กระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศ สร้างคุณภาพเด็กไทยแรกเกิด ถึ 5 ขวบ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ สานความร่วมมือหน่วยงานเจ้าหน้าที่ พ่อแม่เด็ก ตรวจคัดกรองและส่งเสริมพัฒนาการสำคัญ 5 ด้านสถานการณ์ล่าสุด ไทยเผชิญปัญหาคุณภาพประชากร ผลกระทบเป็นลูกโซ่ เด็กเกิดใหม่เหลือปีละ 7.7 แสนคน พัฒนาล่าช้าร้อยละ 30 ไอคิว อีคิว ต่ำกว่ามาตรฐานโลก เด็กป.4-6 ร้อยละ 10-15 อ่านไม่ออก
วันนี้ (2 เมษายน 2558) ที่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย ศึกษาธิการ พัฒนาสังคมฯ กรุงเทพมหานคร เปิดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 5 ขวบ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 กิจกรรมในวันนี้ ประกอบด้วย นิทรรศการแสดงผลงานการส่งเสริมพัฒนาการเด็กของเขตสุขภาพที่ 1, 5, 11 และกทม. การสาธิตการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กกลุ่มอายุ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42 เดือน โดยถ่ายทอดสดทางไกลพิธีเปิดตัวโครงการฯ สู่ 12 จังหวัดตัวแทนเขตสุขภาพพร้อมกัน ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี ราชบุรี ชลบุรี กาฬสินธุ์ อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และตรัง
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญปัญหาประชากร ทั้งเชิงโครงสร้างและคุณภาพ จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงจากเมื่อ 20 ปีก่อนที่ปีละเกือบ 9แสนกว่าคน ล่าสุดในปี 2557 มี 7.7 แสนคน แนวโน้มลดลง ส่งผลให้คนวัยทำงานในอนาคตลดลง ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มีประมาณ 9 ล้านคน คาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงคือคุณภาพเด็กไทยลดลง มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ผลสำรวจในปี 2553 พบเด็กอายุ 3 - 5 ปี หรือวัยอนุบาล มีพัฒนาการต่ำกว่ามาตรฐานร้อยละ30 หรือประมาณ 7 แสนกว่าคน ขณะที่ผลสำรวจเด็กอายุ 6-14 ปี ในปี 2554 พบมีค่าความฉลาดทางปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยที่ 98.5 ต่ำกว่าค่ามาตรฐานโลกคือ 100 และมีค่าความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวเฉลี่ย 45 ต่ำกว่าค่ามาตรฐานโลกคือ 50 รายงานของกระทรวงศึกษาธิการในปี 2557 มีเด็กชั้นประถม 4 – 6 ร้อยละ 10-15 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น จำเป็นต้องเร่งแก้ไขจริงจังและเป็นระบบ
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสนองพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงห่วงใยคุณภาพเด็กไทย ซึ่งจะเติบโตเป็นวัยทำงาน เป็นกำลังหลักสร้างความเจริญแก่เศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน2558 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 - 31 มีนาคม 2561ดำเนินการครั้งยิ่งใหญ่พร้อมกันทั่วประเทศ ตั้งเป้าหมายเด็กไทยมีพัฒนาการสมวัยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 โดยบูรณาการทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาสังคมฯมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทุกคน ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ศูนย์เด็กเล็กกว่า 20,000 แห่ง และโรงเรียนอนุบาลทั้งรัฐเอกชนกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ ครอบคลุมเด็กแรกเกิดทุกคนจนถึง
5 ปีทั้งในเขตเมือง ชนบท เนื่องจากประเมินว่าในกลุ่มเด็กร้อยละ30 ที่พบปัญหาพัฒนาการไม่สมวัยนั้น ร้อยละ 10 เกิดมาจากโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ออทิสติก อีกร้อยละ 20 สามารถกระตุ้นให้กลับมามีพัฒนาการปกติ เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะทำให้ประชากรไทยในอีก 20 ปีข้างหน้ามีคุณสมบัติ 4 ด้าน คือ แข็งแรง พัฒนาการดี มีคุณธรรม นำพาประเทศเจริญรุ่งเรือง
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ข้อมูลวิชาการปัจจุบันระบุว่า สมองของเด็กในครรภ์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการเพิ่มจำนวนและขยายขนาดเซลล์ มีโครงข่ายเส้นใยประสาท เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารระหว่างเซลล์สมอง ช่วยให้สมองทำงานเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 ปีแรก สมองจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นช่วงทองของการสร้างคุณภาพเด็กให้มีศักยภาพเต็ม 100 โดยการกระตุ้นพัฒนาการแต่ละช่วงวัย อันจะมีความสำคัญเชื่อมโยงต่ออนาคตของเด็ก ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดิน วิ่งเล่น 2.การทำงานกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้นิ้วมือหยิบจับ การสอดส่ายสายตา ยิ้ม 3.การรับรู้เข้าใจทางภาษา เช่น การคิดคำนวณ 4.การสื่อภาษา เช่น การสื่อสารความต้องการของตัวเอง 5.การปรับตัวทางสังคม เช่น การช่วยเหลือตนเอง พัฒนาการทั้ง 5 เรื่องจะเป็นตัวบ่งชี้การทำงานของสมอง ไอคิว และอีคิวของเด็กด้วย
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ติดตามตรวจประเมินพัฒนาการเด็กใน 4 ช่วงอายุ คือ 9 เดือน 18 เดือน 30 เดือน และ 42เดือนหรือ 3 ขวบครึ่ง จากเดิมที่จะติดตามถึงแค่ 24 เดือนในช่วงที่ผู้ปกครองพาเด็กไปรับวัคซีนที่คลินิกเด็กดีในโรงพยาบาลเท่านั้น หากพบเด็กผิดปกติ จะมีระบบดูแลกระตุ้นพัฒนาการให้กลับมาเป็นปกติ เชื่อมโยงระหว่างบ้าน ชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงพยาบาล และสถาบันเชี่ยวชาญ มั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยค้นหาและกระตุ้นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้เพิ่มจากเดิมที่ค้นหาได้เพียงร้อยละ 1 -2
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 2 เล่ม แบ่งเป็นคู่มือเด็กปกติหรือเล่มสีขาว มอบให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง พี่เลี้ยงศูนย์เด็กเล็ก เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินและส่งเสริมพัฒนาการของลูกที่บ้าน และเล่มสีเขียว ใช้ในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการไม่สมวัย ได้แก่ เด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม เด็กขาดออกซิเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ใช้ติดตามประเมินและกระตุ้นพัฒนาการตามแนวทางในคู่มืออย่างใกล้ชิด โดยเปิดสายด่วน 1323 และสถาบันเด็กฯ 1415 ให้ผู้ปกครองปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หรือปรึกษาทีมหมอครอบครัวได้เช่นกัน
- 61 views