เผย ปิยมหาราชการุณย์ให้บริการได้ 40% เหตุขาดแคลนพยาบาล ด้านอุปนายกสภาการพยาบาลแจง แรงจูงใจไม่พอ งานหนัก สวัสดิการต่ำ แม้แต่ฉีดวัคซีนป้องกันยังต้องลางานไปฉีดเอง เหลื่อมล้ำวิชาชีพ ค่าตอบแทนต่ำกว่าแพทย์ 28 เท่า ทำให้พยาบาลลาออกจากระบบมากขึ้น เผยมีพยาบาลในระบบ 1.3 แสนคน แต่ความต้องการพยาบาลปี 58 อยู่ที่ 1.6 แสนคน คาดปี 62 อัตราขาดแคลนพยาบาลเพิ่มเป็น 5 หมื่นคน ขณะที่สามารถผลิตพยาบาลเข้าสู่ระบบปีละ 1 หมื่นคน เข้าสู่ระบบ 80% และค่อยๆ ลาออกในช่วง 5 ปีแรก
"ตึกใหม่ปิยมหาราชการุณย์ของเราให้บริการได้เพียง 40 % เหตุผลสำคัญคือขาดแคลนพยาบาล เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากที่เปิดทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ดึงพยาบาลในระบบไปจำนวนไม่น้อย"
คำบอกเล่าจาก ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ข้างต้น สะท้อนภาพปัญหาการขาดแคลนพยาบาลในระบบสุขภาพของไทยได้เป็นอย่างดี เพราะขนาดโรงพยาบาลชั้นยอดของประเทศยังเจอปัญหานี้ โรงพยาบาลอื่นๆยิ่งแทบไม่ต้องพูดถึง
การมีพยาบาลไม่เพียงพอกับความต้องการในระบบสุขภาพ เป็นปัญหาเรื้อรังที่นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทบต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับประชาชนผู้ใช้บริการนั่นเอง
ดร.กฤษดา แสวงดี
ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวถึงภาพรวมวิชาชีพพยาบาลในขณะนี้ว่า ด้วยสภาพการทำงานที่หนัก ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ ทำให้มีพยาบาลใหม่ๆ เข้าสู่ระบบน้อยลง ขณะเดียวกันบุคคลากรที่มีอยู่ ก็มีอายุมากขึ้นและทยอยเกษียณทุกปีๆ หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 10 ปี ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาขาดแคลนพยาบาลอย่างรุนแรง
อุปนายกสภาการพยาบาล ฉายภาพให้เห็นว่าที่มาของปัญหานี้ มีหลายปัจจัยเชื่อมร้อยเป็นลูกโซ่ นับจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่คุมเข้มอัตราการบรรจุพยาบาลใหม่ ขณะเดียวกัน ก็มีการขยายบริการสุขภาพมากขึ้น มีการเปิดโรงพยาบาลใหม่ๆ ทั้งในภาครัฐ และแนวโน้มคนไทยป่วยเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น มีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยที่มีความซับซ้อน ใช้เวลาในการรักษานานกว่าโรคติดเชื้อต่างๆ ทำให้ต้องใช้แพทย์และพยาบาลเฉพาะทางมากขึ้น และทำให้คนที่เหลือในระบบต้องอยู่ในสภาพที่ทำงานหนักขึ้น
ดร.กฤษดา ยกตัวอย่างว่า โดยปกติพยาบาลต้องดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมง แบ่งเป็น 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง เมื่อคนไม่พอก็ต้องทำโอทีเพิ่ม แทนที่จะทำงาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น ก็กลายเป็นเลิกงาน 4 ทุ่ม ขณะเดียวกัน มาตรฐานการปฏิบัติงานที่ดี พยาบาล 1 คน ควรดูแลคนไข้ 4 คน แต่เมื่อขาดคนทำงาน ก็กลายเป็นต้องดูแลผู้ป่วยในอัตรา 1 ต่อ 8 หรือโรงพยาบาลบางแห่งสูงถึง 1ต่อ 10 สิ่งที่ตามมาคือทำงานไม่ทัน
“มันก็เหนื่อย หมดสมรรถภาพในการทำงาน แล้วมันจะจูงใจให้เป็นพยาบาลได้อย่างไร”กฤษดา กล่าว
นอกจากงานหนักแล้ว สภาพการทำงานก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคสูง แต่กลับไม่มีสวัสดิการดูแล แม้แต่วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ที่ควรฉีดให้พยาบาลก่อนเริ่มทำงานก็ไม่มีให้ หากใครอยากได้วัคซีนต้องลางานไปฉีดเอง
