ครม.อนุมัติในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ตามที่ สธ.เสนอแล้ว ให้ส่ง คกก.กฤษฎีกาพิจารณา แล้วส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป พร้อมมอบ สธ.จัดตั้งสำนักงานคกก.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้สอดคล้องกับมติ ครม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันนี้ (26 พ.ค.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขไปดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการภายในกรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แล้วแจ้งผลการดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการตรวจพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.
1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535
2. ปรับปรุงนิยามคำว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น มอระกู่ มอระกู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มเติมนิยามคำว่า “สื่อสารการตลาด” ให้ครอบคลุมไปถึงการส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขาย (Point of Sale) การขายโดยการใช้บุคคล (พริตตี้) การสร้างภาพลักษณ์
3. เพิ่มเติมนิยามคำว่า “ฉลาก” ให้ครอบคลุมการแสดงฉลากของผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบและเพื่อให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดตามกรอบอนุสัญญา ว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC)
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติคณะกรรมการอำนวยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร
5. กำหนดให้จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” เพื่อปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการอำนวยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ และเป็นฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
6. กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี
7. เพิ่มข้อกำหนดการห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายในลักษณะจูงใจให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น และห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัด สถานบริการ สาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ เป็นต้น รวมทั้งห้ามผลิต นำเข้า หรือขายสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ
8. กำหนดห้ามการโฆษณาและสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น ห้ามการแสดงชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ การประกวดหรือการแข่งขัน
9. กำหนดห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ดำเนินกิจกรรมในลักษณะให้การอุปถัมภ์ หรือ การสร้างความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม
10. กำหนดห้ามการเผยแพร่กิจกรรมหรือข่าวสารที่เป็นการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ
11. กำหนดห้ามแสดงผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ขายปลีกและห้ามแบ่งขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ
12. กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องจัดส่งรายงานประจำปีให้คณะกรรมการอำนวยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ
13. กำหนดให้การติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐกับผู้ผลิต ผู้ขาย ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นไปเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือในการปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC)
14. กำหนดสภาพและลักษณะของ “เขตปลอดบุหรี่” และ “เขตสูบบุหรี่” ให้มีความชัดเจน รวมทั้งกำหนดให้เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่สาธารณะ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ควบคุมดูแล หรือห้ามปรามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่
15. เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น มีอำนาจในการยึดหรืออายัดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว บันทึกเสียง ออกใบสั่ง เป็นต้น
16. เพิ่มอัตราโทษให้สูงขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น การขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้แก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด จากเดิมโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ จากเดิมมีโทษปรับไม่เกินสองพันบาทเป็นมีโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท เป็นต้น
- 10 views