กรมควบคุมโรค แถลงผลดีดีซีโพล เรื่อง“โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง” พบ ประชาชนกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 4.5 แต่นานๆ กินครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ส่วนการใช้ช้อนกลางเมื่อกินกับคนในครอบครัวก็ลดลงจากร้อยละ 39.9 ในปี 2557 เป็น 25.2 ในปี 2558 คนไทยอยากให้สถานที่สาธารณะมีจุดล้างมือ เฉพาะร้านอาหารมากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 16.4
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2558) ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการแถลงข่าวผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ดีดีซีโพล(DDC Poll) และการเสวนา DDC Forumเรื่อง“โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง” พร้อมวิเคราะห์สถานการณ์โรคและการสืบสวนสอบสวนโรคดังกล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล(DDC Poll) เรื่อง“โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง” กลุ่ม เป้าหมายทั้งหมด 3,024 ตัวอย่าง ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 4 ภาค รวม 24จังหวัด โดยสอบถามบริเวณแหล่งชุมชน ตลาด ห้างสรรพสินค้าหรือบริเวณสถานที่ราชการ ตลอดจนหมู่บ้านนอกเขตเทศบาล สำรวจระหว่างวันที่ 10–18 เมษายน 2558 พบว่า 1.ประชาชนร้อยละ 14.6 กินอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ และร้อยละ 53 กินนานๆ ครั้ง 2.ประชาชนร้อยละ 47.5 ใช้ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารกับบุคคลอื่น 3.ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 48 อุ่นอาหารค้างมื้อทุกครั้ง ก่อนนำมารับประทาน 4.ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 47.1, 48.7 และ 62.8 ล้างมือทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร, ก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ตามลำดับ 5.ประชาชนร้อยละ 58.5 คิดว่าสโลแกน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ยัง ใช้ในการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคได้ 6.ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80.7 และ 78.9 ทราบว่าโรคที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อนมากที่สุด คือ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง ตามลำดับ 7.ประชาชนอยากให้สถานที่สาธารณะมีจุดล้างมือ มีสบู่และเจลล้างมือ โดยเฉพาะร้านอาหารมีถึงร้อยละ 68.3 โรงอาหารสาธารณะ 64.3 และ 8.ประชาชนร้อยละ 41.4 สามารถทำน้ำเกลือแร่ เพื่อรักษาอาการเบื้องต้น เมื่อมีอาการอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง
จาก การวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญ พบว่า ประชาชนกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 4.5 แต่นานๆ กินครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ส่วนการใช้ช้อนกลางเมื่อกินกับคนในครอบครัวก็ลดลงจากร้อยละ 39.9 ในปี 2557 เป็น 25.2 ในปี 2558 และการล้างมือในชีวิตประจำวันใกล้เคียงกับปี 2557 ทั้งก่อนเตรียมอาหาร, ก่อน กินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนรับรู้ว่ามีโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำในช่วงฤดูร้อนมีอะไรบ้าง ซึ่งเพิ่มจากปี 2557 ทุกโรค เช่น อาหารเป็นพิษ อุจจาระร่วง บิด ไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นต้น สุดท้ายประชาชนอยากให้สถานที่สาธารณะมีจุดล้างมือ มีสบู่และเจลล้างมือ เพิ่มมากกว่าปี 2557 ทุกจุด โดยเฉพาะร้านอาหารที่มากกว่าร้อยละ 16.4 รวมถึงโรงอาหารสาธารณะ ตลาดสด สถานที่ท่องเที่ยว และสถานีขนส่ง ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา สถานการณ์ของโรคดังกล่าวในต้นปีนี้ พบว่า โรคอาหารเป็นพิษ มีผู้ป่วยแล้ว 43,160 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 15-24 ปี(ร้อยละ 13.52) รองลงมา 45-54 ปี(ร้อยละ 11.73) ส่วนโรคอุจจาระร่วง มีผู้ป่วยแล้ว 354,099 ราย เสียชีวิต 3 ราย กลุ่มอายุที่พบมากสุด คือ 65 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 12.26) รองลงมา 15-24 ปี (ร้อยละ 11.08)
ส่วนปีนี้เน้นรณรงค์ให้ประชาชนยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ดัง นี้ 1.กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อ อุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3.ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุก กำจัดขยะมูลฝอยรอบๆบ้านทุกวัน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และถ่ายอุจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แพร่โรค
สำหรับ โรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง มีอาการคล้ายกัน คือ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ ส่วนการดูแลเบื้องต้น ให้ดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่(โอ อาร์ เอส) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ยังถ่ายบ่อย รับประทานอาหารไม่ได้ กระหายน้ำมากกว่าปกติ หรืออุจจาระเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ถ้ามีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
- 52 views