รายงานชุด : ย้อนรอย 5 ปี กองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะ กองทุนของพลเมืองชั้น 2 ?
ขณะที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากความสำเร็จที่สามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนทุกคนได้อย่างเสมอหน้าภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2545 ซึ่งไม่เพียงทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังทำให้ไทยถูกยกเป็นต้นแบบประเทศกำลังพัฒนาที่ทำเรื่องนี้จนสำเร็จและมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีจากตัวชี้วัดด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสุขภาพของไทยก็มีความแตกต่าง หลากหลาย เหลื่อมล้ำ ซ้อนทับกันอยู่ ไม่เฉพาะแต่ 3 กองทุนสุขภาพใหญ่ๆ อย่าง กองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ที่หลากหลาย ไม่เท่าเทียม และนำไปสู่ข้อเสนอให้สร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าได้สำเร็จนั้น
ยังมีกองทุนประกันสุขภาพขนาดเล็กสำหรับกลุ่มประชากรที่อาจจะถูกเรียกได้ว่าเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศนี้ก็ได้ นั่นคือ “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53” ที่คล้ายเป็นกองทุนรักษาพยาบาลเฉพาะกิจที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลสิทธิการรักษาพยาบาลสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิอยู่ ปัจจุบันดูแลประชากรประมาณ 4.5 แสนคน และขณะนี้อยู่ระหว่างการให้ ครม.ชุดใหญ่อนุมัติเพิ่มกลุ่มคนรอการพิสูจน์สถานะและสิทธิที่ตกค้างอีกกว่า 2 แสนคนให้ได้รับสิทธินี้ หลังจากที่ ครม.เศรษฐกิจอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา
เป้าหมายแท้จริงของกองทุนนี้คือ ระหว่างที่ประชาชนกลุ่มนี้รอพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อให้ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามที่ไทยให้การรับรองไว้กับประชาคมโลก ก็ควรให้พวกเขาได้รับสิทธิรักษาพยาบาลด้วย เมื่อผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ได้สัญชาติไทยแล้ว ก็จะเปลี่ยนไปใช้สิทธิประกันสุขภาพสำหรับคนไทยตามสถานะต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็น สิทธิ 30 บาท
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี ของกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติ ครม. 23 มี.ค.53 นี้ สำนักข่าว Health Focus จึงชวนสำรวจสถานการณ์การให้บริการสุขภาพสำหรับประชาชนกลุ่มนี้ว่าเป็นอย่างไร โรงพยาบาลหลายแห่งที่เคยต้องแบกรับภาระด้วยหลักมนุษยธรรม ในวันนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และจริงหรือไม่ที่ว่า กองทุนคืนสิทธิ์นี้ แม้จะมีสิทธิรักษาพยาบาลก็จริง แต่ด้วยปัจจัยหลายอย่างก็ทำให้สิทธิที่พวกเขาได้เป็นแค่สิทธิของพลเมืองชั้น 2 เท่านั้น รวมทั้งช่วยกันคิดเกี่ยวกับอนาคตของกองทุนนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ควรจะเป็นของระบบสุขภาพไทย โดยจัดทำเป็น รายงานชุด : ย้อนรอย 5 ปี กองทุนคืนสิทธิคนไร้สถานะ กองทุนของพลเมืองชั้น 2 ?
ตอนที่ 1 ‘วิวัฒน์ ตามี่’ แม้มีสิทธิรักษา แต่เป็นได้แค่พลเมืองชั้น 2 ในแผ่นดินเกิด
ตอนที่ 2 ‘ผอ.รพ.ทองผาภูมิ’ ชี้ 5 ปีกองทุนคืนสิทธิฯ ลดภาระ รพ. แต่เบิกจ่ายยุ่งยาก สิทธิไม่เท่าเทียมบัตรทอง
ตอนที่ 3 ผอ.รพ.ปายชี้ กองทุนคืนสิทธิอุดช่องโหว่งบรายหัวไม่พอรายจ่าย
ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 4 (จบ) สธ.พร้อมให้บริการคนไร้รัฐเพิ่มอีก 2 แสนคนใน 1 เดือน ยันสิทธิเท่าเทียม
‘นพ.อำนวย’ เผย สธ.พร้อมให้บริการคนไร้รัฐที่ครม.เพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลอีก 2 แสนราย คาดให้บริการได้ใน 1 เดือนหลังได้รับงบประมาณ ยันคำนึงถึงสุขภาพของกลุ่มคนไร้รัฐเช่นเดียวกับคนที่มีสัญชาติไทย และพยายามพัฒนาระบบให้ดีขึ้นไปอีก ทั้งข้อเสนอขึ้นทะเบียนข้ามเขตก็อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ยังมีปัญหากลุ่มเป้าหมายบางส่วนติดขัดกฎระเบียบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น เรื่องการเดินทางข้ามเขต จึงต้องยึดตามหลักเกณฑ์ที่มีในขณะนี้ไปก่อน
นพ.อำนวย กาจีนะ
นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพิ่มคนไร้รัฐในกองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือ กองทุนคืนสิทธิอีก 206,748 คน ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ขั้นตอนต่อไปได้มีการเรียกประชุมฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนของโรงพยาบาลในพื้นที่จะต้องไปประชาสัมพันธ์หรือตามหาตัวผู้ได้รับสิทธิ เพื่อชี้แจงให้รับทราบและมาขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลทราบจำนวนผู้ใช้สิทธิและวางแผนงบประมาณที่ชัดเจน ขณะที่กลุ่มเป้าหมายเองก็จะได้รู้สิทธิของตน
ขณะเดียวกัน ในส่วนของงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติมาประมาณ 400 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อให้เบิกจ่ายเงินลงไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่ คาดว่าเมื่อได้รับการจัดสรรเงินมาแล้ว ทางหน่วยบริการก็พร้อมที่จะให้บริการได้ภายใน 1 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเพิ่มสิทธิแก่คนไร้รัฐอีก 206,748 คน แต่ยังมีกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วและให้สิทธิจำนวน 76,540 คน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ และยังต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะที่ชัดเจนต่อไป
นพ.อำนวย กล่าวว่า ได้มีการวิเคราะห์ผลการดำเนินการของกองทุนคืนสิทธิในช่วงที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้ค่อนข้างดี ที่ผ่านมามีการให้สิทธิไปแล้ว 4 แสนกว่ารายด้วยงบประมาณ 900 ล้านบาท แต่เมื่อมีกลุ่มที่ยังตกค้างไม่ได้รับสิทธิมาใช้บริการ ก็ทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีกลุ่มคนไร้รัฐตกค้างไม่ได้สิทธิจำนวนมาก เช่น ใน จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงราย เป็นต้น ดังนั้นการเพิ่มสิทธิอีก 2 แสนราย และได้งบประมาณเพิ่มอีก 400 ล้านบาท ก็ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องรับภาระในส่วนนี้อีก
“เราคำนึงถึงสุขภาพของกลุ่มคนไร้รัฐเช่นเดียวกับคนที่มีสัญชาติไทย และพยายามพัฒนาระบบให้ดีขึ้นไปอีก บางเรื่องเช่นการเสนอให้ขึ้นทะเบียนข้ามเขตก็กำลังพิจารณากันอยู่ แต่กลุ่มเป้าหมายบางส่วนก็ยังติดขัดกฎระเบียบของหน่วยงานอื่นๆ เช่น เรื่องการเดินทางข้ามเขต ดังนั้นก็ต้องว่ากันไปตามหลักเกณฑ์ที่มีในขณะนี้ไปก่อน” นพ.อำนวย กล่าว
- 3 views