‘ปธ.กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สปช.’ ชื่นชมเครือข่ายผู้ป่วยรวบรวมรายชื่อหนุนคุมค่ารักษา รพ.เอกชน เสนอ 3 มาตรการเบื้องต้น หนุนคุมค่ารักษา รพ.เอกชน กรณีบริการฉุกเฉินไม่มีทางเลือกหรือนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ออกกฎกระทรวง สธ.ให้ รพ.เอกชนยุติเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยฉุกเฉิน ให้ รพ.เอกชนยอมรับอัตราจ่ายของรัฐบาล ยันแม้ไม่ได้กำไรมาก แต่ก็ไม่ขาดทุน รพ.เอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย โดยต้องสำรองเตียงให้ประชาชน 10% กรณีฉุกเฉิน หรือหาเตียงไม่ได้ และระหว่างยังไม่มีกลไกควบคุมค่ารักษา ให้ผู้ป่วยและญาติซื้อยานอก รพ.เอกชนได้
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ใน Facebook ส่วนตัว ระบุถึงกรณีที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ รณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้มีกลไกควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ว่า ต้องขอชื่นชมเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำโดย นางปรียนันนท์ ล้อเสริมวัฒนา ที่ลุกขึ้นรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อสนับสนุนให้มีกลไกกำกับดูแลอัตราค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชน ต่อกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภายในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้นสามารถรวบรวมประชาชนผู้สนับสนุนได้มากถึงจำนวน 30,000 รายชื่อ สะท้อนความรุนแรงของปัญหาและการสนับสนุนของประชาชนในเรื่องนี้ได้ดี แม้แต่ท่านนายกรัฐมนตรีก็ยอมรับเรื่องนี้
น.ส.สารี ระบุต่อว่า ทั้งนี้ ขอเสนอประเด็นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการควบคุมค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนเบื้องต้นสำหรับการใช้บริการในกรณีฉุกเฉินที่ไม่มีทางเลือก 3 ประเด็นสำคัญดังนี้
1. ให้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลให้โรงพยาบาลเอกชนยุติการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยและญาติ ในกรณีฉุกเฉิน และให้โรงพยาบาลเอกชนยอมรับ การจ่ายเงินของ 3 กองทุนเพราะเป็นอัตราที่ได้กำไร (ถึงแม้จะไม่ได้กำไรมากแต่เป็นอัตราที่ไม่ขาดทุน)
2. ให้โรงพยาบาลมีความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ด้วยการสำรองเตียงสำหรับประชาชนร้อยละ 10 ในกรณีฉุกเฉินหรือผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแล้วหาเตียงนอนไม่ได้
3. ให้เครือข่ายผู้ป่วยและสาธารณชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบบริการส่งผู้ป่วยในกรณีอุบัติเหตุและฉุกเฉินว่า ส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านจริงมากน้อยเพียงใด หรือเน้นการส่งผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลเอกชน
ทั้งนี้ ขณะที่ยังไม่มีกลไกกำกับและควบคุมค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ขอให้ผู้ป่วยและญาติสามารถซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนอกโรงพยาบาลเอกชน
- 2 views