สธ.รณรงค์วันมาลาเรียโลก ประจำปี 2558 เดินหน้าเร่งกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไป พร้อมตั้งเป้าประเทศไทยปลอดจากไข้มาลาเรีย ภายในปี พ.ศ.2567 (ค.ศ. 2024)
20 เมษายน 58 ที่กรมควบคุมโรค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม Dr.Roderio Ofrin สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวเนื่องในวันมาลาเรียโลก ประจำปี 2558 ซึ่งวันมาลาเรียโลก ตรงกับวันที่ 25 เมษายนของทุกปี คำขวัญในปีนี้ คือ “Invest in the Future : Defeat Malaria” หรือ “ร่วมลงทุนเพื่ออนาคตที่สดใส ร่วมใจเอาชนะมาลาเรีย” โดยเป็นการลงทุนทั้งที่เป็นเงินและไม่เป็นเงินด้วยการทำงานให้เข้มแข็งจริงจัง
นพ.โสภณ กล่าวว่า โรคมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการประชุม East Asia Summit (EAS) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 และ การประชุม Roll Back Malaria Partnership (RBM) เมื่อเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้ร่วมกันกำหนดนโยบายและทิศทางแก้ไขปัญหามาลาเรียในแต่ละประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดให้มาลาเรียหมดไปจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)
ส่วนในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการในปี พ.ศ.2558 เพื่อเร่งกำจัดเชื้อมาลาเรียให้หมดไป โดยจัดโครงการกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย และจัดทำข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการกำจัดการแพร่เชื้อมาลาเรียกับหน่วยเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยมีแผนให้อำเภอในประเทศไทยทั้งหมด 928 อำเภอ ดำเนินการตามแผนงานกำจัดมาลาเรียให้ได้ตามเป้าหมาย คือ ประเทศไทยปลอดจากไข้มาลาเรีย ภายในปีพ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) โดยใช้ 6 กลวิธีที่สำคัญในการกำจัดเชื้อมาลาเรีย ดังนี้
1.การบริหารจัดการโครงการ การรับรองพื้นที่กำจัดเชื้อมาลาเรีย และการติดตามประเมินผล มีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆให้มีความรู้และร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในทุกด้านขยายไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล(รพสต.) และเครือข่ายในพื้นที่เสี่ยง 2.การกำจัดเชื้อมาลาเรียดื้อต่อยารักษาด้วยยาที่ได้การวิจัยที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 3.การเพิ่มความครอบคลุมการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และคุณภาพการตรวจวินิจฉัยที่ได้ผลดีและรวดเร็ว เช่น การใช้เว็บแคม 4.การเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค กรณีมีการระบาดใหม่หรือมีผู้ป่วยที่เดินทางมาจากที่ใดที่หนึ่ง 5.การเฝ้าระวังเพื่อการตอบโต้และควบคุมโรคและการควบคุมยุงพาหะอย่างเหมาะสม การประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเพื่อร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการลดการแพร่เชื้อมาลาเรียที่อาจมากับประชากรเคลื่อนย้ายหรือตามแนวชายแดน มีการประเมินอำเภอที่ไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียและมอบใบประกาศนียบัตร จากปัจจุบัน ประมาณ 70%ของอำเภอ เป็น 80% ในปีพ.ศ.2563 และ 100% ในปี พ.ศ. 2567 และ 6.การสื่อสารความเสี่ยง การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และการบริหารจัดการชุมชน โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง และผู้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงได้ทราบวิธีการป้องกัน และการทานยาให้ครบเมื่อต้องรักษา
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย พบว่า ปี 2557 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 31,173 ราย (คนไทย 23,905 ราย ต่างชาติ 7,268ราย) เสียชีวิต 38 ราย สำหรับในปี 2558 นี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 58) พบผู้ป่วย 2,898 ราย (คนไทย 2,176 ราย ต่างชาติ 722 ราย) จำนวนผู้ป่วยลดลงจากปี 2557 ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ร้อยละ 17.65 ส่วนในระดับจังหวัด พบว่า จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด ได้แก่ อุบลราชธานี 1,105 ราย ตาก 637 ราย กาญจนบุรี 200 ราย ยะลา 149 ราย ศรีสะเกษ 132 ราย ตามลำดับ ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคมาลาเรียมีแนวโน้มลดลงในปีที่ผ่านมา แต่การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยติดกับประเทศเพื่อนบ้าน การอพยพเคลื่อนย้ายประชากร และการดื้อยารักษามาลาเรีย ที่จะส่งผลต่อการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มเน้นมาตรการควบคุมยุงพาหะหรือลดการสัมผัสยุงพาหะ
ขอเน้นย้ำประชาชนระมัดระวังการเดินทาง ในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรียของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่บริเวณชายแดน ป่าเขา ซึ่งมียุงพาหะนำเชื้อมาลาเรีย ประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่แพร่เชื้อมาลาเรีย จึงต้องมีความตระหนัก ระมัดระวังตัวในการป้องกันไม่ให้ยุงกัด ไม่ว่าการนอนในห้องที่มีมุ้งลวดหรือมุ้ง หรือมุ้งคลุมเปล การทายากันยุง เป็นต้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
- 8 views