รมว.สธ.เผยสถิติล่าสุด คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละกว่า 70,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานและสูงอายุ ป่วยปีละกว่า 100,000 คน เร่งจัดระบบป้องกัน โดยนำแบบประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Thai CV risk score) ซึ่งพัฒนาและออกแบบสำหรับคนไทยเป็นครั้งแรก โดยคณะผู้วิจัยจากสหสถาบันอุดมศึกษา ให้ประชาชนใช้ตรวจประเมิน และหาทางป้องกันก่อนสายเกินแก้ มั่นใจลดค่าใช้จ่ายประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข พยาบาลทั่วประเทศ ในการวิจัยเพื่อพัฒนาการป้องกันโรคไม่ติดต่อ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมี 4 โรค คือ โรคหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเสียชีวิตของประชากรโลก รวมทั้งคนไทย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่ประเทศและครัวเรือนสูง เข้าออกโรงพยาบาลตลอดชีวิต องค์การอนามัยโลกระบุขณะนี้ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ปีละ 17 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 25 ล้านคนในปี 2563 เกือบร้อยละ 80 เกิดในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีในการรักษาและป้องกัน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่าข้อมูลล่าสุดปี 2556 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 71,399 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน แนวโน้มรุนแรงขึ้น ผลจากประชาชนมีปัจจัยเสี่ยง 1 อย่างหรือมากกว่านั้น อาทิ เพศ อายุ ความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ อ้วนลงพุง ไม่ออกกำลังกาย และความเครียด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความใส่ใจ แม้จะมีการตรวจสุขภาพประจำปีก็ตาม ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงสะสมไปเรื่อยๆในร่างกาย กว่าจะรู้ตัวก็เมื่อป่วยแล้ว จึงยากต่อการรักษา คาดว่าทั่วประเทศป่วยปีละกว่า 1.56 ล้านคน สูญค่ารักษาจำนวนมาก เฉพาะค่ารักษาไขมันในเลือดสูงประมาณปีละ 25,000 ล้านบาท
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเน้นหนักที่การป้องกัน โดยนำเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในคนไทย(Thai CV Risk Score) ที่วิจัยและพัฒนาสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยนักวิจัยจากสหสถาบันอุดมศึกษาที่มีแกนนำจากมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) และ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ) มาใช้ แบบประเมินนี้ได้ออกแบบให้เข้าถึงง่าย เหมาะสำหรับผู้มีอายุ 35-70 ปี ที่ยังไม่ป่วย มีคำถาม 5-6 หัวข้อใหญ่ อาทิ อายุ เพศ การสูบบุหรี่ โรคประจำตัว ส่วนสูงและรอบเอว ระดับไขมันในเลือด และประมวลความเสี่ยงว่าในอีก 10 ปีข้างหน้ามีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากน้อยเพียงใด โอกาสเกิดสูงกว่าคนวัยเดียวหรือเพศเดียวกันกี่เท่าตัว พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ชัดเจน ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีแบบประเมินความเสี่ยงประเภทนี้
แบบประเมินความเสี่ยงนี้ใช้ได้กับผู้ไม่มีผลเลือด โดยใช้ขนาดรอบเอวและส่วนสูงแทนค่าระดับไขมันในเลือด ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ประชาชนใช้บนสมาร์ทโฟนและระบบออนไลน์ เข้าถึงตลอด 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นสามารถเข้าไปประเมินได้ที่เว็ปไซด์ http://med.mahidol.ac.th/cvmc/th/event/thai CVriskscore หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือทีมหมอครอบครัวการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องมือแบบประเมินความเสี่ยงใหม่นี้หากป้องกันผู้มีความเสี่ยงได้มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดรายใหม่ และงบประมาณที่ใช้รักษาลงได้ถึงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในงานประชุม ยังได้เชิญ ศ.มาร์ค วู้ดวาร์ด (Mark Woodward) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มาให้การบรรยายในหัวข้อการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยโดยมีข้อสรุปว่านโยบายควรมุ่งเน้นการป้องกันโรค ได้แก่ การออกกำลังกาย การกินอาหารที่มีประโยชน์ การหยุดสูบบุหรี่ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียในการรณรงค์ป้องกันโรค
- 335 views