สธ.เตรียมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนใน รพ.สังกัด สธ.ใน 2 กิจการ ทั้งการบริหารจัดการครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพง และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เตรียมการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในโรงพยาบาลในสังกัด 27 แห่ง คาดสิ้นปี 2558 สามารถสรุปผลได้
นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมเพื่อหารือแนวทางการเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public-Private Partnership : PPP) ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบี (ADB) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจราชการประจำเขตสุขภาพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ตามนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
นพ.อำนวยกล่าวว่า ในการดำเนินงานให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนเพื่อร่วมพัฒนาบริการสุขภาพแก่ประชาชน จะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ และลดภาระด้านงบประมาณการลงทุนในภาครัฐ แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดบริการแก่ประชาชน โดยการส่งเสริมการร่วมลงทุน การใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน โดยมีข้อตกลงที่รัดกุมและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย มุ่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาการร่วมลงทุนของภาคเอกชนส่วนใหญ่จะดำเนินการเกี่ยวกับสาธารณูปโภค เช่น การคมนาคมขนส่ง และการสื่อสาร ยังเป็นเรื่องใหม่ของการลงทุนด้านสาธารณสุข จึงต้องวางแผนการศึกษาอย่างรอบคอบ ไม่เพิ่มภาระแก่ประชาชน
ในเบื้องต้นนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมศึกษาการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ได้แก่ โครงการสร้างหอผู้ป่วยพิเศษและอาคารจอดรถ 2.ด้านการบริหารจัดการครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งมี 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจทางรังสีวินิจฉัยที่มีราคาแพง เช่น เครื่องซีทีสแกน (CT Scan) เครื่องตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) และโครงการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับเครือข่ายบริการสุขภาพ และ 3.ด้านการจัดบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในพื้นที่นำร่อง โดยได้เชิญโรงพยาบาลที่มีความสนใจและมีศักยภาพในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงจำนวน 27 แห่ง และตัวแทนโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เข้าร่วมหารือ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 6 เดือน และสามารถรายงานผลการศึกษาได้ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558
นพ.อำนวยกล่าวต่อว่า การศึกษาดังกล่าว จะดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และวิธีการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการที่มีวงเงินมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ที่ออกตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา
- 15 views