถพยาบาล
ภายหลังจากที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติและทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ในการจัดประชุมวิชาการประจำปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในข้อเสนอได้มีการเรียกร้องให้กำหนดมาตรการความปลอดภัยของรถการแพทย์ฉุกเฉินและการประกันภัยเป็นนโยบายเร่งด่วน สำหรับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นล่าสุดได้มีหลายโรงพยาบาลได้เริ่มดำเนินการในการจัดทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสังกัดของตนเองแล้ว
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า จากการเก็บสถิติการเสียชีวิตของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้นพบว่า ในปีที่ผ่านมามีรถพยาบาลฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุมากถึง 61 ครั้งและมีคนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ 130 ราย และตายอีก 19 ราย โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้งซึ่งภาคอีสานจะเกิดเหตุบ่อยที่สุด โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือจังหวัดระยอง เชียงใหม่ นครศรีธรรมราชและจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยปัญหาดังกล่าวนอกจากจะต้องป้องกันในเรื่องของพนักงานขับรถพยาบาลและการรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องของการหลีกทางให้รถพยาบาลฉุกเฉินแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญคือการจัดทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะบุคลากรเหล่านี้ต่างต้องทำงานบนความเสี่ยงเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นเขาเหล่านี้ก็ควรที่จะต้องได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยการจัดทำประกันภัยควรเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ทุกโรงพยาบาลควรดำเนินการให้เป็นรูปธรรมด้วย ซึ่งขณะนี้ตนเห็นมีโรงพยาบาลสองแห่งที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลยและโรงพยาบาลกระบี่ ส่วนโรงพยาบาลปากน้ำชุมพร กำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงานเพื่อให้รถพยาบาลทุกคันของโรงพยาบาลมีประกันภัยชั้น 1
ด้าน นพ.ภักดี สืบนุการณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จังหวัดเลย กล่าวว่า สิ่งที่เราจะต้องเริ่มเป็นอันดับแรกก่อนที่จะทำประกันภัยคือเราต้องคิดว่าผู้ป่วยและบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินทุกคนเป็นญาติของเรา เมื่อเราคิดได้แบบนี้เราจะเห็นว่าการทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินนั้นไม่ใช่การทำให้ใครที่ไหนเลย แต่เป็นการทำให้กับญาติของเรา และเพื่อความปลอดภัยของญาติเรานั่นเอง โรงพยาบาลของเราได้พยายามในการทำประกันภัยชั้นหนึ่งให้กับรถพยาบาลของของเรา ซึ่งในยุคแรกๆ นั้นระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่รองรับให้เราสามารถนำเงินไปซื้อประกันภัยให้กับรถพยาบาลได้ เราจึงหาเงินเพื่อทีจะซื้อประกันภัยกันเองโดยนำเงินบำรุงและเงินบริจาคมาจัดสรรในการดำเนินการเรื่องนี้ ปัจจุบันนี้เราสามารถพูดได้เต็มปากว่ารถพยาบาลทุกคันของโรงพยาบาลเรานั้นมีประกันภัยชั้นหนึ่งที่คุ้มครองทุกคนที่อยู่บนรถพยาบาลของเราอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ตนอยากฝากถึงโรงพยาลบาลที่ยังไม่ได้จัดทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลของตนเองนั้นควรจะรีบดำเนินการเสีย เพราะขณะนี้ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขก็เปิดให้ทำได้แล้ว และถึงแม้ระเบียบจะไม่ได้บังคับว่าทุกโรงพยาบาลจะต้องทำประกันภัย หากแต่เราควรคำนึงถึงสวัสดิภาพสวัสดิการของบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และผู้ป่วยของเราที่จะต้องโดยสารบนรถพยาบาลด้วย
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ยังระบุด้วยว่าการทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลฉุกเฉินนั้นจะส่งผลประโยชน์ถึง 3 ข้อหลักๆ ดังนี้ 1. ผลประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยเมื่อเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นเราจะปฏิเสธความรับผิดชอบต่อตัวผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยไม่ได้ การทำประกันภัยจะเข้ามาช่วยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยให้เราด้วย 2. ผลประโยชน์กับบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพราะการเกิดอุบัติแต่ละครั้งไม่ใช่แค่บุคลากรที่ต้องไดรับผลกระทบหากแต่ครอบครัวของเขาเหล่านั้นก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย เมื่อมีประกันภัยครอบครัวและคนที่อยู่ข้างหลังก็จะมีคนดูแลจากการทำประกันภัยด้วย 3. ผลประโยชน์ต่อตัวรถยนต์เอง เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นเราก็ไม่ต้องไปเสียค่าซ่อมบำรุงบริษัทประกันจะเป็นคนรับผิดชอบทุกอย่างๆ ทีเกิดขึ้นกับรถยนต์ของเราเอง
นพ.วีรวัฒน์ ยอแสงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกระบี่ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้โรงพยาบาลของเราเคยสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินจากกรณีที่รถยนต์ข้ามเกาะกลางมาชนกับรถพยาบาลของเราจนส่งผลให้คนขับรถพยาบาลของเราต้องเสียชีวิต พวกเราเสียใจกับเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นมาก อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลกระบี่ของเราได้ทำประกันภัยชั้น 1 ให้กับรถพยาบาลทุกคันของเรา ซึ่งจะมีความครอบคลุมทั้งบุคลากร ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่อยู่บนรถ โดยจากเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นนั้นแม่เพราจะไม่สามารถเรียกชีวิตของบุคลากรของเราให้ฟื้นขึ้นมาได้ แต่ประกันภัยก็ได้ชดเชยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่สามารถบรรเทาสิ่งที่ครอบครัวนี้จะต้องพบเจอได้ ตนจึงอยากฝากกับทุกโรงพยาบาลว่า การทำประกันภัยให้กับรถพยาบาลของแต่ละแห่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรใช้ความคิดที่นาน หากแต่เป็นเรื่องที่เราควรตัดสินใจทำทันที เพื่อทุกชีวิตที่จะได้รับความคุ้มครองอย่างปลอดภัยบนรถพยาบาลฉุกเฉิน
- 21 views