ประเด็นค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนราคาสูงเกินจริง ถูกจุดขึ้นโดยเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เข้ารักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กลับถูกเรียกเก็บเงินในราคาสูงหลักแสนหลักล้าน โดยมีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน และล่ารายชื่อผ่านทาง www.change.org ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 33,000 คนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น
การเคลื่อนไหวในช่วงแรกไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐมากนัก แต่พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ก็เข้ามาแทคแอคชั่นอย่างแข็งขัน
แน่นอนว่าการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลและค่ายา ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย Hfocus จึงได้รวบรวมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ว่ามีเหตุผลในการสนับสนุนหรือคัดค้านอย่างไร
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
สำหรับฝ่ายเรียกร้องให้ควบคุมค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้ความเห็นว่าประเทศไทยไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนโดยตรง มีเพียง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลต้องแจ้งราคาค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น จึงควรให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา อย่างน้อยก็ปรับแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรม ซึ่ง รพ.เอกชนที่ดีก็ควรสนับสนุนเรื่องนี้ไม่ควรต่อต้าน และควรมีหน่วยงานหรือคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบเพื่อดูว่าค่ารักษาสมเหตุสมผลหรือไม่
“เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีใครพูดว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่การหาทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้” ปรียนันท์ กล่าว
เช่นเดียวกับ สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มองว่า การรักษาพยาบาลเป็นสินค้าผูกขาด โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิเลือกเพราะต้องนำส่งยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว จึงไม่มีสิทธิเปรียบเทียบราคาหรือเลือกที่จะไปโรงพยาบาลอื่นแทน ดังนั้นจึงต้องมีกลไกดูแลและควรมีราคากลางควบคุม เพราะเรื่องฉุกเฉินเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจึงต้องไม่หากำไรจนเกินไป
สารี ยังเรียกร้องให้ รพ.เอกชนยอมรับเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะเชื่อว่าเป็นราคาที่เป็นบรรทัดฐานและ รพ.เอกชนยอมรับได้ เพียงแต่อาจกำไรไม่มาก ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สธ. โดยเฉพาะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) น่าจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับปัญหาจากค่ารักษาของ รพ.เอกชนอยู่บ้างว่าเป็นการจัดเก็บที่แพงเกินไป ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวผลักดันกันเอง
ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) มองว่า การควบคุมราคารักษาพยาบาลต้องแยกให้ชัด ปัญหาการเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคายาสูงกว่าท้องตลาดจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ บรรจุเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายาลงไปด้วยเพื่อให้ทราบต้นทุนที่แท้จริง แต่ถูกขัดขวางโดยอ้างว่าเหตุที่ยาแพงเป็นเพราะการลงทุนศึกษาวิจัย แต่ที่จริงมีการศึกษาพบว่าเหตุที่ยามีราคาแพงเป็นเพราะลงทุนส่งเสริมการขายมากกว่า ดังนั้นขอให้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยเน้นในเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายา
นอกจากนี้แล้ว ปัญหาอีกส่วนหนึ่งยังมาจากปลายเหตุ เพราะหากพูดถึงค่ายา เป็นอำนาจของกรมการค้าภายใน เนื่องจากมี พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยาเป็นวัตถุควบคุม แต่ที่ผ่านมา พณ.ไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง ละเลยต่อสิทธิของผู้บริโภค อีกทั้งการกำหนดให้ผู้ผลิตยาต้องแจ้งราคา แต่ก็ไม่เคยมีการตรวจสอบว่าราคาที่แจ้งกับต้นทุนเหมาะสมหรือไม่
