นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : ปัจจุบัน "แรงงาน" มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้รุดเจริญก้าวหน้า ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ดูแล สนับสนุน แรงงานในทุกๆ ด้าน จึงไม่เพียงมีแค่การพัฒนา "คุณภาพฝีมือ" เท่านั้น แต่ยังต้องดูแล "คุณภาพชีวิต" ด้วย

"สวัสดิการและสิทธิประโยชน์"  ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องจัดสรร ดูแลให้เพียงพอต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน  ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมต่อคุณภาพฝีมือตามมา โดยการดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์นั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยในการบริหารจัดการ "เงินสมทบ" ให้กลับมาดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับผู้ประกันตนให้ดีที่สุด

นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการ สปส. กล่าวถึงการดำเนินการของสำนักงานประกันสังคมว่า ผลการดำเนินการที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคม ได้แก้ไขกฎหมาย กฎกระทรวง 2 ฉบับ คือ กฎกระทรวงกองทุนเงินทดแทน ที่เกี่ยวกับเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาล ที่นายจ้างต้องจ่ายให้ผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบของกองทุนเงินทดแทน และกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการอัตราฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน

เธอบอกว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบกองทุนเงินทดแทนที่ประสบอันตราย อันเนื่องจากมาจากการทำงานให้กับซึ่งมีผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบนี้ประมาณ 9 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ยังได้แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยกฎหมายดังกล่าวใช้เวลานานถึง 16 ปี กว่าที่จะผลักดันได้ ขณะนี้ กฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 แล้ว และอยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

หลังจากที่กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สำนักงานประกันสังคม จะต้องดำเนินการออกกฎหมายลูกประมาณ 17 ฉบับ และ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน  ทั้งนี้เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดประกันสังคมได้อนุมัติให้ตั้งคณะอนุกรรมการ กลั่นกรองเพื่อที่จะออกกฎหมายลูก 2 คณะ เพื่อที่จะให้การดำเนินการการออกกฎหมายทันต่อเวลา

โดยกฎหมายนี้มีการแก้ไขทั้งหมด  45 มาตรา และมีสาระสำคัญที่เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ขยายการคุ้มครอง ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงานอย่างมีธรรมาภิบาล การบริหารเรื่องการลงทุน และเงินสมทบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกันตนที่อยู่ในระบบประกันสังคม ประมาณ 12 ล้านคน

"การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถือว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้ เพราะว่าเป็นความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายและเป็นมิติหนึ่งของการปฏิรูปประกันสังคม อีกทั้งยังตอบสนองกับนโยบายของรัฐบาล"

ต่อไปจะต้องเป็นการออกกฎหมายลูก กำหนดวิธีการ คุณสมบัติ รวมทั้งลักษณะต้องห้ามของกรรมการประกันสังคมที่จะได้มา กรรมการฯ ที่มาจากนายจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา อีกทั้งเมื่อเข้ามาเป็นกรรมการฯ ต้องแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งมีการผลักดันให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ เพื่อกำกับดูแลมาตรฐานการทำงานที่มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส รวมทั้งที่ปรึกษาในคณะกรรมการประกันสังคม ต้องมาออกระเบียบวิธีการสรรหา และคณะกรรมการการแพทย์

"เดิมทีเราไม่เคยกำหนดคุณสมบัติ  ต่อจากนี้คนที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการการแพทย์ สามารถให้ผู้ประกันตนเข้ามาเป็นคณะกรรมการฯได้ด้วย"

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจราชการกรม สปส. ในฐานะโฆษก สปส. กล่าวเสริมว่า จากการสำรวจความพึงพอใจและลงไปรับฟังความคิดเห็นประชาชน ส่วนใหญ่ ผู้ประกันตนมีความพึงพอใจ แต่ก็มีบางสิ่งที่กังวล คือ การบริการทางด้านการแพทย์  ซึ่งความคาดหวังของผู้ประกันตนมีมากกว่าที่สำนักงานประกันสังคมจะให้บริการได้ เช่น การซ่อมแซมอาคารที่ให้บริการทางแพทย์ที่มีสภาพทรุดโทรม หรือคุณภาพยาที่จ่ายให้

ขณะเดียวกัน เรื่องการเข้าถึงประกันสังคมของผู้ประกันตน มีผู้ประกันตนบางส่วนยังไม่เข้าใจและรับรู้ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ แต่จะรู้เรื่องก็ต่อเมื่อตัวเองเกิดสิทธิขึ้นมาแล้วก็จะมีปัญหา เช่น กรณีคลอดบุตรยังมีการอุทธรณ์เรื่องการเบิกค่าคลอดบุตร ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านประชาสัมพันธ์ยังมีอยู่

เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็อยากให้ประชาชนมีส่วนรับรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของประกันสังคม เช่น ผลการดำเนินงานด้านการลงทุนรายไตรมาสและสรุปผลการลงทุนสิ้นปี สรุปผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานประกันสังคม งบบริหารสำนักงานประกันสังคมประจำปี คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการที่สำคัญ แผนจัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายที่แก้ไข เป็นต้น

ส่วนกรณีคณะกรรมการประกันสังคมใหม่ เขาบอกว่า จะทำให้มีความโปร่งใสขึ้น โดยได้นิยามใหม่ว่า "คณะกรรมการประกันสังคมมาจากนายจ้างและผู้ประกันตนทั้งหมด" ซึ่งต้องไม่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งให้มีการเลือกตั้งจากผู้ประกันตน ซึ่งคณะทำงานจะมาดูอีกทีว่า จะให้เลือกตั้งอย่างไรให้มีปัญหาอุปสรรคน้อยที่สุดประหยัดค่าใช้จ่ายและเป็นธรรม

