สปสช.เตรียมจัด “ประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไป จากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558” ในวันที่ 21 เม.ย.นี้ สรุปความเห็นจากเวที 13 เขตทั่วประเทศ รวมทั้งเวทีรับฟังความเห็นนัดพิเศษ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เบื้องต้นแบ่งการนำเสนอความเห็นเป็น 5 ห้องย่อย ก่อนรวบรวมเสนอต่อบอร์ด สปสช.นำไปพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ
นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าว ว่า ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 (13) ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) รับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการระดมความเห็นทุกภาคส่วน ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เน้นการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นนี้ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ในปี 2558 นี้ บอร์ด สปสช.ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเปิดรับฟังความเห็นจาก 13 เขตทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทั้งนี้ความเห็นต่างๆ ที่นำเสนอทั้งหมดได้มีการรวบรวมและสรุปโดยคณะทำงานวิชาการ และจะนำเสนอเพื่อระดมความเห็นอีกครั้งใน “การประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและรับบริการระดับระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2558” วันที่ 21 เมษายน นี้ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพมหานคร
นพ.จรัล กล่าวว่า การประชุมรับฟังความเห็นฯ ระดับประเทศที่จะจัดขึ้นนี้ แบ่งการนำเสนอเป็น 5 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขและด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข 2.การบริหารจัดการสำนักงาน 3.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ และ 5.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ เพื่อให้เป็นไปอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มมากที่สุด ขณะที่กลุ่มเป้าหมายรับฟังความเห็น ได้แก่ 1.ผู้ให้บริการ ได้แก่ ผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับ ให้ครบถ้วนทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ 2.ผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ทั้งที่มีและไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4.ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง
“การประชุมรับรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปีนี้ มีความพิเศษและสำคัญยิ่ง เพราะได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งใหญ่ นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่เป็นเวทีการระดมความเห็นทซึ่งมีตัวแทนจากฝ่ายผู้ให้บริการและรับบริการ รวมทั้งนักวิชาการทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ดังนั้นผลสรุปที่ได้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคณะทำงานจะมีการรวบรวมและสรุปเพื่อนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช.เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการบริหารและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังตอบสนองทั้งในส่วนผู้ให้และผู้รับบริการให้มีความสอดคล้องกัน” นพ.จรัล กล่าว
- 1 view