ภญ.นิยดา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของมาตรการให้ รพ.เอกชนแจ้งอัตราค่ารักษา ก็จะเกิดช่องโหว่ว่าเรื่องราคามีการกำหนดเป็นความจริงแค่ไหน เพราะต้องพิจารณาเทียบต้นทุน รวมทั้งต้องพิจารณาไปถึงบริษัทยาว่าราคาที่แจ้งจำหน่าย มีการคิดต้นทุนและบวกกำไรมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกโครงสร้างราคายาที่แท้จริงและมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย
ด้าน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกฎหมายและกลไกตรวจสอบควบคุมค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลเอกชนอย่างพอเหมาะ ไม่เกินเลยแบบที่เห็นในปัจจุบัน คนไข้ตกเป็นเหยื่อกับการตรวจรักษาที่เกินความจำเป็นมานาน ตั้งแต่ยา การส่งตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ต่างๆ เพราะนายทุนต้องการหากำไรให้มากที่สุด ขณะที่หมอก็ตกเป็นจำเลย ถูกมองว่าทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ค่าตรวจนั้นไม่ได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการเสริมความสะดวกสบายต่างๆซึ่งโขกราคาเกินต้นทุนไปถึง 3-5 เท่าโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน
ผศ.นพ.ธีระ ให้ความเห็นต่อวาทกรรมที่ว่า รพ.เอกชนเป็นทางเลือกเท่านั้นเพราะไม่ได้งบจากรัฐ แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รพ.เอกชนได้รับการดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐานในการใช้ชีวิตจากรัฐและสังคมไม่มากก็น้อย จึงปฏิเสธไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว และเชื่อว่าหากมีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้น ปฏิกิริยาของ รพ.เอกชนจะออกมาใน 2 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ ตั้งแต่ค่าโทรศัพท์ ค่าชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า ค่าเก็บขยะ ค่าไว-ไฟ ฯลฯ และ 2.ขึ้นค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
อีกคนหนึ่งที่ออกมาตอกย้ำเรื่องค่าบริการแพง คือ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี ซึ่งโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับข้อมูลรายงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราการจ่ายเงินชดเชย การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วม 3 กองทุน ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2555- 30 ก.ย. 2556 โดยเก็บข้อมูลจาก รพ.เอกชน 353 แห่ง คนไข้ กว่า 22,000 ราย พบว่ารายการยาแพงกว่าโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ตั้งแต่ 60-400 เท่า อาทิ ไวตามินบีคอมเพล็กใน รพศ.หลอดละ 1.50 บาท ใน รพ.เอกชนกลายเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก.ใน รพศ.ราคา 6.50 บาท ใน รพ.เอกชนแพงถึง 450 บาท หรือรายการเวชภัณฑ์ก็มีราคาต่างกัน 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะใน รพศ.ชิ้นละ 10 บาท เป็น 440 บาทใน รพ.เอกชน หรือ ไหมเย็บแผลสีดำใน รพศ.ชุดละ 28.5 บาท เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน
นอกจากราคาแพงกว่าแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้การให้บริการเกินจำเป็น โดยในตัวอย่างคนไข้ 80 ราย พบว่า มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด มีการตรวจวินิจฉัยเกินจำเป็น เช่น คนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์และตรวจองค์ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉินแต่มีการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีมุมมองจากฝ่ายที่กังวลต่อการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล โดย นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา มองว่า เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงอาจสามารถตกลงว่าให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ถ้าจะบังคับทุกอย่างนั้น คงไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ รพ.เอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากร ต้องเข้าใจว่าการดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน เป็นไปโดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนภาษีจากรัฐมาสนับสนุนแบบเดียวกับ รพ.รัฐ ซ้ำในการลงทุนยังต้องแบกรับภาระหนี้ ดังนั้นจึงมีต้นทุนที่ต้องรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาล
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีระบบการรักษาฟรีอยู่แล้ว รพ.เอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งประชาชนมีสิทธิ์เลือกว่าจะรับบริการหรือไม่ และ รพ.เอกชนยังช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐให้ไม่ต้องลงทุนเองมาก คนที่มีฐานะสามารถเลือกมารักษา ไม่ต้องไปแย่งสิทธิของคนอื่นใน รพ.รัฐ ดังนั้นการคุมทั้งหมดอาจจะลำบาก
