พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งทุนนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2498 ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ทรงเข้าพระราชหฤทัยดีว่า ในการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญวิชาการขั้นสูงสาขาต่างๆ วิธีการหนึ่งที่จะสร้างผู้เชี่ยวชาญคือ การส่งผู้มีความสามารถออกไปศึกษาหาความรู้ ณ ประเทศที่เป็นแหล่งวิทยาการแขนงต่างๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ จึงทรงพระราชดำริที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาผู้แสดงความสามารถยอดเยี่ยม ได้มีโอกาสไปศึกษาวิชาความรู้ให้ถึงขั้นสูงสุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยทรงพระราชดำริว่าเมื่อได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะเห็นว่าศาสตร์ต่างๆ นั้นมีความสัมพันธ์กัน และสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติได้ ทรงพระราชทานนามทุนว่า "อานันทมหิดล" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

การพระราชทานทุน ทรงพระราชทานแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์เป็นประเดิม เพื่อเจริญรอยตามพระยุคลบาทของทั้งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และสนพระทัยการสาธารณสุขของประเทศ ทั้งยังได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาแพทย์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ จนสำเร็จกลับมาทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมาก่อนแล้ว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ทรงสนพระราชหฤทัยในการส่งเสริมกิจการแพทย์ของไทยเป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่เสด็จนิวัติพระนครครั้งที่สอง ได้เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรแก่ผู้จบหลักสูตรแพทย์พยาบาล ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2489 ทรงมีพระราชปรารภว่า มีพระราชประสงค์ให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน เพราะในขณะนั้น มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์รับนักศึกษาแพทย์ได้เพียงปีละ 50 คนเท่านั้น

ต่อมา ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยให้เปลี่ยนสภาพจาก “ทุน” เป็น “มูลนิธิ” ชื่อว่า มูลนิธิอานันทมหิดล โดยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก จำนวน 20,000 บาท ในการจัดตั้งมูลนิธิฯ และเมื่อความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่นๆ มีเพิ่มขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาวิชาต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1.แผนกแพทยศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อแรกตั้งทุน

2.แผนกวิทยาศาสตร์ (รวมแผนกวิศวกรรมศาสตร์ด้วย) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2502 และเปลี่ยนชื่อเป็นแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514

3.แผนกวิศวกรรมศาสตร์ พระราชทานพระบรมราชานุมัติให้แยกแผนกวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเคยรวมอยู่ในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ออกเป็นแผนกต่างหากตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2541

4.แผนกเกษตรศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2504

5.แผนกธรรมศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506

6.แผนกอักษรศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2506

7.แผนกทันตแพทย์ศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2535

8.แผนกสัตวแพทยศาสตร์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2537

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมูลนิธิฯ ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารขึ้น เพื่อควบคุมนโยบายและบริหารกิจการทั่วไปในการควบคุมของนายกกิตติมศักดิ์ และมีคณะกรรมการของแต่ละแผนกวิชาที่คณะกรรมการบริหารแต่งตั้ง เพื่อดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ซึ่งคณะกรรมการบริหารชุดแรก มีสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์เป็นประธานกรรมการ

การคัดเลือกผู้ที่จะได้รับพระราชทานทุนของมูลนิธิอานันทมหิดล จะแตกต่างไปจากทุนอื่นๆ คือไม่มีการประกาศรับสมัครหรือการสอบแข่งขัน แต่เป็นการแสวงหาและคัดเลือกโดย คณะกรรมการแผนกวิชา ที่จะหน้าที่ติดตามแสวงหาผู้สมควรจะได้รับพระราชทานทุน และกลั่นกรองพิจารณาคัดเลือกผู้สมควรได้รับให้เป็นไปตามคุณสมบัติตามพระราชประสงค์ จากสถาบันที่มีคุณสมบัติทางวิชาการที่ได้ระดับ แล้วเสนอคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณา การคัดเลือกผู้รับพระราชทานทุนนี้ จะพิจารณาทั้งคุณสมบัติของผู้รับ และคุณภาพทางวิชาการของสถาบันที่สำเร็จการศึกษาไปพร้อมกัน ทั้งนี้คณะกรรมการแผนกวิชาจะพิจารณารวมไปถึงสถาบันที่สำเร็จการศึกษา และสถาบันที่จะส่งไปศึกษาต่อด้วย

มูลนิธิอานันทมหิดลไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการศึกษาที่เข้มงวด เพราะมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ได้รับพระราชทานทุนได้ศึกษาจนถึงขั้นสูงสุดในแต่ละแขนงวิชา ในการคัดเลือกผู้รับทุน คณะกรรมการแผนกวิชา จะพิจารณาผู้ที่มีความสามารถที่จะศึกษาต่อได้ถึงขั้นปริญญาดุษฎีบัณฑิต หรือความเชี่ยวชาญพิเศษในขั้นสูง เช่น ในกรณีของแผนกแพทยศาสตร์หรือแผนกเกษตรศาสตร์

มูลนิธิอานันทมหิดลไม่มีข้อผูกมัดให้ผู้รับพระราชทานทุนต้องกลับมารับราชการ หรือแม้แต่กลับมาทำงานในประเทศไทย ในการคัดเลือกนอกจากคุณสมบัติทางวิชาการ คณะกรรมการแผนกวิชาจะต้องคำนึงถึงคุณธรรม ความประพฤติและความสำนึกในการที่ควรจะกลับเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ เมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว

เมื่อคณะกรรมการบริหารพิจารณาตัดสินแล้ว ประธานคณะกรรมการบริหารจะนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเป็นรายๆ ไป เพื่อให้ได้ผู้รับพระราชทานทุนที่มีความเหมาะสมจริง

ทุนการศึกษานี้มีจำนวนแผนกละ 1 ทุน ต่อปี แต่ทุนนี้อาจงดได้หากไม่มีผู้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมดีพอ หรือหากปีใดมีผู้สมควรได้รับพระราชทานทุนเกินกว่า 1 คน คณะกรรมการแผนกวิชาอาจเสนอให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาเป็นกรณีพิเศษได้

ก่อนที่จะออกไปศึกษาในต่างประเทศ คณะกรรมการประจำแผนกจะนำผู้ที่ได้รับพระราชทานทุนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อรับพระราชทานพระบรมราโชวาท และเมื่อสำเร็จการศึกษามาแล้ว ในโอกาสแรกที่กลับมาถึงประเทศไทย จะนำเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานทุกคน

ตรามูลนิธิอานันทมหิดล

ตรามูลนิธิอานันทมหิดล เป็นรูปเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 อักษรพระปรมาภิไธย อ.ป.ร. ย่อมาจากคำว่า อานันทมหิดล ปรมราชาธิราชา

เอกสารอ้างอิง.

1.       มูลนิธิอานันทมหิดล, [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558. จากhttp://www.anandamahidolfoundation.com/?q=history