"ชาวเมียนมาร์นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากที่สุด บางครั้งเดินทางมารักษาสุขภาพหรือพบแพทย์ทั้งครอบครัว" นี่เป็นส่วนหนึ่งจากผลการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มประเทศอาเซียน บวก 6 ระยะที่ 3 ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
การปิดประเทศจากโลกภายนอกมาเป็นเวลากว่า 50 ปี ทำให้บริการด้านสุขภาพ สาธารณสุข และการแพทย์เมียนมาร์นั้นอยู่ในระดับที่ยังต้องพัฒนา ผลการศึกษาข้อมูลในภาคการบริการสุขภาพ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 600 ตัวอย่าง พบว่า พฤติกรรมการใช้บริการด้านสุขภาพของชาวเมียนมาร์ถูกกำหนดด้วยระดับของรายได้ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อเจ็บป่วยมักจะใช้บริการจากโรงพยาบาลของรัฐ มีบางส่วนนิยมไปที่วัดหรือคลินิกเล็กๆ เนื่องจากค่ารักษาถูก ส่วนผู้ที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงระบบแพทย์แผนปัจจุบัน จะนิยมซื้อยากินเอง หรือใช้การรักษาในท้องถิ่น เช่น แพทย์แผนโบราณ การใช้สมุนไพร ราคาถือเป็นปัจจัยหลักในการเลือกใช้บริการ
กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง มักอาศัยอยู่ในเขตเมือง มีความสามารถเพียงพอในการจ่ายค่ารักษาเพื่อเลือกรับบริการที่มีคุณภาพที่ดีกว่า จึงนิยมใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเปิดให้บริการเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น ย่างกุ้ง มันฑะเลย์ ตองจี
กลุ่มผู้มีรายได้สูง จะพิจารณาคุณภาพการให้บริการเป็นอันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกไปรับการรักษาที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์และโรงพยาบาลชั้นนำในไทย อาทิ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยการเดินทางมาใช้บริการธุรกิจด้านสุขภาพยังถือเป็นโอกาสในการพาครอบครัวมาพักผ่อนและช็อปปิ้งที่ต่างประเทศ บ่งบอกสถานะทางสังคมของตนเองได้อีกด้วย
ปัจจุบันชาวเมียนมาร์ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงไม่เพียงสนใจดูแลตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำเท่านั้น แต่ยังตระหนักถึงการดูแลด้านความสวยความงาม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสื่อเกาหลี เน้นเรื่องของผิวพรรณ การจัดฟัน การทำศัลยกรรมพลาสติก นอกจากนี้ การออกกำลังกายตามฟิตเนส การใช้บริการสปา และบริโภคอาหารเสริมชะลอความแก่ เป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรง ส่วนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ ชาวเมียนมาร์จะให้ความสำคัญกับสัญลักษณ์การรับรองคุณภาพโดยองค์กรนานาชาติมากที่สุด ซึ่งผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพจากประเทศไทยจะได้รับความนิยมสูง เพราะมีคุณภาพและราคาไม่แพง
ภายหลังการเปิดประเทศเพียงไม่นาน อิทธิพลจากอารยธรรมนานาประเทศส่งผลให้ชาวเมียนมาร์สนใจเดินทางท่องเที่ยวเปิดโลกทัศน์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้ทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพและความงาม ในขณะที่การบริการทางการแพทย์ภายในประเทศยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา ทางออกที่ง่ายที่สุดของชาวเมียนมาร์คือเลือกรับการรักษาพยาบาลจากต่างประเทศ "การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ" จึงนับเป็นโอกาสของ SMEs ไทย ที่มีอนาคตสดใสและได้เปรียบคู่แข่งในเมียนมาร์ รวมถึงภูมิภาคอาเซียน
ตอนหน้ายังคงอยู่ที่ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งจะกล่าวถึงการลงทุนสาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และสาขา โลจิสติกส์ โดยผู้สนใจข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ สามารถติดตามได้ที่ www.sme.go.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 เมษายน 2558
- 130 views