กระทรวงสาธารณสุขสนองนโยบายรัฐบาลในการสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนท้องถิ่น โดยมอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่มีการใช้ในสปาและผลิตภัณฑ์สมุนไพร OTOP ในแหล่งท่องเที่ยว ให้มีคุณภาพทั้งวัตถุดิบและตัวผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธาน เปิดตัว โครงการ “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในสปาชุมชนและโอทอป(OTOP)” ณ โรงพยาบาลห้วยเกิ้ง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับชุมชนท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยที่มีมูลค่าการตลาดรวม 48,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 15-20 ต่อปี และยังมีความสำคัญในการสร้างความโดดเด่นและอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของสปาไทย ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาตินับเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย ประกอบกับในปี 2558 นี้ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคม ASEAN จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการสร้างศักยภาพให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ผลิตจากสมุนไพรเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้นอกเหนือจากสินค้าที่เป็นพืชผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีเพียงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.176/2546) กำหนดการทดสอบเฉพาะลักษณะทั่วไป ปริมาณความชื้น สิ่งแปลกปลอมและน้ำหนักสุทธิเท่านั้น แต่ยังไม่มีข้อกำหนดในด้านความปลอดภัยจากการปนเปื้อนด้านเชื้อจุลินทรีย์ โลหะหนัก และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมักพบการปนเปื้อนดังกล่าวในสมุนไพร ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานในการศึกษาวิจัยและกำหนดคุณภาพมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพร และการตรวจรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยให้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสปา เพื่อยกระดับศักยภาพของชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า โครงการผลิตภัณฑ์สมุนไพรในสปาชุมชนและOTOP ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นี้ จะดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2558 และระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 –กันยายน 2559 โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่า 400 ชุมชน และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ใช้ในสปาชุมชน เช่น ลูกประคบสมุนไพร น้ำมันนวดจากสมุนไพร เครื่องสำอางจากสมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 200 ผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น ที่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี และเห็นผลชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่ส่วนใหญ่จะทำการเกษตรปลูกไร่อ้อยโดยชาวบ้านต้องลงทุน 10,000 บาท/ไร่ ได้ผลตอบแทน 24,000 บาท แต่เมื่อมีการส่งเสริมให้ปลูกไพลลงทุนเพียง 3,000 บาท/ไร่ ได้ผลตอบแทนถึง 36,000 บาท/ไร่ ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับชุมชนได้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพในสปาที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเข้าไปส่งเสริมอย่างครบวงจรตั้งแต่การปลูกจนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยจะสนับสนุนกล้าพันธุ์ 80,000 ต้น ที่ผลิตจากสวนสมุนไพรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีอยู่ที่จันทบุรี ระยองและเชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินการ รวมถึงการเก็บเกี่ยวโดยกำหนดคุณภาพและมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรไทย เมื่อได้วัตถุดิบสมุนไพรที่มีคุณภาพแล้วกระบวนการต่อไปคือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในขั้นตอนนี้จะต้องมีการควบคุมคุณภาพการผลิตเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ปราศจากเชื้อจุลินทรีย์ และยังคงคุณภาพของวัตถุดิบสมุนไพร รวมถึงการเก็บรักษาและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสมุนไพรที่มีคุณภาพ เพื่อใช้ในสปา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องดื่มสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร น้ำมันนวด โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการตรวจรับรองคุณภาพ หากผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับเครื่องหมายรับรอง “คุณภาพสมุนไพรไทย” จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งนี้ชนิดของสมุนไพรเป้าหมายที่ดำเนินในโครงการนี้มีทั้งหมด 10 ชนิด ได้แก่ ขมิ้นขัน ไพล บัวบก มะกรูด มะขาม มังคุด หม่อน อัญชัน ชาเขียว แตงกวา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร OTOP โดยสมุนไพรเป้าหมายเหล่านี้เป็นสมุนไพรที่มีการใช้สูงในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เราจะพบเห็นการใช้ในสปา และผลิตภัณฑ์ OTOP
- 71 views