พยาบาล รพ.สต. โอดเหมือนเป็นลูกเมียน้อย ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ พยาบาล รพ.สต.ตันอยู่ที่ระดับ 7 ทั้งชีวิตทำงานได้เลื่อนขั้นครั้งเดียว ทั้งไม่มีโอกาสขึ้นไปเป็น ผอ.รพ.สต. หากไม่มีผอ.รพ.สต. ก็ต้องรักษาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผอ.คนใหม่ที่อาวุโสน้อยกว่ามาขึ้นแทน แถมค่าตอบแทนต่ำกว่าพยาบาลในเมือง หากไม่เร่งแก้ไข เจอปัญหาลาออกจนขาดแคลนคนทำงานแน่นอน
นางวันทิตา ทองช่วย
นางวันทิตา ทองช่วย ประธานชมรมพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 3 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ปัญหาความก้าวหน้าในวิชาชีพของพยาบาล รพ.สต.กับวิชาชีพอื่นที่เหลื่อมล้ำกัน หากไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้พยาบาล รพ.สต. ทยอยลาออกจนขาดแคลนบุคลากร กระทบกับระบบสาธารณสุขอย่างแน่นอน โดยเฉพาะระบบบริการปฐมภูมิที่จะยิ่งมีความสำคัญในอนาคต
นางวันทิตา ขยายความปัญหาความก้าวหน้าและค่าตอบแทนที่เหลื่อมล้ำกันว่า ใน รพ.สต. 1 แห่ง จะมี 3 ตำแหน่ง คือ 1.เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 2.นักวิชาการสาธารณสุข และ 3.พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งใน 2 ตำแหน่งแรกสามารถเลื่อนขั้นไปเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต. ได้ แต่ในส่วนของพยาบาลวิชาชีพ ไม่สามารถขึ้นเป็นผู้อำนวยการได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ใน รพ.สต. บางแห่งไม่มีเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน หรือ นักวิชาการสาธารณสุข ก็ต้องให้พยาบาลวิชาชีพรักษาการผู้อำนวยการไปเรื่อยๆ จนมีเจ้าหน้าที่ใหม่ที่อาวุโสน้อยมาเป็นผู้อำนวยการ
“พยาบาลวิชาชีพ รพ.สต. ตอนบรรจุใหม่จะได้เป็นพยาบาลปฏิบัติการ เมื่อครบ 3 ปี ก็เลื่อนเป็นพยาบาลชำนาญการ ทั้งชีวิตทำงานจนเกษียณได้เลื่อนตำแหน่งครั้งเดียว บางคนทำงานมา 10-20 ปี ส่วนเด็กบางคนทำงานมา 5 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการ แบบนี้มันไม่เป็นธรรม”นางวันทิตา กล่าว
นอกจากความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพใน รพ.สต. แล้ว ก็ยังเหลื่อมล้ำกับวิชาชีพพยาบาลด้วยกันเองด้วย โดยพยาบาลที่อยู่ประจำโรงพยาบาลชุมชน เลื่อนขั้นเป็น ซี 8 หรือพยาบาลชำนาญการพิเศษได้ แต่พยาบาลใน รพ.สต. ตันอยู่ที่ซี 7นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าตอบแทนที่เหลื่อมล้ำกัน พยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 4,000 บาท แต่พยาบาล รพ.สต. ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 1,200-1,800 บาท ซึ่งบางวิชาชีพเมื่อทำงานในที่ห่างไกลก็ได้รับค่าเบี้ยทุรกันดาร แต่สำหรับ พยาบาล รพ.สต. ซึ่งทำงานอยู่ในที่ห่างไกลจากตัวอำเภอ บางแห่งก็กันดารเดินทางลำบาก กลับได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าโรงพยาบาลในอำเภออีก
มิหนำซ้ำ การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรเงินลงไปที่โรงพยาบาลชุมชน ก็ทำผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางแห่งดูแลแต่คนที่อยู่ในโรงพยาบาลตัวเอง แต่ละเลยพยาบาล รพ.สต. บางพื้นที่ พยาบาล รพ.สต. ไม่ได้รับค่าตอบแทนมานาน 3 ปี หรือได้บ้างไม่ได้บ้าง จนต้องรวมตัวกันไปร้องเรียนกับ สปสช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
“เมื่อมี รพ.สต. แล้วให้พยาบาลไปประจำทุกแห่ง แต่เงินเดือนตัน ความก้าวหน้าก็ไม่มี พอเจอหน้างานที่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับพยาบาล โดยเฉพาะนโยบายหมอครอบครัวอีก ก็เหมือนให้เรามาทำงานเฉยๆ แต่ทุกอย่างไม่เอื้อให้เรา ไม่เห็นความสำคัญของเรา เป็นเหมือนลูกเมียน้อย แบบนี้ใครจะอยากมาอยู่ อยู่ไปก็ไม่ก้าวหน้า ลาออกดีกว่า”นางวันทิตา กล่าว
ประธานชมรมพยาบาลวิชาชีพ รพ.สต. 3 จังหวัดชายแดนใต้ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ เริ่มมีพยาบาลลาออกไปหลายคนแล้ว หากเป็นรุ่นเด็กๆ ก็ออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน หรือที่มีอายุมากก็ออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปโดยไม่ได้รับการแก้ไข ใครจะทนได้นาน ในอนาคตจะเกิดปัญหาขาดแคลนพยาบาลแน่นอนโดยเฉพาะในระดับรากหญ้า
“ที่เราต้องการก็คือโอกาสในการขึ้นซี 8 ได้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ซี 7 เงินเดือนตันไปจนเกษียณ รวมทั้งโอกาสในการก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ รพ.สต.ได้ เงินตอบแทนซึ่งควรได้เท่ากับพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน และอยากให้ สปสช. จัดสรรเงินลงมาที่ รพ.สต.โดยตรงเลย”นางวันทิตา กล่าว
- 1607 views