เปิดม่านการประชุมวิชชาการ 9 ปี สช. ทุกภาคส่วนร่วมแสดงพลังปฏิรูประบบสุขภาพ รองนายกรัฐมนตรี ย้ำนโยบายรัฐบาลชุดนี้เดินหน้า ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน มองแนวทางสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จะช่วยปลูกจิตสำนึกประชาธิปไตย และคืนความปรองดองให้สังคม หากทุกฝ่ายมาจับมือด้วยเป้าหมายเดียวกัน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมวิชชาการ “ปฏิรูประบบสุภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย ในโอกาส 9 ปี สช.” ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2558 ณ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคการเมือง ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ปฏิรูประบบสุขภาพและชีวิต ปฏิรูปจิตสำนึกประชาธิปไตย” ว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีความก้าวหน้า ในการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพ จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศอย่างกว้างขวาง มีการออก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ถือเป็นการปฎิรูประบบสุขภาพขนานใหญ่ สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการทำงานด้านสุขภาพจากเดิม ที่มองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไปสู่เรื่องของชุมชน สังคม ทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน สร้างเสริมสุขภาวะ
นายยงยุทธ กล่าวว่า นโยบายในด้านสังคมของรัฐบาลชุดนี้ ได้กำหนดแนวทางการทำงานสร้างสุขภาวะที่ดีเพื่อประชาชน 3 แนวทาง คือ (1) ลดความเหลื่อมล้ำ มีเป้าหมายให้ทุกคนได้มีโอกาสด้านการงาน อาชีพ และเข้าถึงบริการสังคมของรัฐ เช่น ระบบสาธารณสุข (2) ค้ำจุนกัน มีเป้าหมายพัฒนาระบบและเครื่องมือช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรีและเด็ก เปลี่ยนภาระเป็นโอกาสของสังคม และ (3) สร้างสรรค์สังคม คือการส่งเสริมชุมชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมต่อยอดงานสร้างสรรค์ระดับชุมชน
รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า นโยบายของภาครัฐในการสร้างระบบสุขภาพที่ดี ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม มีเหตุผล และสมานฉันท์ จะเป็นหนึ่งในหนทางสร้างความปรองดองในสังคมได้ เพราะทุกวันนี้ปัญหาที่ใหญ่ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายตลอด 1 ปี คือ ขาดความปรองดอง แต่การทำทุกอย่างให้กลับคืนมาในครั้งเดียวคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น หากหยิบประเด็นเรื่องระบบสุขภาพ มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความปรองดอง โดยใช้หลักการประชาธิปไตย เพื่อให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม รับฟังเหตุผลกันจะเกิดผลดี อีกทั้งยังจะสามารถนำหลักการนี้ ไปใช้ในเรื่องอื่นได้อีกด้วย
แน่นอนว่าหลักการประชาธิปไตยนั้น คือการเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและมีรัฐบาลขึ้น แต่การเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนบนเท่านั้น คิดว่ายังไม่พอ จะต้องลงลึกมาถึงการพัฒนาในภาคประชาชนด้วย โดยการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมนี้ เรามีตัวอย่างของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นถือเป็นพลังปัญญา พลังสังคม ที่จุดติดขึ้นมา ตรงนี้คือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน"
ด้าน นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการจัดการประชุมวิชชาการ 9 ปี สช. กล่าวว่า การปฏิรูประบบสุขภาพ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ทั้งในเชิงแนวคิดและมุมมองจากทุกภาคส่วน ที่เดิมมุ่งขยายบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข เรียกว่าการ "ซ่อมสุขภาพ" มาเป็นแนวทาง "สร้างนำซ่อม" โดยสนับสนุนให้ประชาชน มีหน้าที่ดูแลสุขภาพ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนและสร้างหลักประกันสุขภาพอย่างทั่วถึง อาทิ การเกิดขึ้นของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ , ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และขับเคลื่อนสนับสนุนภาคประชาชนให้เข้มแข็ง
การปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ ผ่านกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนในสังคม มีสิทธิ มีเสียง ในการนำเสนอนโยบายเพื่อสุขภาพ ปรับรูปแบบการเสนอจาก “บนลงล่าง” สู่ลักษณะของระดับ "ล่างขึ้นบน" กลายเป็นปรากฏการณ์ความตื่นตัว ให้ชาวบ้าน ชุมชน ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ มาจนถึงปัจจุบันที่ปรับตัวเข้าสู่การจัดการแบบเครือข่ายแล้ว
"แนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ สร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นกับพลเมือง มีส่วนร่วมออกแบบชีวิตและสุขภาพของเขาเองได้ เป็นทิศทางที่สอดคล้องไปกับการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน มาสู่ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ความสำเร็จของแนวคิดนี้จะสำเร็จได้ ต้องหนุนให้ประชาชนออกมาเอาธุระกับบ้านเมืองอย่างเต็มที่ หรือเรียกว่าสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยผ่านระบอบสุขภาพยุคใหม่"
สำหรับการเสวนาในงานประชุมวิชชาการ 9 ปี สช. ครั้งนี้ ยังมีประเด็นน่าสนใจ อาทิ หัวข้อ “ลดความเหลื่อมล้ำ ทางออกที่ต้องไปให้ถึงของประชาธิปไตยไทย” ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์, ดร.จุรี วิจิตรวาทการ สมาชิกสภาปฏิรูป เข้าร่วม พร้อม ดร.สุริชัย หวันแก้ว หรือ “สมดุลของการอภิบาลระบบสุขภาพ" ที่มี ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากทีดีอาร์ไอ, นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.ชาตรี ดวงเนตร ผู้บริหารเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มาร่วมพูดคุย เป็นต้น โดยมีไฮไลต์สำคัญในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ศ.ธีรยุทธ บุญมี จะปาฐกถาปิดในหัวข้อ "พลังพลเมือง สร้างสังคมสุขภาวะ" พร้อมสีสันในลานกิจกรรมและนิทรรศการอีกมากมาย
- 2 views