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าค่ารักษาที่สูงนั้น ส่วนใหญ่มาจากค่ายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก โดยเฉพาะค่ายา พบว่า รพ.เอกชนบางแห่งสูงกว่าราคาท้องตลาด 100-200% ในกรณีนี้ยอมรับว่าควรทำให้มีมาตรฐานการคำนวณที่ไม่ค้ากำไรจนเกินควร แต่ต้องให้รพ.เอกชนอยู่ได้ด้วย
“ยอมรับว่าราคายาใน รพ.เอกชนมีราคาแพง เพราะต้องแฝงต้นทุนในการบริการต่างๆ สมมติ ในกรณียาแอสไพริน แม้ต้นทุนจะอยู่เม็ดละ 10 สตางค์ เมื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 10 เม็ด ก็ไม่สามารถคิดราคา 1 บาทได้ เพราะมีต้นทุนตั้งแต่ค่าซองยา ค่าเภสัชกรที่ต้องคิดรวม แต่ในกรณีที่มีการคิดค่ายาถึงเม็ดละ 200-500 บาท ยอมรับว่าเป็นราคาที่เกินไป”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
“ส่วนค่าหัตการต่างๆ อาจจะคุมลำบาก เพราะแต่ละคน แต่ละโรค ดูแลไม่เหมือนกัน คนเราไอเหมือนกัน แต่เป็นคนละโรค การผ่าตัดโรคเดียวกัน แต่ใช้เครื่องมือแตกต่างกัน หรือห้องพักมีหลายระดับ จะบังคับให้คิดอัตราเดียวกันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก โดยหลักเกณฑ์แล้ว โรงพยาบาลจะต้องแจ้งราคาค่ารักษาให้กับประชาชนทราบก่อนการรักษา และแพทย์ต้องอธิบายให้คนไข้ทราบเรื่องค่ารักษา สอบถามความสมัครใจก่อน ส่วนตัวเห็นว่าที่เป็นปัญหาจริงๆ คือราคายาที่แพงมาก จึงเห็นด้วยในการทำเกณฑ์ควบคุมราคายา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ รพ.เอกชนเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยว่า หากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายตามราคาต้นทุนของ รพ.เอกชนก็ไม่เป็นปัญหา แต่ที่ผ่านมาเป็นการจ่ายในราคาเดียวกับ รพ.รัฐ ซึ่ง รพ.เอกชนคงรับไม่ได้เพราะถูกคิดราคาจ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุนอยู่มาก เรื่องนี้คงต้องพูดคุยให้ได้ราคาจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินที่เหมาะสม ไม่เป็นการบีบ รพ.เอกชนจนเกินไป ส่วนที่เรียกร้องให้ รพ.เอกชน CSR ทำกุศลมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม ถามว่าหากให้ รพ.เอกชนดำเนินการ รัฐบาลจะยกเว้นภาษีได้บ้างหรือไม่
“การควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ต้องเป็นการควบคุมที่เหมาะสมตามต้นทุน เพราะไม่เช่นนั้น รพ.เอกชนก็จะอยู่ไม่ได้ เจ๊งต้องปิดกิจการหมด”นพ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ผู้ประสานงานคลินิกชุมชนอบอุ่น เขตกรุงเทพมหานคร มองว่า การดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน นอกจากเรื่องต้นทุนแล้วยังต้องผูกกับเรื่องกำไรขาดทุนและตลาด อีกทั้งธุรกิจโรงพยาบาลยังต่างกับธุรกิจอื่น เพราะเมื่อผู้ป่วยเดินเข้ารับบริการรักษาโรค ไม่ใช่ว่าคนไข้จะเป็นผู้สั่ง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ต้องรักษาตามความเหมาะสมกับภาวะโรค
ปัญหาคือเมื่อมีการแทรกแซงควบคุมราคาค่ารักษา จะส่งผลให้ รพ.เอกชน ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาตามมาเพื่อไม่ให้เกินราคาที่กำหนด ส่วนแพทย์เองก็อาจไม่สั่งตรวจวินิจฉัยภาวะอาการที่สงสัยเพิ่มเติมเพื่อควบคุมค่ารักษา
“อย่างกรณีคนไข้ปวดท้อง ในหลักการแพทย์ต้องแยกอาการปวดที่เกิดจากโรคกระเพาะอาหารและโรคนิ่ว และหากผู้ป่วยปวดท้องขวาบนต้องทำอัลตร้าซาวด์ แต่ต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่ม 3,500 บาท แต่เมื่อควบคุมค่ารักษาไม่ให้สูงเกินไป ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาโรคตรงนี้ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ป่วยเอง จึงควรปล่อยให้การรักษาเป็นไปตามหลักวิชาการแพทย์โดยเสรี” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ หากจะดูว่าค่ารักษาแพงไปหรือไม่ ควรเปรียบเทียบกับ รพ.ภาครัฐที่ออกนอกระบบและบริหารแบบเอกชน เช่น รพ.บ้านแพ้ว และ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ว่าราคาบริการต่างกันหรือไม่ ส่วนการกำหนดราคากลางค่ารักษามีได้ แต่ไม่ควรบังคับหรือควบคุม แต่ควรปล่อยให้เป็นทางเลือกของประชาชน บางคนเลือกที่จะจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวก นัดพบแพทย์ได้เลยและไม่ต้องรอคอย ดังนั้นแทนที่รัฐจะทำเรื่องนี้ ควรหันเพิ่มประสิทธิภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า
