ข้อเขียนของ นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ซึ่งได้เผยแพร่ใน Facebook ส่วนตัว Pisanu Kantipong เรื่อง พยาบาล...นางฟ้าของผู้ป่วย สำนักข่าว Health Focus เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้
Humannized health care/การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจบนพื้นฐานของความรู้
นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ : "พยาบาล...นางฟ้าของผู้ป่วย"
บทความตอนนี้ผมเขียนขึ้นเพื่อต้องการให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานเป็นทีม การให้เกียรติเพื่อนร่วมงาน และต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานของรุ่นพี่ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาล เพื่อรักษาความดีงามนี้ให้คงอยู่ตลอดไป
การดูแลรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม เมื่อใดที่ทีมงานสามารถทำงานร่วมกันด้วยความรักความสามัคคี ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เมื่อนั้นผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุด บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ต้องเห็นความสำคัญ และให้เกียรติทุกวิชาชีพ โดยเฉพาะแพทย์เรามักถูกเพื่อนร่วมงานเรียกเป็นเทวดา เนื่องจากเรามักทะนงตนถือดีว่าเรียนเก่งมีความรู้มาก เวลาทำอะไรมักไม่เห็นหัวคนอื่น ผมเชื่อว่าปัจจุบันนี้ดีขึ้นมากแล้ว ผมมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มามาก ยังนึกเสียดายที่เพื่อนแพทย์บางคนมีความสามารถมากแต่ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะถือดีว่าตัวเองเก่งที่สุดจึงไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของใคร ผมอยากขอร้องให้เพื่อนแพทย์ได้ลดทิฐิความเป็นแพทย์ลง มองคนอื่นเป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกับเรา ยอมรับฟังความคิดเห็นคนอื่นบ้าง จะทำให้หูตาของเราสว่างขึ้น คนไข้จะได้รับประโยชน์สูงสุด เราก็จะมีเพื่อนมากมายชีวิตจะมีสุขขึ้น ไม่ได้มีชีวิตอยู่แต่ในสังคมแคบๆ ที่มีแต่โรงพยาบาล บ้านและคลินิกเท่านั้น
ในบรรดาเพื่อนร่วมทีมรักษาผู้ป่วย พยาบาลถือว่ามีความสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นผู้ที่อยู่ดูแลผู้ป่วยตลอดเวลา แพทย์เพียงมาตรวจรักษาใช้เวลาอยู่กับผู้ป่วย วันหนึ่งไม่ถึง 10 นาที เมื่อสั่งการรักษาแล้วพยาบาลจะเป็นผู้ดำเนินการต่อเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็ว ที่สำคัญพยาบาลจะเป็นผู้สังเกตอาการผู้ป่วย ทั้งตรวจวัดสัญญาณชีพและอาการที่เปลี่ยนแปลง เพื่อรายงานให้แพทย์ผู้รักษาทราบ นอกจากนั้นต้องคอยช่วยเหลือผู้ป่วย ในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยตัวเองลำบาก เช่น เวลาขับถ่าย บางครั้งต้องช่วยดูดเสมหะซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดตัน ในรายที่เป็นอัมพาตต้องช่วยพลิกตัวตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันแผลกดทับที่อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการติดเชื้อได้
ปัจจุบันแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความก้าวหน้าไปมาก มีการใช้เครื่องวัดสัญญาณชีพอัตโนมัติ การตรวจวัดคลื่นหัวใจอย่างต่อเนื่องหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงจำเป็นต้องมีพยาบาลที่ชำนาญเฉพาะทางช่วยดูแลจึงจะทำให้การรักษาพยาบาลได้ผลดี
ในอดีตอาชีพพยาบาลจะมีแต่ลูกหลานคนที่มีฐานะยากจนเรียน เพราะถือเป็นงานของชนชั้นต่ำที่ต้องไปรับใช้ผู้ป่วย จนกระทั่งมิสฟลอเรนซ์ ไนติงเกล บุตรสาวของเศรษฐีที่เห็นความสำคัญของอาชีพพยาบาลที่ต้องดูแลผู้คนในยามเจ็บป่วย จึงตั้งใจที่จะเรียนพยาบาลตั้งแต่เด็ก แต่พ่อแม่ไม่อนุญาต กว่าจะได้เรียนก็อายุ 30 ปี เป็นผู้บุกเบิกการพยาบาลสมัยใหม่ทำให้การรักษาถูกสุขอนามัย มีการทำให้สิ่งแวดล้อมโดยรอบสถานพยาบาลเป็นเขตสะอาด ลดการติดเชื้อในผู้ป่วย ลดอัตราตายของผู้ป่วยที่บาดเจ็บจากสงคราม อีกทั้งยังสมัครเป็นสตรีอาสาเพื่อดูแลทหารบาดเจ็บในสงครามไครเมีย เป็นผู้แต่งตำราพยาบาล ที่สอนถึงการสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยว่าเป็นหน้าที่สำคัญของพยาบาลที่มีความสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด เพราะถือเป็นความเป็นความตายของผู้ป่วย ตั้งแต่นั้นมาอาชีพพยาบาลจึงได้รับการยอมรับกันมากขึ้น
