“หมอรัชตะ” รับปากตั้งภาคประชาชน ร่วมนั่ง คกก.แก้ไขปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชน หลังเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ยื่นหนังสือจี้ขอความจริงใจในการแก้ไข ยันต้องตั้ง “คกก.กลาง เพื่อตรวจสอบค่ารักษา รพ.เอกชน” ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี พร้อมเตรียมยื่นหนังสือ กพฉ.ขอร่วมเป็น กก.แก้ปัญหาระบบฉุกเฉิน ต้นเหตุทำประชาชนถูกรีดค่ารักษาแพง   

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ - เมื่อเวลา 13:00 น. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมด้วย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตัวแทนภาคประชาชน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพง พร้อมยื่นข้อเรียกร้องการเข้ามีส่วนร่วมของตัวแทนภาคประชาชนในคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้

นางปรียนันท์ กล่าวว่า จากแนวทางการแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนขณะนี้ ภาคประชาชนต่างมีความกังวล เนื่องจากเราถูกให้อยู่วงนอกของการแก้ไขปัญหาตลอด ทั้งที่เราเป็นคนเสนอเรื่องนี้ต่อสังคม และยังรู้สึกไม่สบายใจ เนื่องจากเกรงว่าในการแก้ไขปัญหานี้จะยังมีความเกรงอกเกรงใจโรงพยาบาลเอกชนกันอยู่ เพราะผู้ที่เข้าร่วมเป็นกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนล้วนมาจากหน่วยงานที่ปล่อยให้เกิดปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น 

นอกจากนี้แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ซึ่งมี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เป็นประธาน และได้เปิดให้ตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในการประชุมครั้งที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งภาคประชาชนเป็นกรรมการอย่างเป็นทางการ ขณะที่มีอาจารย์จากสถาบันการศึกษาที่ร่วมเป็นกรรมการ แต่ปรากฎว่าได้รับหนังสือเชิญประชุมล่าช้ากว่าวันประชุมจริงหนึ่งวัน ทำให้ระแวงถึงความจริงใจในเรื่องนี้

ส่วนผลสรุป 4 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนนั้น มองว่าเป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในระยะสั้นเท่านั้น โดยประเด็นที่ภาคประชาชนเห็นด้วยคือ กรณีรักษาฉุกเฉินในช่วง 72 ชั่วโมงแรก โรงพยาบาลเอกชนต้องให้การรักษาโดยไม่มีเงื่อนไข และหลัง 72 ชั่วโมงให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ์ อย่างไรก็ตามภาคประชาชนยังคงยืนยันให้มีคณะกรรมการกลางระดับชาติที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลเอกชน ตัวแทนราชวิทยาลัยแพทย์ ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และภาคประชาชน เพื่อติดตามตรวจสอบการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนที่เกินความจำเป็น ที่มีผลต่อค่ารักษา โดยขอให้เป็นคณะกรรมการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อความเป็นธรรมและโปร่งใส

“ในการแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกขน ควรมีภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการในทุกระดับ รวมถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน นอกจากนี้ในส่วนของการรักษาตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินควรเปิดให้ภาคประชาชนร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) เพื่อมีส่วนร่วมในการนำเสนอและแก้ไขปัญหาการรักษาพยาบาลในระบบฉุกเฉิน โดยจะมีการทำหนังสือเสนอต่อ กพฉ.โดยตรง” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว 

ด้าน ผศ.นพ.ธีระ กล่าวภายหลังยื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข ว่า ทาง ศ.นพ.รัชตะ ได้รับปากที่จะเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน และจะมีหนังสือแต่งตั้งภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหานี้  

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องในหนังสือดังกล่าว มี 4 ประเด็น ในเรื่องการมีส่วนร่วม ขอให้มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกคณะ เรื่องค่ายา และเครื่องมือแพทย์ ให้จัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายการรักษาใน รพ.เอกชนอย่างชัดเจน และให้ สธ.รวบรวมราคายาและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้บ่อย รวมถึงที่มีราคาสูง ทั้งในภาครัฐและเอกชน แสดงต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ ที่สามารถเข้าดูได้อย่างเสรี

เรื่องการตรวจรักษา ขอให้ตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติเพื่อควบคุมค่ารักษา โดยให้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ในส่วนเรื่องค่าบริการเพื่อความสะดวกสบายใน รพ.เอกชนนั้น ภาคประชาชนไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยว รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบาย “Medical hub” โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งในเรื่องโครงสร้างราคา ปริมาณการใช้เวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ รวมถึงปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ ทั้งในเรื่องปริมาณ คุณภาพ และเจตคติในระยะยาว

รายละเอียดหนังสือทั้งหมดมีดังนี้

8 มิถุนายน 2558

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภาคประชาชนได้ยื่น 3.3 หมื่นรายชื่อต่อท่านนายกรัฐมนตรีผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน และท่านได้มีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาแล้วนั้น

ขณะนี้ใกล้ถึงกำหนดเวลา 1 เดือน ที่คณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง จะประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยมีสาระเจาะจงในเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการติดฉลากราคายาจากโรงงาน  ซึ่งที่ผ่านมาภาคประชาชนได้รับอนุญาตให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากภาคประชาชนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