ขณะเดียวกัน ค่าตอบแทนของพยาบาลเมื่อเทียบรายได้ต่อชั่วโมงแล้วก็ยังถือว่าน้อย รวมทั้งเกิดความเหลื่อมล้ำกับวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์และพยาบาล หากเป็นพื้นที่ทุรกันดาร คนเป็นแพทย์จะได้รับค่าตอบแทนมากกว่าพยาบาล 28 เท่า ดังนั้นควรมีการปรับอัตราค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกว่านี้
“ที่ว่ากันว่าพยาบาลจบใหม่ได้เงินเดือน 4 หมื่นบาท จริงๆ แล้วหมายถึงรายได้รวมทั้งหมด และต้องทำโอที ทำงานแทบไม่มีวันหยุดจึงจะได้รายได้เท่านี้ ซึ่งเทียบรายได้ต่อชั่วโมงแล้วก็ยังถือว่าน้อย หากไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนจะมีรายได้มากกว่านี้อีก 40%”
เมื่อต้องเจอกับสภาพการทำงานที่หนัก ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่จูงใจ โดนแช่แข็งอัตราจาก ก.พ. และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่คนมีทางเลือกมากขึ้น ก็ทำให้พยาบาลจบใหม่เข้าสู่ระบบน้อยลง และคนที่มีอยู่แล้วก็รักษาให้อยู่ในระบบไม่ได้
อุปนายกสภาการพยาบาล ให้ตัวเลขว่า ปัจจุบันมีพยาบาลที่มีใบอนุญาตอยู่ 1.8 แสนคน แต่อยู่ในระบบประมาณ 1.3 แสนคน ขณะที่ความต้องการพยาบาลปี 2558 ต้องการ 1.6 แสนคน ยังขาดอยู่ 3 หมื่นคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 อัตราการขาดแคลนพยาบาลจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5 หมื่นคน ขณะที่สถานศึกษาที่ผลิตพยาบาลเข้าสู่ระบบ สามารถผลิตได้ปีละ 1 หมื่นคน ในจำนวนนี้ เข้าสู่ระบบประมาณ 80% และค่อยๆ ลาออกในช่วง 5 ปีแรก จนสุดท้ายเหลือในระบบเพียงครึ่งเดียว
“ถามว่าเรียนจบแล้วไม่เป็นพยาบาล แล้วไปทำอะไร ต้องเข้าใจว่าเศรษฐกิจสังคมปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น เมื่อเป็นพยาบาลแล้วเจองานหนัก ค่าตอบแทนไม่จูงใจ เขาก็ลาออกไปทำอาชีพอื่น ส่วนใหญ่ก็ไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตส เพราะค่าตอบแทนมากกว่าเป็นพยาบาล 10 เท่า ยิ่งเปิดสายการบินใหม่ๆ มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งขาดแคลนพยาบาลมากเท่านั้น นอกจากนี้แล้วก็มีงานในบริษัทประกัน ซึ่งต้องการคนที่มีความรู้ด้านการแพทย์ไปทำงานด้วย เป็นงานในออฟฟิศ สบายกว่าเป็นพยาบาล ที่เหลือก็ไปประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น เปิดสปา เป็นต้น”อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าว
ทั้งนี้ หากดูอายุเฉลี่ยของพยาบาลในปัจจุบัน ตัวเลขจะอยู่ที่ 45.7 ปี ถือว่าสูงอายุ อีกสิบกว่าปีก็จะเกษียณ และทุกวันนี้ก็มีพยาบาลเกษียณปีละประมาณ 1 หมื่นคน ดังนั้นหากยังไม่สามารถผลิตบุคลากรเพิ่ม และปรับระบบให้จูงใจในการทำอาชีพนี้ อีก 10 ปี ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติขาดแคลนพยาบาลอย่างรุนแรง
“ถ้ารัฐตั้งเป้าดูแลสุขภาพของประชาชน แต่ทำไมปล่อยให้เราอยู่กันแบบนี้ พอบอกว่าคนไม่พอ ต้องเติมคนเข้ามา ก็ติดขัดระเบียบ ก.พ. ซึ่งฟรีสอัตราบรรจุข้าราชการโดยไม่ได้ดูถึงความจำเป็นของภาระงาน แล้วรัฐก็บอกว่าเป็นภาระงบประมาณ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีเงินจ้าง อ้าว แล้วไหนว่าจะจัดบริการสุขภาพที่มีคุณภาพแก่ประชาชนไง แล้วแบบนี้จะทำให้มีคุณภาพได้อย่างไร” อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวทิ้งท้าย
- 352 views