สบส. ร่วมกับ อย.และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ลงพื้นที่ตรวจจับสถานพยาบาลเถื่อน ย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี พบหมอเถื่อนแอบอ้างให้บริการเสริมความงามร้อยไหม, ฉีดโบท็อกซ์, ฟิลเลอร์ พร้อมทั้งจำหน่ายยาเวชภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้ร้องเรียนผ่านเฟซบุ๊คมือปราบสถานพยาบาลเถื่อนของกองกฎหมาย มายังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ตรวจสอบสถานพยาบาลย่านรังสิต กรณีที่ผู้ร้องเรียนเข้ารับบริการเสริมความงามและเกิดอาการแพ้ยาจากสถานพยาบาลดังกล่าว ว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้สนธิกำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เข้าตรวจสอบสถานพยาบาล ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน ถนนเมืองเอก ตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี จากการตรวจสอบสถานที่ดังกล่าวพบว่าเป็นทาวน์เฮาส์ดัดแปลงเปิดบริการเป็นสถานพยาบาล พร้อมแบ่งห้องสำหรับให้บริการเสริมความงามร้อยไหม, ฉีดโบท็อกซ์ และฟิลเลอร์ โดยมีหญิงสาว อายุ 30 ปี เป็นผู้ให้บริการ และเจ้าของสถานที่ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตนเข้าจับกุม พร้อมตรวจยึดยาโบท็อกซ์, ฟิลเลอร์, เมโสแฟต และเครื่องมือแพทย์หลายรายการ เบื้องต้นตรวจพบการกระทำความผิด 5 ข้อหา ดังนี้ 1) ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541มาตรา 16 มีโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2) ดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 24 มีโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3) ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มาตรา 26 มีโทษตามมาตรา 43 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4) จำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ 5) จำหน่ายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งของกลางประเภทยาเวชภัณฑ์จะต้องนำส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบหากพบว่ามีสารต้องห้าม จะดำเนินการตามกฎหมาย ต่อไป
นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพและผู้อำนวยการกองกฎหมาย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำให้ผู้รับบริการโดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษาหรือวัยรุ่นให้พิจารณาศึกษาข้อมูลผลดีและผลกระทบอย่างรอบคอบ หากมีความจำเป็นเลือกรับบริการจากแพทย์ หรือสถานเสริมความงาม ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง และคำนึงถึงเพียงราคาที่ถูกเท่านั้น โดยให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐานและขึ้นทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งสามารถสังเกตได้จากหลักฐานต่างๆ ดังนี้ 1) มีการแสดงใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย 2) ด้านหน้าสถานพยาบาลต้องมีแผ่นป้ายขนาดใหญ่แสดงชื่อสถานพยาบาล ประเภทและลักษณะการให้บริการของสถานพยาบาล รวมทั้งเลขที่ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลซึ่งมีเลขจำนวน 11 หลัก และ 3) ในส่วนของแพทย์ที่ทำการรักษาจะต้องตรงตามป้ายที่แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพหรือผู้ประกอบโรคศิลปะ พร้อมชื่อ-สกุล และเลขที่ใบอนุญาตของแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพ โดยต้องตรวจสอบแพทย์ที่ทำการรักษาว่าตรงกับรูปถ่ายที่แสดงหรือไม่ และให้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากมีข้อสงสัยหรือพบสถานพยาบาลและหมอเถื่อนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่เว็บไซต์สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์(http://www.mrd.go.th/mrdonline2014), Facebook:สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ (สพรศ.), Facebook:มือปราบสถานพยาบาลเถื่อน และสายด่วน สบส. 02-193-7999 ตลอด 24ชั่วโมง
- 42 views