นับจากนี้ไปจะเป็นการประชุมเพื่อหาทางออกในระยะกลาง และระยะยาว รวมถึงติดตามกำกับมาตรการระยะสั้นให้เป็นไปตามแผน ทั้งนี้เพื่อให้สังคมมั่นใจในความโปร่งใส และเป็นธรรม ภาคประชาชนมีข้อเสนอเพิ่มเติม จากที่เคยเสนอตามสำเนาหนังสือที่แนบมาด้วยดังต่อไปนี้

เรื่องการมีส่วนร่วม 

ขอให้ภาคประชาชนส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกคณะ และทุกวงประชุม จำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง

ขอให้มีการกำหนดวัน เวลา และสถานที่ประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ อย่างชัดเจนล่วงหน้า เพื่อป้องกันคำครหาของการจัดประชุมอย่างไม่โปร่งใส และจัดเพื่อหลบเลี่ยงการมีส่วนร่วม ดังที่ได้รับการสะท้อนจากคณะกรรมการจากสถาบันการศึกษาที่มีรายชื่ออยู่ในคำสั่งแต่งตั้งเดิม แต่ได้รับการติดต่อช้ากว่าวันเวลาที่ประชุมจริง

เรื่องค่ายา และเครื่องมือแพทย์ 

ขอให้มีการติดตาม กำกับ ประเมินผลมาตรการระยะสั้นที่จะออกมาในสัปดาห์นี้ โดยใช้กลไกคณะกรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลราคาแพง ที่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ

กำหนดนโยบายเร่งด่วน ที่ประกอบด้วย

หนึ่ง กำหนดให้มีการจัดหมวดหมู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนอย่างชัดเจน โดยระบุรายละเอียดและราคาในหมวด ยา เครื่องมือแพทย์ ค่าบริการวิชาชีพ และค่าบริการอื่นๆ

สอง ให้กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมราคายา และเครื่องมือแพทย์ ที่ใช้บ่อย รวมถึงชนิดที่มีราคาสูง ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน และสำแดงต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ และช่องทางอื่นๆ ที่เข้าถึงได้โดยเสรี และมีการอัพเดตอย่างต่อเนื่อง

เร่งรัดคณะกรรมการฯ ให้มีการกำหนดมาตรการระยะกลาง และระยะยาวที่สามารถตอบปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การพัฒนากลไกร่วมระหว่างอย. กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุข และภาคประชาชน เพื่อแก้ไขกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดกระบวนการควบคุมราคายา เครื่องมือแพทย์ โดยผูกติดกับขั้นตอนการยื่นขอทะเบียนยาและเครื่องมือแพทย์เพื่อจัดจำหน่าย ทั้งในกรณีรายใหม่ หรือการต่ออายุก็ตาม

เรื่องการตรวจรักษา

ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลางระดับชาติที่ประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการตรวจสอบประวัติแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับโรงพยาบาลเอกชน ร่วมกับตัวแทนของราชวิทยาลัยแพทย์ทุกแห่ง ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม และภาคประชาชน เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และทำการศึกษาข้อมูลในสถานพยาบาลเอกชนทั่วประเทศในเรื่องการส่งตรวจที่เกินความจำเป็น รวมถึงการดูแลรักษาและให้ยาที่ไม่จำเป็น และไม่ตรงตามมาตรฐานการดูแลรักษา โดยขอให้เป็นคณะกรรมการกลางที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีความอิสระ มีความเป็นธรรม และโปร่งใส

ขอให้คณะกรรมการกลางดังกล่าว ดำเนินการสร้างมาตรการจัดการปัญหาเรื่องการตรวจรักษาที่ไม่จำเป็น ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเป็นการปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน สร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และลดภาระค่าใช้จ่ายทางการรักษาพยาบาลจากการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศอีกทางหนึ่ง

เรื่องค่าบริการเพื่อความสะดวกสบายในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ภาคประชาชนไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยว

“รัฐบาล” ควรพิจารณาทบทวนนโยบายระดับชาติที่มุ่งขับเคลื่อนให้มีการหารายได้จากต่างประเทศผ่านระบบรักษาพยาบาล ดังที่รู้จักกันดีในชื่อของนโยบาย “Medical hub” เพราะการรักษาพยาบาลคนไข้เป็นการประกอบวิชาชีพที่อยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม และบรรทัดฐานอันดีงามของสังคม บุคลากรด้านการแพทย์จึงเป็นที่ยกย่อง ยอมรับของสังคมตลอดมา ดังนั้นการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจึงไม่ใช่สินค้าที่จะหากำไรอย่างไร้ขีดจำกัด  แม้จะเน้นให้มีการหารายได้ผ่านระบบของเอกชน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อระบบสุขภาพโดยรวมของประเทศ ทั้งในเรื่องโครงสร้างราคา ปริมาณการใช้เวชภัณฑ์และครุภัณฑ์ รวมถึงปัญหาเรื่องกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศ ทั้งในเรื่องปริมาณ คุณภาพ และเจตคติในระยะยาว

จึงเรียนมา เพื่อขอท่านได้โปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์  

นพ.ประทีป สัจจะมิตร

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ตัวแทนภาคประชาชน