พยาบาลกับแพทย์ต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของสัญญาณชีพหรืออาการผู้ป่วยแย่ลง จะต้องมีการรายงานให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษา และก็มีเหตุการณ์หลายครั้งที่พยาบาลสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไว้ได้ หลายปีก่อนในช่วงเวรดึก มีหญิงตั้งครรภ์มานอนที่ห้องคลอดด้วยอาการครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง พยาบาลได้รายงานแพทย์เวรรับทราบ และสั่งการรักษาทางโทรศัพท์ มีการให้ฉีดยาเพื่อป้องกันการชัก โดยแพทย์เวรได้สั่งให้ฉีดยากันชักเข้าหลอดเลือดดำและกล้ามเนื้อ โดยบอกชนิดและขนาดความเข้มข้นของยาผิด อาจเป็นด้วยความสับสนหรืองัวเงีย เพราะก่อนหน้านั้นเวรยุ่งมากเพิ่งจะได้เข้าไปนอน เนื่องจากเป็นยาที่มีอันตรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิตได้ พยาบาลจึงได้ทบทวนแนวทางการรักษาโรคครรภ์เป็นพิษรุนแรง พบว่าแพทย์สั่งยาไม่ถูกต้อง จึงได้โทรฯ กลับไปทักท้วง ซึ่งแพทย์ก็ยอมรับและเปลี่ยนการรักษาใหม่ให้ถูกต้อง พร้อมกล่าวขอโทษและขอบคุณพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยทั้งแม่และลูก เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ผมไม่อยากนึกภาพที่ว่า ถ้าพยาบาลเอาแต่ปฏิบัติตามคำสั่ง ฉีดยาในขนาดที่ผิดเข้าไปเป็นเหตุให้ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเสียชีวิต เราก็ต้องเสียใจที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยความผิดพลาดที่น่าจะป้องกันได้
อีกครั้งหนึ่งที่ผมประสบกับตัวเองเมื่อหลายปีก่อน มีผู้ป่วยนอนรักษาตัวอยู่ใน รพ.ด้วยโรคแท้งคุกคาม ผมสั่งให้ฉีดยากันแท้งให้ผู้ป่วย สมัยนั้นต้องเอาใบสั่งยาไปเบิกที่ห้องยา เภสัชกรก็จัดยาให้มาฉีดที่หอผู้ป่วย พอดีพยาบาลประจำหอผู้ป่วยสังเกตว่าได้ยาไม่เหมือนกับที่เคยฉีดจึงแจ้งให้ผมทราบ เมื่อผมมาดูแล้วตกใจอย่างมาก เนื่องจากห้องยาจ่ายยาผิดเป็นยาให้กล้ามเนื้อคลายตัว ซึ่งจะใช้เฉพาะในห้องผ่าตัดขณะสอดท่อช่วยหายใจในการดมยาสลบ เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวและหยุดหายใจได้ (ในสมัยนั้นยังไม่มีขบวนการปลอดภัยทางยา จึงทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย)ผมรีบแจ้งให้ทางเภสัชกรทราบ ยังจำได้ว่ายกโขยงกันมาเกือบหมดห้องยา เพราะผมแกล้งบอกว่าฉีดยาไปแล้วผู้ป่วยหยุดหายใจกำลังช่วยฟื้นคืนชีพอยู่ เมื่อมาถึงจึงรู้ว่ายังไม่ได้ฉีด ผมได้กล่าวขอบคุณพยาบาลที่มีความรอบคอบ เมื่อเห็นว่าเป็นยาที่ไม่เหมือนตัวเดิมที่เคยฉีด จึงเอะใจรายงานแพทย์ทราบก่อน ผู้ป่วยจึงปลอดภัย เภสัชกรก็กล่าวขอบคุณและชื่นชมพยาบาลเป็นอย่างมาก ตั้งแต่นั้นมาจึงเริ่มมีขบวนการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้มีความปลอดภัยทางยามากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามความผิดพลาดยังคงเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ถ้าเราประมาทหรือขาดการทำงานเป็นทีมที่มีการตรวจสอบทุกขั้นตอน พยาบาลเป็นผู้ให้ยากับผู้ป่วยโดยตรงจึงมีความสำคัญและมีความรับผิดชอบเป็นอย่างมาก
พยาบาลมีบทบาทที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย ในชนบทบทบาทด้านส่งเสริมป้องกันก็เป็นหน้าที่ของพยาบาลประจำรพ.สต.หรือ รพ.ชุมชนเช่นกัน รวมทั้งการออกเยี่ยมบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยที่ป่วย หรือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อาชีพพยาบาลจึงเป็นอาชีพที่เสียสละทำงานเพื่อผู้อื่นโดยแท้ ผมคิดว่าครอบครัวใดมีลูกเรียนพยาบาลถือว่าโชคดีที่สุด เพราะในยามเจ็บป่วย การดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดนั้นไม่มีใครจะดูแลได้ดีเท่าพยาบาล ผมรู้ข้อนี้ดีในยามที่คุณพ่อป่วยเราเป็นแพทย์ก็ได้แต่สั่งการรักษาแต่การดูแลคุณพ่อนั้น น้องสาวที่เป็นพยาบาลสามารถดูแลได้ดีกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการให้สารน้ำเข้าเส้นเลือด การฉีดยา การเช็ดตัวทำความสะอาดร่างกาย การป้อนอาหาร การให้ทานยาตามเวลา หรือแม้แต่การปูผ้าปูที่นอนที่เรียบตึงเปรี๊ยะน่านอนที่สุด
ผมสนับสนุนให้ทุกคนที่รักการทำงานบริการเพื่อให้คนอื่นมีความสุขเรียนเป็นแพทย์พยาบาลและวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วย แต่ก็น่าแปลกที่ตัวแพทย์เองนั้นส่วนใหญ่จะมีภรรยาเป็นพยาบาล แต่ก็หายากที่สุดที่จะมีลูกของแพทย์เรียนพยาบาล แสดงว่าต้องเป็นงานที่หนักและเสียสละจริง แพทย์จึงไม่ต้องการให้ลูกเรียนพยาบาล
ผมจึงขอยกย่องชมเชยว่าพยาบาลนั้นเปรียบเสมือน "นางฟ้าของผู้ป่วย" ทุกคน
- 268 views