อีกทั้งยังให้มีคณะกรรมการตรวจสอบที่เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการประกันสังคม เพื่อกำกับดูแลความโปร่งใส อาทิ  การใช้จ่ายเงิน การดำเนินงาน การลงทุน ให้ได้มาตรฐาน "ถือว่าเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของสำนักงานประกันสังคม"

นายโกวิท ยังกล่าวถึงการจ่ายเงินบำนาญชราภาพว่า ปัจจุบันเงินออมของผู้ประกันตน มีจำนวน 1 ล้านล้านบาท  แต่สำนักงานประกันสังคมก็ต้องเตรียมแผนรองรับอนาคตข้างหน้าในเรื่องบำนาญ สิ่งที่เราจะต้องเตรียมในเรื่องการคำนวณจ่ายบำนาญชราภาพ เพราะบำนาญจะต้องจ่ายตลอดชีวิต ซึ่งสูตรการคำนวณจะต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

สำหรับสิทธิประโยชน์ระบบประกันสังคมกับสิทธิประโยชน์ 30 บาท ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สิทธิ 30 บาท เป็นการรักษาขั้นพื้นฐานของคนไม่มีส่วนร่วม แต่ระบบประกันสังคม เป็นระบบที่มาด้วยกฎหมาย ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วม ในการที่จะได้ รับสิทธิประโยชน์ โดยผู้ประกันตนก็ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ามาด้วย จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า 30 บาท ไม่ต้องจ่ายเงิน  แต่ประกันสังคม ต้องจ่ายเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ส่วนการเข้าถึงสถานพยาบาล ก็แตกต่างกัน เพราะสิทธิ 30 บาท ไม่สามารถเลือกโรงพยาบาล และต้องเข้าโรงพยาบาลระดับชุมชนก่อน ถึงจะสามารถเข้าระดับอำเภอ จังหวัด และศูนย์ ตามลำดับได้ ส่วนระบบประกันสังคม สามารถเลือกโรงพยาบาลได้

"ที่ผ่านมามีคนพูดว่า จะเอาระบบ 30 บาท และระบบประกันสังคม รวมกันดีหรือไม่ ผมเห็นว่าถ้ารวมกันในฐานะเจ้าหน้าที่ก็คงเป็นเรื่องที่ดี เพราะไม่ต้องยุ่งยาก แต่ถ้าถามกับผู้ประกันตนคงไม่อยากที่จะเข้าไปรวม เพราะการเข้าถึงโรงพยาบาลของระบบประกันสังคมดีกว่า จึงทำให้ไม่สามารถรวมกันได้ เพราะเป็นคนละระบบกัน"

นอกจากนี้ การจ่ายเงินกับระบบประกันสังคม เราจะออกบัตรได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินครบ 3 เดือนแล้ว จึงทำให้ช่วง 3 เดือนแรกผู้ประกันตนสามารถไปใช้สิทธิ 30 บาทไปก่อน พอครบ 3 เดือนเข้าเดือนที่ 4 ก็สามารถมาใช้สิทธิในระบบประกันสังคมได้ทันที จึงทำให้เรื่องนี้ทั้งสำนักงานประกันสังคม และ สปสช. จะต้องประชาสัมพันธ์อย่างเร่งด่วนให้ประชาชนหรือผู้ประกันตนเข้าใจต่อการรับสิทธิประโยชน์

เล็งคืนเงินสะสมแรงงานต่างด้าว

นายโกวิท สัจจวิเศษ กล่าวต่อว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคมครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ ที่จะมีการออกกฎกระทรวงให้กับแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแล้วอยู่จนใบอนุญาตทำงานหมดอายุและต้องกลับประเทศต้นทางนั้น เราจะออกกฎหมายให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ สามารถนำเงินบำเหน็จที่ได้จากการสะสมกับกองทุนประกันสังคม กลับประเทศต้นทางได้เลย

เขาบอกว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ว่าแรงงานเหล่านี้เข้ามาทำงานเป็นการชั่วคราว ไม่ได้อยู่ประจำในประเทศไทย ขณะที่แรงงานไทยเราต้องดูแลตลอดจนกว่าจะเกษียณอายุในการใช้แรงงาน ส่วนแรงงานต่างด้าวอยู่เพียงชั่วคราวไม่จำเป็นต้องนำเงินของแรงงานเหล่านี้มาบริหาร อีกทั้งแรงงานต่างด้าวก็ไม่ค่อยไว้ใจในระบบประกันสังคมเท่าที่ควร เพราะไม่รู้ว่าเงินส่วนนี้เมื่อกลับประเทศแล้วจะได้คืนหรือไม่ ทำให้เป็นภาระเจ้าหน้าที่และแรงงานด้วย

ดังนั้นจึงเห็นว่า เมื่อแรงงานจะกลับประเทศต้นทางแล้วก็ให้คืนเงินส่วนนี้ไปเลย อีกทั้งเราก็จะทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ที่แรงงานไทยไปทำงาน ก็ต้องคืนเงินให้แรงงานไทยด้วย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งดูแลแรงงานได้อย่างทั่วถึง

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 เมษายน 2558 เรื่อง ส่องผลงานชิ้นโบแดงสปส.พลิกโฉม'สิทธิประกันสังคม'