ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ยามาตั้งแต่ปี 2510 และได้รับการแก้ไขปรับปรุงมาเพียง 4 ครั้ง คือ ในปี 2518, 2522, 2528 และ 2530 แต่เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น ซึ่งแน่นอนกว่า กฎหมายดังกล่าว อาจจะไม่เท่าทันกับเหตุการณ์ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ กล่าวว่า อาจจะกล่าวได้ว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ประเทศไทยยังไม่มีการปฏิรูปกฎหมายยา หรือที่เราเรียกกันว่า พ.ร.บ.ยา ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบยาที่พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายเพื่อให้ทันกับโลกปัจจุบันมากขึ้น แต่ทุกครั้งที่ส่งเรื่องเข้าไปยังรัฐบาลเมื่อใด เรื่องดังกล่าวมักจะตกหล่นหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายยาให้ทันสมัยจะช่วยทำให้ประเทศไทยมีอำนาจการต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติมากขึ้น
ทั้งนี้ นายเดชอุดม ได้ยกตัวอย่างของประเทศจีนและอินเดียว่า ในประเทศจีน อัตราการเติบโตของยาสูงถึง 18% ต่อปี มีประชากรมากติดอันดับโลก มีการใช้ยาสูงตามจำนวนประชากรที่มากขึ้น รัฐบาลจีนจึงเข้ามาควบคุมเรื่องยาโดยยึดประชาชนเป็นหลัก ทำให้บริษัทยาข้ามชาติที่จะเข้ามาทำธุรกิจในจีนมีปัญหา จากระบบการปกครองที่เป็นระบบสังคมนิยม รัฐบาลจีนจะไม่ให้บริษัทยายักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เข้ามามีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลได้ โดยใช้กฎหมายมาต่อสู้กับระบบทุนนิยม
ส่วนประเทศอินเดีย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีประชากรมาก และยากจน และมีการละเมิดสิทธิบัตรมากเช่นกัน ในประเทศอินเดียใช้มาตรการการเก็บภาษีกับบริษัทยาข้ามชาติที่สูงถึง 60% ส่วนบริษัทยาในประเทศเก็บภาษีเพียง 40%เท่านั้น
นายเดชอุดม กล่าวว่า เมื่อดูทั้งสองประเทศแล้วเปรียบเทียบกับประเทศไทย เราไม่มีมาตรการใดๆ เลย โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2515 ประเทศไทยเรายอมทุกอย่างแม้กระทั่งเรื่องของสิทธิบัตรให้กับสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ประเทศไทยขาดยุทธศาสตร์การเจรจากับต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก โดยเฉพาะเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา หรืออาจจะกล่าวได้ว่า คนไทยและประเทศไทยขาดความเป็นเอกภาพ หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ดังนั้นการแก้ไข ประเทศไทยจึงควรกำหนดกลยุทธ์การเจรจา และการบังคับใช้กฎหมายเข้ามาสร้างความเป็นเอกภาพและอำนาจการต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติ
“ประเทศไทยกลัวการโต้ตอบ แต่ในขณะที่จีนและอินเดียใช้กลยุทธ์การโต้ตอบนี้ในการเจรจาต่อรองเสมอ จึงทำให้การออกกฎหมายในประเทศไทยออกมาภายใต้ความคิดของระบบราชการมากเกินไป ขณะเดียวกันบริษัทยาข้ามชาติกลับมียุทธศาสตร์ เล่ห์กล ในเรื่องของสิทธิบัตร และการสร้างมูลค่าทางการค้า จึงทำให้ยามีราคาแพง และประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองยาต่างประเทศมากกว่า 55 ประเทศ แต่ไม่มีการคุ้มครองสำหรับยาไทยเลย” นายกสภาทนายความ กล่าว
นอกจากนี้ประเทศไทยควรจะมีการสร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิบัตรยา การศึกษาวิจัยค้นคว้า ด้านโครงสร้างของราคายา เพื่อเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อรองเรื่องราคายากับบริษัทยาข้ามชาติด้วย ซึ่งการกำหนดยุทธศาสตร์จะต้องมีการกำหนดแผนที่ยืดหยุ่น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกปัจจุบัน
นายเดชอุดม กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ระบบราชการยังยึดติดกับตำแหน่ง การร่างกฎหมายที่ทำเพื่อประชาชนจึงเป็นเรื่องยาก
“ประเทศไทยเราตกเป็นอาณานิคมทางปัญญาโดยสมบูรณ์ การจะสร้างความเข้มแข็งให้กับไทยได้ คือ การติดอาวุธทางปัญญา เราถึงจะสู้กับต่างชาติได้ ผมเชื่อว่า คนไทยถ้าเรารักกันแล้ว อะไรก็ทำเราไม่ได้ ผมอยากให้คณะเภสัชฯ รัฐบาล และบริษัทยาของไทย ร่วมมือกันทำงาน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนทุกวันนี้” นายเดชอุดม กล่าว
- 8 views