“นพ.สมศักดิ์” ยันเจตนารมณ์แก้ไขปัญหาเหมืองทองคำที่พิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ เพื่อดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพประชาชนรอบเหมืองเป็นหลักสำคัญที่สุด โดยใช้ข้อมูลวิชาการที่ได้จากการการตรวจทั้งคนและสิ่งแวดล้อมเป็นฐานการแก้ไข ไม่ได้อุ้มเหมืองทองแต่อย่างใด โดยจะเชิญคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ทั้งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฝ่ายวิชาการ ประชาชน และผู้บริหารเหมืองทองคำประชุมในวันที่ 11 มิถุนายน 2558 นี้ ให้ได้ทางออกที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายเร็วที่สุด และต่อยอดเป็นระบบอย่างยั่งยืน
วันนี้ (8 มิถุนายน 2558) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีมีข่าวพาดพิงว่ากระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ และมุ่งแก้ไขปัญหาปลายเหตุ นั้น ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายชัดเจนในการดำเนินการแก้ไข ป้องกัน และคุ้มครองสุขภาพประชาชน จากภัยมลพิษของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้ได้ก่อน คือเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งทางออกของการแก้ไขจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยใช้ข้อมูลวิชาการที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ตรวจได้จากประชาชนและสิ่งแวดล้อม เป็นฐานการแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เป็นการสนับสนุนเหมืองทองคำแต่อย่างใด
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กรณีผลกระทบจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ 3 จังหวัด ได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุดคือ ชุดทำงานด้านการแพทย์ มี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 3 เป็นประธาน ดูแลการรักษาผู้ที่เจ็บป่วยจากมลพิษสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกาย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข มีทีมหมอครอบครัวดูแลผู้ที่ป่วยถึงบ้านต่อเนื่อง และมีระบบส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง และชุดที่ 2 คือคณะทำงานด้านการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ มี นพ.ไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ สาธารณสุขนิเทศ เขตสุขภาพที่ 2 เป็นประธาน ซึ่งขณะนี้ได้วางแผนดำเนินการ 5 เรื่องอย่างเป็นระบบ ได้แก่ 1.ความร่วมมือแก้ไขน้ำอุปโภคบริโภคที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน 2.การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อม 3.การตรวจติดตามดูแลสุขภาพประชาชน 4.การพัฒนาศักยภาพสถานบริการในการดูแลรักษาประชาชน และ 5.การเก็บข้อมูลสุขภาพและข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทั้งดิน แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคทุกแหล่งและอาหาร
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับประชาชน รับฟังปัญหาความเดือดร้อน และแนวทางแก้ไขที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขแบบบูรณาการร่วมกันไปพร้อมๆ กัน ประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้านรอบเหมืองทองคำ ผู้บริหารเหมืองเหมืองทองคำ ทีมนักวิชาการจากส่วนกลางของ คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ และภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการเหมืองทองคำ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรมโรงงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กรมน้ำบาดาล กรมทรัพยากรเหมืองแร่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมพัฒนาอุตสาหกรรมกิจการเหมืองแร่ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม โดยจะประชุมในวันที่ 11 มิถุนายน 2558 นี้
- 21 views