นสพ.เดลินิวส์ : แฉผลศึกษาค่ารักษาใน รพ. พบโรคเดียวกันแต่ราคาต่างกันลิบลับ เผยแค่ "ไข้หวัดธรรมดา" รพ.เอกชนแพงกว่า รพ.รัฐถึง 6 เท่า ด้านแพทยสภาแนะแก้ พ.ร.บ. สถานพยาบาล ให้อำนาจ สบส.คุมค่าใช้จ่าย รพ. เอกชนได้ ขณะที่ "เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์" ชวนประชาชนรวมตัวยื่นรายชื่อต่อรัฐบาล หนุนตั้งคณะกรรมการคุมค่ารักษา 12 พ.ค.
นสพ.เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 10 พ.ค. นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า อนุกรรมาธิการฯ ได้ ศึกษาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงใน รพ.ของรัฐ และ รพ.เอกชน รวม 9 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่วน รพ.เอกชนจะแบ่งออกเป็น 1. รพ. 5 ดาวที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีชาวต่างชาติมารับบริการ 2 แห่ง 2. รพ.เอกชนบริเวณหัวเมือง 2 แห่ง 3. รพ. เอกชนที่มีมูลนิธิสนับสนุน 2 แห่ง โดยเลือกศึกษาค่าใช้จ่ายในกลุ่มโรคที่มีความฉุกเฉิน ได้แก่ โรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มโรคที่ต้องได้รับการรักษาทันทีและทันสมัย เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น การผ่าเข่า ผ่าต้อกระจก และโรคพื้นฐานในกลุ่มผู้ป่วยนอก คือไข้หวัดธรรมดา
ทั้งนี้ ได้ศึกษา 2 ครั้งเมื่อปี 2552 และ 2557 พบว่า ในโรคเดียวกันค่าใช้จ่ายในส่วนของ รพ.รัฐ กับ รพ.เอกชนต่างกันพอสมควร แต่ข้อมูลตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าต่างกันกี่เปอร์เซ็นต์ แม้แต่ระหว่าง รพ.เอกชนด้วยกันเองก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มีเรื่องของมาตรฐานการให้บริการที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่ารักษาแพง ไม่ได้ลงลึกว่าค่าแพทย์เท่าไหร่ ค่าอุปกรณ์เท่าไหร่ ทั้งนี้ จะนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้งในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ ที่ สนช. เพื่อให้พิจารณากันอีกครั้งว่าเรื่องค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันนั้นเป็นอัตราที่เหมาะสมหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีไข้หวัดธรรมดา ซึ่งเป็นโรคที่สามารถหายได้เองแม้ไม่ไป รพ.นั้น แต่ละ รพ.มีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง นพ.สรณ กล่าวว่า รพ.ราชวิถีคิดค่ารักษาถูกที่สุด อยู่ที่ประมาณ 500-800 บาท รวมค่ายาและค่าแพทย์แล้ว ส่วน รพ.เอกชน 5 ดาวค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท สูงกว่าประมาณ 6 เท่า แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าคุณภาพต่างกันหรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าใช้ยาชนิดเดียวกันหรือไม่ เป็นยาในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ แต่บอกได้ว่าราคาต่างกันมากจริงๆ ขนาดเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา
ทางด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ควรเพิ่มอำนาจให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สามารถดูแลกำกับค่าใช้จ่ายในหมวดต่าง ๆ ของ รพ.เอกชน ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมได้ โดยอาจจะแก้ที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งเป็นกฎหมายและขยายขอบเขตให้สามารถประสานได้ทุกหน่วยงาน นอกจากนี้อาจจะต้องพัฒนาและเพิ่มบุคลากรในสำนักสถานพยาบาล เพื่อทำงานออกตรวจพื้นที่ได้กว้างขวางขึ้นด้วย
ส่วน นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนเข้าชื่อแสดงความประสงค์ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่าบริการสถานพยาบาลเอกชนแล้วกว่า 33,000 รายชื่อ ดังนั้นในวันที่ 12 พ.ค. นี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนมาร่วมแสดงพลัง ยื่นรายชื่อทั้งหมดให้กับ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 12.00 น. รวมทั้งยื่นต่อ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ รศ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สปช.เพื่อผลักดันให้ตั้งกรรมการคุมราคาค่ารักษาพยาบาลอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ 2558 มาตรา 294 (4) ระบุให้พัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อผู้รับบริการ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญระบุเอาไว้อย่างนี้ต่อไปนี้จะมีความไม่เป็นธรรมไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ การมีกรรมการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนที่เกิดข้อสงสัยในค่ารักษาพยาบาล สามารถนำใบเสร็จไปให้คณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ช่วยตรวจสอบว่าสมเหตุผลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขอให้มีสัดส่วนผู้แทนจากภาคประชาชนเข้าไปร่วมอยู่ในคณะกรรมการด้วย รวมถึงอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล และชุดอื่นๆ ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐเพิ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงมาตรฐาน รพ.รัฐให้เทียบเคียงกับ รพ.เอกชนด้วย
"เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใส ตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีใครพูดถึงว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร ไม่พูดถึง มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่แนวทางการหาทางออกร่วมกันที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้" นางปรียนันท์ กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2558
- 413 views