กรมสุขภาพจิต เผย วัยแรงงาน โทร 1323 เกือบ 1 ใน 3 เครียดวิตกกังวล แนะ 4ส. 1ม. ส่งเสริมสร้างสุขกับมิตรร่วมงาน
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ประชากรวัยแรงงานทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่า มีประชากรวัยแรงงานที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาจากการทำงานมากกว่า 1,900 ล้านคนทั่วโลก โดยทุกๆ ปี จะมีแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานมากกว่า 160 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ ร้อยละ 8 ของแรงงานทั้งหมดประสบปัญหาความเครียดจากการทำงาน สอดคล้องกับข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่พบว่า ในที่ 2557 มีจำนวนผู้รับบริการทั้งหมด 47,780 คน เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 39,084 คน เพศชาย 17,262 คน เพศหญิง 21,814 คน ปัญหาลำดับแรกที่พบ คือ ปัญหาความเครียดหรือความวิตกกังวล จำนวนประมาณ 12,602 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 32.24 โดยวัยแรงงานช่วงอายุระหว่าง 26-30 ปี ขอรับคำปรึกษาด้านความเครียดหรือวิตกกังวลสูงสุด จำนวน 2,084 คน หรือ ร้อยละ 5.3 ซึ่งหากมองในด้านตัวเลขแล้วอาจจะดูว่ามีจำนวนไม่มากนัก แต่ความเครียดในช่วงวัยดังกล่าวอาจสะท้อนถึงการปรับตัวเข้าสู่วัยแรงงาน นอกจากนั้น ยังพบว่าประชากรวัยแรงงานที่โทรมาขอรับบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 กว่า 9,389 คน หรือ ร้อยละ 24.02 มีปัญหาเป็นโรคทางจิตเวช ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความเครียดในการทำงาน เป็นตัวการสำคัญที่มีผลต่อศักยภาพในการทำงาน คุณภาพชีวิตและคุณภาพการทำงานของแรงงานและอาจส่งผลทำให้มีโรคทางจิตเวชตามมา แรงงานไทยจึงจำเป็นต้องมีทักษะหรือวิธีการจัดการกับความเครียดให้กับตัวเองโดยเร็ว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การจัดการปัญหาความเครียดมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับแนวทางที่เหมาะสมที่เลือกจะนำมาใช้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การได้มีโอกาสบริหารจัดการความสมดุลในร่างกายกับความเครียดอย่างเหมาะสม โดยเรียกวิธีการนี้ว่า 4ส.1ม. ซึ่งประกอบด้วย สมดุล สมาธิ สื่อสาร สัตย์ซื่อ และมีเมตตา เพื่อส่งเสริมสร้างสุขกับมิตรร่วมงาน เน้นการสร้างความสุขในที่ทำงานด้วยตนเอง เป็นแนวทางการทำงานแบบวิถีพุทธที่สามารถปรับใช้กับการทำงานในบริบทของสังคมไทยได้ง่าย และส่งผลให้เกิดการเสริมสร้างความสุขในสังคมต่อไป
สมดุล คือ การค้นหาความหมายในตัวเราเองและแยกแยะได้ว่าเราคือใคร งานที่รับผิดชอบคืออะไร ซึ่งการหาสมดุลต้องมีการกำหนดลำดับความสำคัญว่าสิ่งไหนสำคัญกว่ากันระหว่างตัวเราเองกับงาน โดยจะต้องคำนึงว่าเราควรเห็นคุณค่าในการดูแลตนเองมากกว่าการมุ่งเน้นที่ให้ผู้บังคับบัญชาชื่นชมในผลงาน อีกทั้งต้องมีเป้าหมายและสร้างขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเราเอง มองว่า ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในการทำงานจะเป็นเช่นไร เราสามารถมองเห็นถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น และใช้ความท้าทาย เป็นโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มการรับรู้ในการทำงานของเรา สมาธิ คือ การจดจ่อ มุ่งเน้นในการทำงานตรงหน้า ไม่เสียสมาธิไปกับเรื่องอื่นๆในเวลางาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิตอลในปัจจุบันที่มักจะมีสื่อต่างๆเข้ามาก่อกวนสมาธิในระหว่างการทำงานทำให้เรากังวลใจ และส่งผลให้งานที่ทำออกมาได้ไม่ดีพอ สื่อสาร คือ การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานด้วยข้อมูลที่มีความถูกต้อง มีความจริงใจ คำนึงถึงบริบทแวดล้อม และประเภทของบุคคลที่มีการสื่อสารด้วย ตลอดจนสื่อสารด้วยคำพูดที่สุภาพ ไม่ก้าวร้าว ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอารมณ์โกรธ เครียด ไม่ควรเผชิญหน้ากัน นอกจากนั้น ควรคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละบุคคลมากกว่าข้อจำกัดของเขารวมทั้งรับฟังเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นให้ได้ สัตย์ซื่อ คือ การมีจริยธรรม คุณธรรม ซื่อสัตย์ในการทำงาน ตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้ว่าตนเองมีหน้าที่อะไร ทำงานอะไร และพยายามทำบทบาทหน้าที่นั้นให้ดี แม้ว่าจะเผชิญภาวะวิกฤติในการทำงานอยู่ก็ตาม และ มีเมตตา คือ ตระหนักและเห็นอกเห็นใจต่อความเป็นมนุษย์ทั้งของตัวเราเองและผู้อื่น เพื่อให้เกิดความรักความเมตตา เพราะปัจจุบันการแข่งขันในการทำงานมีสูงขึ้น งานมีความ ท้าทาย ถูกกดดัน มีความขัดแย้ง และมีความเครียด การคำนึงถึงความแตกต่างและความเท่าเทียม จึงสำคัญอย่างมาก ซึ่งความมีเมตตากรุณาสามารถหยิบยื่นไปยังคนอื่นๆ ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำวิจารณ์ของคนอื่นๆ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
- 73 views