สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เตรียมยื่น  “ร่างแนวทางการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ” ต่อ สปช. 8 เม.ย. นี้ ผลักดัน กม.คุ้มครองสวัสดิภาพการทำงาน สร้างความเป็นธรรมคุ้มครองแรงงาน ให้กับพยาบาลโดยเฉพาะในภาครัฐ จากภาระงานหนัก เสี่ยงทั้งโรคติดต่อ และอุบัติเหตุจาการดูแลผู้ป่วย แต่ยังขาดการดูแล 

 
นางมัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 เมษายน นี้ ตัวแทนสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและตัวแทนพยาบาลจากทั่วประเทศ จะเข้ายื่นข้อเสนอ “ร่างแนวทางการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ” ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อผลักดันให้ออกกฎหมายคุ้มครองพยาบาลในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการในระบบสุขภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานอยู่ในหน่วยบริการภาครัฐ ซึ่งพบว่าปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายสวัสดิการด้านแรงงานใดเพื่อรองรับ ทั้งที่ต้องทำงานอย่างหนักภายใต้ความขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรในระบบสาธารณสุข ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่จากการดูแลผู้ป่วยเนื่องจากถือเป็นด่านหน้าในระบบสาธารณสุข
  
ทั้งนี้จากข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ปี 2553 มีพยาบาลวิชาชีพ 120,012 คน และมีพยาบาลเทคนิค 9,228 คน ส่วนใหญ่ทำงานในหน่วยบริการภาครัฐ โดยมีจำนวนถึง 91,298 คน ส่วนที่เหลือกระจายทำงานใหน่วยบริการสังกัดเอกชน รัฐวิชาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรอิสระ และอื่นๆ จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายังมีพยาบาลถึงร้อยละ 70 ทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิการด้านแรงงาน มีเพียงพยาบาลที่ทำงานในหน่วยบริการเอกชน ซึ่งเป็นพยาบาลส่วนน้อยที่ได้รับการคุ้มครองจาก พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เท่านั้น
 
นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 44 ยังระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน ร่วมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงาน และเมื่อพ้นภาวะการทำงาน” ขณะเดียวกันทางกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมยังมีการประกาศระเบียบวาระแห่งชาติ “แรงงานปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยดี” เมื่อปี 2551 โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการให้สอดคล้องกับวาระแห่งชาติภายในปี 2559 แต่จนถึงปัจจุบันผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลในระบบภาครัฐยังขาดหลักประกันความมั่นคง ซึ่งรวมถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน 
 
นางมัลลิกา กล่าสต่อว่า ปัจจุบันพยาบาลเราทำงานหนักมาก โดยเฉพาะพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งอยู่ในภาวะขาดแคลนบุคลากร ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น ทำให้พยาบาลต้องทำงานหนักมาก บางครั้งต้องขึ้นเวรดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง อยู่เวรดึก ซ้ำยังต้องทำงานในวันหยุด และด้วยเป็นงานที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ที่ผ่านมาจึงมีพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ต้องเจ็บป่วยจากการดูแลผู้ป่วย เช่น วัณโรค และตับอักเสบบี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ โดยเฉพาะพยาบาลที่ประจำรถฉุกเฉินที่ต้องวิ่งรับส่งผู้ป่วย เรียกว่าขาดการคุ้มครองด้านชีวอนามัยที่ดีในการทำงาน และไม่มีการชดเชยใดๆ นอกจากนี้ยังขาดสวัสดิการะยะยาวทำให้พยาบาลส่วนหนึ่งต้องออกจากระบบไปก่อน 
 
“ในช่วงที่อยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศ ทางสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทยและตัวแทนพยาบาลทั่วประเทศจึงได้ร่างแนวทางการปฏิรูปกฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ ซึ่งในที่นี้รวมถึงผู้ให้บริการสุขภาพทั้งหมด เพื่อให้ได้รับการดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานในภาครัฐ ขณะที่แรงงานในกลุ่มอื่นๆ แม้แต่ลูกจ้างทั่วไปที่ทำงานระบบเอกชนยังได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานหมด จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อน และอยากให้ สปช. ช่วยผลักดันเรื่องนี้เพื่อให้เกิดการความเป็นธรรม” ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย กล่าว