ในฝั่งของผู้บริหารรพ.เอกชน อย่าง ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รพ.วิภาวดี จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความเห็นว่า ประชาชนและหน่วยงานหลายแห่งยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจของโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าบำรุงรักษา และค่าบุคลากรค่อนข้างสูง ซึ่งกำไรส่วนใหญ่จะมาจากค่ายา ค่าห้อง และค่าแล็บ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก และโรงพยาบาลพยายามควบคุมกำไรในส่วนนี้ให้ไม่เกิน 10%
ขณะที่ นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม กล่าวว่า เรื่องการแจ้งอัตราค่าบริการนั้นเป็นกฎหมายที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างการตั้งจุดสอบถามค่าบริการจัดทำแล้วเช่นกัน ส่วนจะให้แจ้งค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากค่ายาต่างๆ นั้น อาจแจ้งอัตราได้ไม่ละเอียดมากนัก เพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกัน และต้นทุนแต่ละแห่งก็จะต่างกันอีก
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์
ปิดท้ายที่ความเห็นของ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า รพ.เอกชนมีหลายระดับทำให้ค่ารักษาและค่ายาแตกต่างกัน ที่สำคัญจะเอาไปเปรียบเทียบกับ รพ.รัฐไม่ได้ เพราะเอกชนลงทุนเองทั้งหมด ส่วน รพ.รัฐ เงินเดือนบุคลากร 60% ก็เอามาจากภาษีประชาชน นอกจากนี้ ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชนในประเทศไทยยังถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 25-35% และอย่าลืมว่า รพ.เอกชนเป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะไปรับบริการหรือไม่
ส่วนกรณีที่จะตั้งราคายาโดยให้บวกกำไรเพิ่มได้ไม่เกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดนั้น นพ.เฉลิมมองว่าโรงพยาบาลมีการประกอบโรคศิลปะ ไม่ใช่ร้านขายยา การจ่ายยามีความเสี่ยง ดังนั้นต้องมีมาตรการกำกับควบคุมเฝ้าระวังการแพ้ยาอย่างเข้มงวด ตรงนี้ถือเป็นต้นทุนที่มีผลต่อราคายาทั้งสิ้นไม่ใช่แค่เอาราคากลางมาขีดเส้นกำหนด
ขณะเดียวกัน ในส่วนของโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็ต้องออกระเบียบวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนว่าฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตหมายถึงอะไร เพราะหมอกับผู้ป่วยเข้าใจไม่ตรงกัน ที่สำคัญต้องพัฒนาระบบรองรับการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปรักษาตามสิทธิด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องเตียงเต็มตลอด
ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา “เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม การท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้"
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ “เปรียบเทียบกับ รพ.รัฐไม่ได้ เอกชนลงทุนเองทั้งหมด ส่วน รพ.รัฐ เงินเดือน 60% ก็เอามาจากภาษีประชาชน ปัจจุบันค่ารักษา รพ.เอกชนในไทยยังถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 25-35% และอย่าลืมว่า รพ.เอกชนเป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะไปหรือไม่่"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “30 บาท หรือ 0 บาทนี่ ทุกคนมีสิทธิหมด จะเสียสละไหม ไม่ใช้ได้ไหม เพื่อจะเอาเงินตรงนี้ตัดยอดออกไป แล้วไปให้กับคนจนจริงๆ ที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ไม่ต้องเสียภาษี...ถ้าท่านเสียสละแบบนี้ ผมว่าเป็นกุศลนะ ผมเองก็พร้อมจะสละนะ”
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล "ยังมีความคิดตื้นเขินอย่างที่สุด ไม่เข้าใจหลักการการประกันสิทธิพื้นฐานสุขภาพให้กับประชาชน มองเห็นคนไม่เท่ากัน ต้องการลดทอนสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนให้เหลือเพียงการสังคมสงเคราะห์อนาถาเท่านั้น"
นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน “มาตรการดังกล่าว คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเป็นหลัก ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับอันตรายหากรถพยาบาลวิ่งช้า เนื่องจากอุปกรณ์กู้ชีพภายในรถพยาบาลมีเพียงพอ สามารถดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วยได้เต็มที่”
นพ.อัจฉริยะ แพงมา “ควรพิจารณา response time เป็นสำคัญ และการใช้ความเร็วรถ ก็ต้องพิจารณาตามระดับความหนักเบาของอาการ ไม่ใช่กำหนดไว้ที่ 80 กม./ชม. ทั้งหมด ทำให้ response time ที่จะไปถึงตัวผู้ป่วยก็ช้าตามไปด้วย”
- 140 views