อปสข.เขต 4 สระบุรีผ่านงบส่งเสริมป้องกันโรคกว่า 5 ล้านบาทเพื่อเสริมบริการสุขภาพที่จำเป็นในพื้นที่ ลดการเกิดโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น เบาหวาน ความดัน มะเร็งปากมดลูก เพิ่มการเข้าถึงบริการ เช่น บริการทันตกรรมในเด็ก ผู้สูงอายุ แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโด ชุมชนแออัด โรงเรียน สถานประกอบการให้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม
นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา
คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 4 สระบุรี มีมติเห็นชอบพิจารณางบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคบริการระดับพื้นที่ P&P area health service ในส่วนการดําเนินการขององค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดําเนินการแสวงหาผลกําไร ในการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 4 สระบุรี (อปสข.) ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ณ ห้องประชุมโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา ในการประชุมดังกล่าวมีอนุกรรมการเข้าร่วมประชุมครบองค์ประชุม โดยมี นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธาน อปสข. ดำเนินการประชุม และ นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี ในฐานะรองประธาน อปสข. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมตามระเบียบวาระการประชุม มีวาระเพื่อพิจารณาที่สำคัญ ประกอบด้วย การบริหารงบกองทุนแพทย์แผนไทยระดับเขต ปีงบประมาณ 2558 การพิจารณาค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน(งบค่าเสื่อม) และการพิจารณาวงเงินงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในส่วนของ PPA 1.25 บาท และ PPD 0.75 บาท เป็นต้น
นพ.ชูวิทย์ กล่าวว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) เป็นสิทธิประโยชน์ที่จัดให้กับประชาชนไทยทุกสิทธิ เป็นบริการสาธารณสุขที่ให้โดยตรงกับบุคคลและครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์เชิงผลลัพธ์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามสิทธิประโยชน์ของแต่ละกลุ่มวัยและเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ อัตราป่วยและอัตราตายที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก บรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครอบคลุมบริบทที่สำคัญ โดยเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
โดยมติที่ประชุม อปสข.ครั้งที่ 3/2558 ผ่านงบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในวงเงิน 5,646,895.00 บาท ประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่ งบ PPA วงเงิน 3,306,873.50 บาท สำหรับแก้ไขปัญหาและเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น เช่น โรคที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ อาทิ การบริการฝากครรภ์ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์, ทันตกรรมส่งเสริมป้องกัน สนับสนุนการจัดบริการเชิงรุก ในกลุ่มเป้าหมายพิเศษ กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการ ในชุมชน โรงเรียน สถานประกอบการ เพื่อจัดบริการเสริมเพิ่มเติมและเป็นการจูงใจเพื่อเพิ่มความครอบคลุมและคุณภาพบริการด้านสุขภาพ ส่วนที่ 2 งบ PPD วงเงิน 2,340,021.50 บาท สำหรับกำกับ ติดตาม ประเมินผลตามแนวทาง ส่งเสริมและสนับสนุนระบบบริการ ซึ่งสนับสนุนให้แก่หน่วยบริการ สถานบริการ องค์กร ภาคประชาชน ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ตลอดจนการพัฒนากลไก พัฒนาระบบบริการ และนวัตกรรมบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกนโรคที่จำเป็นในพื้นที่
นอกจากนี้ยังได้มีมติเห็นชอบผ่านงบกองทุนแพทย์แผนไทยระดับเขต ปีงบประมาณ 2558 ตามข้อพิจารณาจากคณะกรรมการแพทย์แผนไทยระดับเขต โดยพิจารณาอัตราจ่ายเบื้องต้น ดังนี้ 1.หน่วยบริการประจำ/รพ.ภาครัฐ ภาคเอกชน (รพศ. รพท. รพช.) ที่มีแพทย์แผนไทยประจำ 120,000 บาทต่อแห่งต่อปี 2.หน่วยบริการประจำ(รพศ. รพท. รพช.) ที่ไม่มีแพทย์แผนไทยประจำ จ่ายไม่เกิน 40,000 บาท ต่อแห่งต่อปี 3.หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.สต ที่มีแพทย์แผนไทยประจำ จ่ายไม่เกิน 90,000 บาทต่อแห่งต่อปี 4.หน่วยบริการปฐมภูมิ รพ.สต ที่ไม่มีแพทย์แผนไทย จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อแห่งต่อปี 5.รพ.แพทย์แผนไทยในระบบของกรมพัฒนาแพทย์แผนไทย 21 แห่ง จ่ายไม่เกิน 180,000 บาทต่อแห่งต่อปี และ 6.จ่ายตามผลงานนวด อบ ประคบ ฟื้นฟูสุขภาพแม่หลังคลอด จ่ายยาสมุนไพร ตามที่คณะทำงานกำหนด เพื่อให้ประชาชนสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับบริการแพทย์แผนไทยตามชุดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
- 4 views